7 ต.ค. 2019 เวลา 23:30 • การเมือง
"หนังสือเรียน" หรือ "แบบเรียน"กับการเป็นเครื่องมือของรัฐ
คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธใช่ไหมครับว่า "การศึกษา" นั้นเป็นสิ่งจำเป็น ไม่มีที่สิ้นสุด และไร้ซึ่งขอบแดน ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ ภาษา เป็นต้น ..
พวกเราทุกคนต้องผ่านการศึกษาอย่างน้อยก็ "การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี" และ "การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี" โดยมี "หนังสือเรียน" เป็นอาวุธคู่กายไว้ผ่านด่านแต่ละด่าน.. แต่ทว่า .. ทุกคนเคยตั้งคำถามกับอาวุธ (แบบเรียน) ของเรากันหรือไหม ?
ในวันนี้เพจไม้ขีดไฟ..จะชวนทุกคนตั้งคำถามกับหนังสือเรียนของเรากันว่า "มันมีความสำคัญอย่างไรต่อเราในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของรัฐ?"
_(1)_สถาบันการศึกษานั้นเป็นประเภทหนึ่งของสถาบันทางสังคม (Social Institution) ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้างทางสังคม ซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นเสมือนสถาบันพื้นฐานของมนุษย์ ที่คอยทำหน้าที่ทั้งกล่อมเกลาทางสังคม จัดสรรบทบาทในสังคม รวมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคม
_(2)_สถาบันทางการศึกษายังเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในเชิงอุดมการณ์ (Ideological State Apparatuses) ซึ่งภายในสถาบันการศึกษาจะมีการเผยแพร่ความคิด ความเชื่อ รวมไปถึงการปลูกฝังค่านิยมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางที่ส่งเสริมผลประโยชน์รัฐนั่นเอง
_(3)_หากพูดถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายในสังคมในระยะยาว ตามวัตถุประสงค์ของผู้นำหรือผู้มีอำนาจนั้น รัฐไม่สามารถกระทำผ่านการใช้กำลังบีบบังคับ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมายหรือกองทัพ หรือที่เรียกว่า “กลไกด้านการปราบปรามกดขี่ของรัฐ” ได้แต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น
_(4)_หากแต่ต้องมีกระบวนการสำหรับการกล่อมเกลาทัศนคติของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองให้มีบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครอง การกระทำในเชิงกล่อมเกลานี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ”
_(5)_สถาบันต่าง ๆ ที่รัฐใช้เป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว สถาบันกฎหมาย สถาบันทางการเมือง สถาบันโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า โรงเรียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในเชิงอุดมการณ์ของรัฐ
วัดและศาสนา ย่อมเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม (ภาพจาก pngtree.com)
_(6)_“หนังสือเรียน” หรือ “แบบเรียน” อันเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐสำหรับการปลูกฝังค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนักเรียนในฐานะสื่อทางสังคมที่หยิบยื่นความคิดรวมยอดหรือมโนทัศน์รูปแบบสำเร็จ (Conceptualization) ให้แก่บรรดานักเรียน ซึ่งนักเรียนจะใช้ความคิดรวบยอดที่ได้จากแบบเรียนนี้เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในชีวิตจริงของตน กล่าวง่าย ๆ ก็คือ นักเรียนมีหนังสือเรียนเป็นกรอบใยการใช้ชีวิต
_(7)_เพราะฉะนั้น..หนังสือเรียนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐในทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญ เพราะว่า หากรัฐสามารถที่จะผูกขาดในเรื่องความสามารถในการกำหนดแผนการศึกษา นโยบายการศึกษา หลักสูตร เนื้อหาในแบบเรียน กระทั่งสามารถที่จะอนุมัติหนังสือเรียนสำหรับการเรียนการสอนได้ รัฐจะสามารถปลูกฝังค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์ที่รัฐต้องการให้แก่ผู้เรียนเชื่อฟังและคล้อยตามได้ รวมไปถึงความสามารถที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองของตนได้ด้วยเช่นกัน
แบบเรียนไทย (ภาพตัวอย่างประกอบเพียงเท่านั้น)
_(8)_ตัวอย่างอย่างชัดเจนคือ การเรียนพระพุทธศาสนา ซึ่งจะมีเนื้อหาที่มุ่งสอนให้พลเมืองเป็นคนดีและยืดมันปฏิบัติตนอย่างมีศีลธรรม หากเด็ก ๆ ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ก็จะเป็นคนดี เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วสังคมที่เราอยู่ก็จะสงบสุขนั่นเอง ...
_(9)_จากที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนั้น ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะชวนทุกคนมาร่วมกันคิดและมองหนังสือเรียนของเราทุกคนให้เป็นมากกว่า "ตำราที่ต้องท่องจำ" .. การเมือง อำนาจ หลบซ่อนได้ทุกที่ในชีวิตประจำวันแม้กระทั่งตำราเรียน ..
*** หากชอบบทความและถูกใจ ฝากติดตามเพจไม้ขีดไฟด้วยนะครับ ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ข้างใต้โพสท์นะครับ ขอบคุณครับ
___รายการอ้างอิง___
1) หลุยส์ อัลธูแซร์. (2557). อุดมการและกลไกทางอุดมการของรัฐ. แปลจาก Ideology and Ideological State Apparatuses.
แปลโดย กาญจนา แก้วเทพ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์.
2) นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2538). ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
โฆษณา