4 ต.ค. 2019 เวลา 00:40 • บันเทิง
ดับบาวาลา "ธุรกิจส่งปิ่นโต"ของอินเดีย และ The lunchbox (2013)
The lunchbox : เมนูต้องมนต์รัก (2013)
หนังโรแมนติก feel good ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนสองวัย สองสถานะ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่
ดับบาวาลา(คนส่งปิ่นโต)ส่งอาหารให้ผิดคน ทำให้ปิ่นโตของ " อิลา " แม่บ้านลูกหนึ่ง ถูกส่งไปให้
" ซาร์จาน เฟอร์นันเดซ " ชายวัยใกล้เกษียณผู้ทำหน้าที่เสมียนในบริษัทแห่งหนึ่งในนครมุมไบ
เดิมที อิลา ต้องการปรุงอาหารให้อร่อยเพื่อมัดใจสามีที่กำลังหมางเมินกัน ส่วนซาร์จานนั้นคือชายที่วันๆทำแต่งานแล้วก็กลับบ้านเพื่อไปดูทีวี สูบบุหรี่ และเข้านอน
ชีวิตในแต่ละวันของเขาวนเวียนอยู่แค่นี้
ซาร์จานกินอาหารจากปิ่นโตที่สั่งจากร้านประจำจนเคยชิน จนถึงวันที่ปิ่นโตของอิลาส่งมาผิด เขาจึงได้ลองรสชาติใหม่ๆ
เขาทานอาหารของอิลาด้วยความอร่อย จนหมดเกลี้ยง... และเมื่อปิ่นโตถูกส่งกลับ อิลาก็ภูมิใจคิดว่าสามีของเธอทานอาหารหมด
แต่เมื่อสามีกลับมาเขากลับไม่พูดอะไรสักคำ
เธอสงสัยจึงแกล้งถาม
แล้วเธอก็พบคำตอบ...
ปิ่นโตของเธอน่าจะถูกส่งไปให้ใครสักคนที่ไม่ใช่สามีของเธอ ใครกันนะที่เป็นคนทาน...(ทานซะเกลี้ยงเลย)
วันต่อมาเธอจึงทำอาหารแล้วส่งปิ่นโตไปอีกครั้ง...คราวนี้เธอแนบจดหมายไปด้วย
จากนั้นคนสองคนก็พูดคุยกันผ่านปิ่นโต
ทุกวัน...เธอทำอาหารแล้วส่งปิ่นโตไปพร้อมกับเขียนข้อความทักทาย
เขาทานอาหาร กินไป อ่านจดหมายไป ทานหมด...ตอบจดหมายกลับ
เมื่อปิ่นโตถูกส่งกลับมา เธอเปิดปิ่นโต หยิบจดหมายตอบกลับขึ้นมาอ่าน
จากนั้น...ชีวิตเดิมๆ ซ้ำๆของทั้งคู่ก็เปลี่ยนไป
คนสองคนได้เรียนรู้และช่วยกันรักษาบาดแผลในใจให้กันและกัน มิตรภาพของรักต่างวัยได้ก่อตัวขึ้น
บทสรุปความรักของชายพ่อหม้ายและสาวที่สามีไม่สนใจจะจบลงอย่างไร ?
