8 ต.ค. 2019 เวลา 04:46 • ข่าว
เกือบร้อยล้านรางวัลโนเบล 2019 พบกลไกใหม่ จ่อแก้มะเร็ง-ไดโนสคูล
เมื่อวานนี้ (7ตค62) ประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
คนที่ได้รางวัลปีนี้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ 3 คน (เป็นชาวอเมริกัน 2 คน ชาวอังกฤษ 1 คน)
ได้รางวัลหารเฉลี่ยกันไปคนละ 28 ล้านบาท (918,000 ดอลล่าร์)
หัวข้อที่ทำให้ได้รางวัลโนเบลครั้งนี้ เป็นการศึกษา “วิธีที่เซลล์ตอบสนองต่อภาวะออกซิเจนต่ำ”
มันมีประโยชน์ยังไง??
มันเกี่ยวข้องอย่างมากกับเรื่องของการรักษามะเร็งค่ะ
โดยทั่วไปแล้วเซลล์ส่วนใหญ่ จะเหมือนร่างกายคน คือ มีช่วงอ่อนเยาว์ โต แก่ และชำรุดทรุดโทรมหมดสภาพ
และใน DNA ของเซลล์ จะมียีนส์และจุดด่านตรวจ (checkpoint) เพื่อกำจัดเซลล์ที่แก่ หมดอายุ หรือพิกลพิการ ออกไปจากร่างกาย เรียกว่า กระบวนการเอโพโทสิส (apoptosis)
[ นอกเรื่อง สมัยเด็ก ๆ แอดนกอ่านว่า อะป๊อปโทสิส แล้วอาจารย์มาอธิบายที่มาของภาษาละตินคำนี้จึงได้เข้าใจว่าอ่านผิดมาตลอด แหมอ่าน.. a pop มันน่ารักกว่าอะนะ ]
จะมีบางจุดในร่างกาย เช่น ไขสันหลัง ที่มีความพิเศษ คือ สามารถผลิตเซลล์อ่อนเยาว์อยู่เสมอ ที่คนรู้จักว่า stem cell (สเต็มเซลล์) จะแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นกับว่าเติบโตในของเหลว สารเคมี และโปรตีน ที่มาชักนำแบบไหน
[เหมือนเด็ก ๆ ที่สามารถเติบโตเป็นคนแบบไหน ขึ้นกับการเลี้ยงดูของผู้ปกครองเลย ว่าไหมคะ..]
แต่!! เซลล์มะเร็ง มีความเป็นอมตะ หลุดพ้นจากกระบวนการควบคุมตามธรรมชาติปกติ ไม่ยอมตายง่าย ๆ หลุดรอด ด่านตรวจ ตลอด
ทำให้เซลล์มะเร็งขยายจำนวนเพิ่มได้ตลอดเวลา
และแน่นอนว่าพอมันเบียดทับกันเป็นชุมชนแออัดของชาวเซลล์มะเร็ง หนาตัวเป็นก้อนมาก ๆ ขึ้น ก็จะเกิดการแย่งทรัพยากรกินอยู่ (สารอาหาร ออกซิเจน)
และเซลล์มะเร็งจะกระตุ้นด้วยกลไกบางอย่าง (ที่ผู้ได้รางวัลโนเบลทั้งสาม ได้ศึกษาค้นพบ) ทำให้ในร่างกายเราสร้างเส้นเลือดใหม่ ๆ ขนส่งอาหารและออกซิเจนเพิ่มเติมไปหล่อเลี้ยง
ซึ่งหากเป็นมะเร็งขั้นที่ลุกลาม ก็คือ เซลล์มะเร็งจะหลุด เข้าระบบเลือด ไปแสวงหา อาณานิคมพื้นที่อุดมสมบูรณ์ใหม่ ลุกลามไปในอวัยวะอื่น ๆ
หากไม่ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง นั่นเอง
การค้นพบว่าเซลล์มีการตอบสนองยังไงต่อภาวะออกซิเจนน้อย ที่เกิดการกระตุ้นให้มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ไปเลี้ยงเซลล์ เท่ากับเราได้เห็นประตู อีกบาน
ที่จะหากุญแจในการล็อกตาย ไม่ให้ เซลล์มะเร็งเติบโตได้
จึงนับว่าเป็นช่องทางสำคัญในการที่จะรักษาโรคมะเร็งในอนาคต
ซึ่งกลไกนี้ ยังมีประโยชน์ในการต่อยอดได้อีกหลายโรค เช่น ภาวะโลหิตจาง ในคนไข้ที่เป็นโรคไตด้วยนะคะ
ขอแสดงความยินดี และปรบมือให้ทุกท่าน
และเป็นกำลังใจให้นักวิทยาศาสตร์ทุกท่านที่ทำงานหนัก สำหรับการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อการรักษาโรคของมนุษย์และสัตว์ทั่วโลกด้วยค่ะ
นกไดโนสคูล🐦
อ้างอิง
โฆษณา