3 ต.ค. 2019 เวลา 05:30 • เกม
วันนี้เรามาต่อ Part 2 กับ #เปิดตำนานอีสปอร์ต จากหลักล้านสู่ร้อยล้านกัน รับรองความเข้มข้น
บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่อาจเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดฝัน Eul เองก็คงไม่คาดคิดว่า สิ่งที่เขารังสรรค์ขึ้นจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอีสปอร์ตไปตลอดกาล ในปี 2003 ในยุคนั้น Warcraft 3 คือเกมวางแผนอันโด่งดังที่ตัวเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ใส่จินตนาการลงในตัวเกมด้วยการ Mod (ปรับแต่ง) ตัวเกมออกมาเป็นมินิเกมได้ตามใจ และด้วยการ Mod ของ Eul โหมดการเล่นที่มีชื่อว่า Defense of the Ancients ก็ได้เริ่มขึ้น มันคือเกมที่แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝั่ง 5 ต่อ 5 เลือกฮีโร่ของตน เข้าห้ำหั่นกันเพื่อทำลายฐานใหญ่ของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นจุดกำเนิดของเกมตระกูล MOBA ที่คนทั้งโลกรู้จักในเวลาต่อมา
Defense of the Ancients ได้รับความนิยมทั้งในไทยและทั่วโลก มันกลายเป็นเกมเพื่อการแข่งขันที่ดังตีคู่กับเกมชั้นนำอย่าง Counter Strike, Starcraft ฯลฯ ทั้งที่เป็นแค่โหมดปรับแต่งจากเกมอื่น DOTA กลายเป็นกระแสที่มาแรงเหมือนไฟลามทุ่ง การจัดแข่ง DOTA ดึงดูดทั้งคนดูและสปอนเซอร์ให้เข้ามาสู่วงการอีสปอร์ตมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จุดอิ่มตัวของ DOTA เวอร์ชั่น MOD ก็มาถึง เพราะมันเป็นแค่เกม MOD ไม่ใช่ตัวเกมของมันเอง การปรับแต่งจึงทำได้จำกัด และ นั่นก็มาถึงเวลาของเกมที่เกิดมาเพื่อเป็น MOBA โดยตรงอย่าง DOTA2 และ League of Legends (LOL)
LOL ของ Riot games ออกสู่ตลาดเกมในปี 2009 ก่อน DOTA2 ของ Valve จะเปิดให้เล่นถึง 4 ปี ซึ่งกว่า LOL จะเปิดให้มีการแข่งอีสปอร์ตระดับโลกอย่างเป็นทางการก็ต้องรอจนถึงปี 2011 การเปิดตัว The Season 1 Championship ของ LOL อัดฉีดเงินรางวัลกันแบบให้โลกตะลึงไปด้วยเงินรางวัลรวมสูงถึง 100,000 เหรียญ ถือเป็นจำนวนเงินรางวัลรวมในทัวร์นาเมนท์ที่บ้าบิ่นมาก เพราะใหม่ทั้งตัวเกม ประเภทเกม และฐานคนดู แต่ Riot ก็ใช้โอกาสนี้โชว์ให้เกมเมอร์ได้เห็นว่า มาแข่งเกมของเราสิ โอกาสในการเป็นโปรเพลเยอร์รออยู่
(Fnatic ที่คว้าแชมป์ในครั้งนั้นพร้อมเงินรางวัล 50,000 ก็ยังโลดแล่นในวงการอีสปอร์ตจนถึงทุกวันนี้)
ในปี 2013 DOTA2 ได้จัดแข่งขันระดับโลกครั้งแรก The International 2013 หลังจากที่เปิดตัวเกมได้ไม่ถึงปี Valve ใช้ Compendium (หรือที่ปัจจุบันหลายเกมเรียกว่า Battle Pass) มาช่วยลงขันเงินรางวัลให้กับการแข่งขัน Compendium คือระบบขายของใน DOTA2 ที่จะมอบไอเทมสุดพิเศษที่มีเฉพาะใน Compendium เท่านั้นให้กับผู้ซื้อ ด้วยยอดขายอันถล่มทลาย เงินรางวัลรวมของ The International 2013 พุ่งทะลุ 2.8 ล้านเหรียญ ส่งผลให้งานแข่งครั้งนี้เป็นการแข่งที่มีเงินรางวัลรวมสูงสุดของอีสปอร์ตในปีนั้น เอาชนะงานแข่งของ LOL ที่มีเงินรางวัลรวม 1.4 ล้านเหรียญไปหนึ่งเท่าตัว !
ในปีถัดมา กระแสความร้อนแรงของ DOTA2 ได้เพิ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เงินรางวัลในปี 2013 เกือบร้อยล้านบาทก็ว่าสุดยอดแล้ว แค่ปีเดียวคือการแข่งขัน The International 2014 ยอดเงินรวม Prize Pool พุ่งทะลุ 10 ล้านเหรียญ ตีเป็นเงินไทยกว่า 300 ล้านบาท เติบโต 4 เท่าจากปีก่อน กลายเป็นเม็ดเงินที่ดึงดูดนักแข่ง คนดู สปอนเซอร์เข้าสู่วงการ DOTA2 กันอย่างคับคั่ง รวมไปถึงนักพากย์เกมตัวท๊อปของไทยอย่าง Cyberclasher เองก็หลงใหลในบรรยากาศของงานแข่ง The International จนกลายเป็นอีเวนท์หลักที่เค้าต้องพากย์เป็นประจำด้วยเช่นกัน
ช่วงปี 2013-2015 กลับกลายเป็น LOL ที่นิ่งในด้านเงินรางวัล เงินรางวัลรวมถูกแช่แข็งอยู่ที่ 1.4 ล้านเหรียญยาวนานถึง 3 ปี ก่อนที่จะเริ่มมีการขยับเงินรางวัลรวมให้มากขึ้นอีกครั้งในปี 2016 จาก 1.4 ล้านเป็น 4.2 ล้านเหรียญ(ราว 130 ล้านบาท) ส่วนเงินรางวัลรวม DOTA2 ของ The International 2016 อยู่ที่ 20 ล้านเหรียญ(ราว 600 ล้านบาท) แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น ประเด็นอยู่ที่เงินรางวัลรวมของอีสปอร์ตได้ทะลุหลักร้อยล้านไปแบบไม่มีวันถอยกลับอีกต่อไปแล้ว !
ในครั้งหน้าเราจะมาต่อกันด้วยทัวร์นาเมนท์แห่งความฝัน ทัวร์ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา ทัวร์แรกในประวัติศาสตร์อีสปอร์ตที่มีเงินรางวัลรวมทะลุ 1000 ล้านบาท The International 2019
ฝากกดไลค์ กดแชร์ เราจะเอาเรื่องราวดีๆ มาฝากกันทุกวัน
ติดตาม UP! ของเราได้ที่
Website : up-th.com
Facebook : @UPTHsport
โฆษณา