ติดตามต่อได้จาก The lunchbox เมนูต้องมนต์รัก
เมื่อหนังจบ...นอกจากความรู้สึกดีๆที่ได้จากหนังแล้ว
สิ่งที่ผมประหลาดใจอย่างมากก็คือ วัฒนธรรมการทานอาหารปิ่นโตของคนมุมไบ
อาหารปิ่นโตที่ทำโดยแม่บ้านจะถูกส่งไปให้สามีทานในมื้อกลางวัน ผู้ที่ทำหน้าที่ส่งเราเรียกว่า "ดับบาวาลา" (Dabbawala)
ด้วยความที่มุมไบเป็นเมื่องที่มีประชากรหนาแน่นส่งผลให้การจราจรติดขัดรวมถึงอาหารในเมืองก็มีราคาสูง
ทำให้การส่งอาหารปิ่นโตจากบ้านไปทานในที่ทำงานได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ทุกๆวัน ดับบาวาลา กว่า 5,000 คน จะรับปิ่นโตอาหารจากแม่บ้านและนำส่งไปยังที่ทำงานของสามีพวกเธอ
ปิ่นโตอาหารเหล่านี้ถูกส่งไปวันละกว่า 200,000 ใบ หรือ ปีละ 80 ล้านมื้อ
แม้ว่าปริมาณปิ่นโตที่ต้องส่งในแต่ละวันมีจำนวนมาก แต่ดับบาวาลาก็ทำหน้าที่ได้ดี อัตราการส่งผิดของพวกเขาคิดเป็น 1 ใน 6 ล้านครั้ง หรือประมาณ 0.01 เปอร์เซนต์เท่านั้น
(อ้างอิง : ผลสำรวจจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด)
ทุกขั้นตอนของการรับส่งใช้วิธีการจัดการผ่าน
ดับบาวาลา โดยทุกวันดับบาวาลาจะขี่จักรยานไปรับปิ่นโตจากบ้านของลูกค้าแล้วนำมารวมไว้ยังจุดรวมเพื่อคัดแยก ก่อนส่งไปยังสถานีรถไฟเพื่อกระจายปิ่นโตไปยังเขตต่างๆ
วิธีการคัดแยกใช้รหัสตัวย่อ 4 ชุด ในการระบุตำแหน่ง ซึ่งรหัสแต่ละชุดนั้นมีความหมายดังนี้
1. สถานที่ต้นทางของปิ่นโต
2. สถานีรถไฟต้นทาง
3. สถานีรถไฟปลายทาง
4. สถานที่ปลายทางในการส่งปิ่นโต
และเมื่อผู้รับทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดับบาวาลาก็จะส่งปิ่นโตคืนมายังบ้านต้นทางอีกครั้ง
ดับบาวาลา ในชุดเครื่องแบบสีขาว
ไม่เฉพาะแม่บ้านที่ใช้บริการของดับบาวาลาแต่ยังครอบคลุมไปถึงร้านอาหารทั่วไปด้วย
ในกรณีของหนุ่มโสดอาจใช้ดับบาวาลาส่งอาหารจากร้านประจำที่ผูกปิ่นโตไว้
วิถีชีวิตแบบนี้อาจจะดูแปลกไปบ้างสำหรับคนไทย
แต่ที่อินเดียธุรกิจนี่คือธุรกิจเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ( อายุ 100 กว่าปีแล้ว)
เป็นธุรกิจเก่าแก่ที่ยังคงรักษารูปแบบและเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดี
ดับบาวาลา ผู้ทำหน้าที่ส่งอาหารปิ่นโตคงไม่ใช่แค่เพียงคนส่งอาหาร แต่พวกเขายังทำหน้าที่ส่งต่อความสัมพันธ์ของภรรยากับสามีผ่านอาหารมื้อกลางวัน
เธอทำอาหารรสละมุนเพื่อคนรัก เขาลิ้มรสชาติอย่างเอร็ดอร่อย
ทุกคำที่สามีทานจะอบอวลไปด้วยความรักและความรู้สึกดีๆที่มีต่อภรรยา
เป็นมื้ออาหารที่อบอุ่น...และเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงานของคุณพ่อบ้านยิ่งนัก
.
.
.
หรือจะ(กล้า)เถียงว่าไม่จริง ?
หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณFatboy Slim ที่แนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับผมในบทความเรื่อง " หนังอินเดียที่คุณห้ามพลาด " หากสนใจหนังอินเดียเรื่องอื่นๆที่เพจหนังหลายมิติแนะนำสามารถอ่านได้จากบทความนี้ในโพสต์ติดดาวได้เลยครับ
เครดิตข้อมูล :
ภาพประกอบจาก :
โฆษณา