9 ต.ค. 2019 เวลา 12:53 • การศึกษา
“จุดผ่อนผันให้ขายของในทางสาธารณะ
แต่ถ้าไปกระทบสิทธิของประชาชนจะมี
ผลอย่างไร ?”
โดยปกติแล้ว ถนนหรือทางสาธารณะจะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามทำอาหาร/ ขาย /หรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือทางสาธารณะ”
pixabay
เว้นแต่ ในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น
หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศผ่อนผัน
ให้กระทำได้ระหว่างวันเวลาที่กำหนด
โดยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร
เรื่องมีอยู่ว่า นายกเทศมนตรีเทศบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ออกประกาศกำหนดจุดผ่อนผันให้สามารถขายสินค้าได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนในพื้นที่ได้มีโอกาศเข้าถึงแหล่งทุน ได้ประกอบอาชีพสุจริต และมีรายได้
แต่บังเอิญว่าจุดผ่อนผันให้ขายสินค้าดังกล่าวดันไปอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งการขายสินค้าและอาหารทำให้เกิดสิ่งสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีปัญหาเรื่องการจราจรและเกิดอุบัติเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนบ่อยครั้ง
pixabay
ทางโรงเรียนเคยมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังนายกเทศมนตรี เพื่อขอให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมหน้าโรงเรียนและห้ามนำสินค้ามาจำหน่ายตลอดหน้าแนวโรงเรียน แต่ก็ไม่มีผลตอบรับกลับมา
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางโรงเรียน
(ผู้ฟ้องคดี) จึงได้ฟ้องนายกเทศมนตรี
(ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี ขนย้ายพ่อค้าแม่ค้า ทรัพย์สินและบริวารออกไปจากถนนหลวง
ผู้ถูกฟ้องคดีได้โต้แย้งว่า การดำเนินการประกาศจุดผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าในบริเวณถนนหลวงได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีร้านจำหน่ายสินค้ารถเข็นอยู่ก่อนประมาณ 20 ปีแล้ว และได้มีการทำความสะอาดและมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลเรื่องการจราจร
pixabay
อีกทั้ง ได้มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดพื้นที่ผ่อนผันและจัดระเบียบและคัดเลือกผู้จำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะโดยมีอาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยฝ่ายปกครองและผู้ช่วยฝ่ายอาคารของผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการด้วย
จึงย่อมเป็นผลดีต่อประชาชนในการจัดระเบียบการจำหน่ายสินค้า และรักษาความสะอาดในบริเวณจุดผ่อนผัน ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม
สำหรับเรื่องนี้ ศาลปกครองได้พิจารณาและมีคำพิพากษาออกมาดังนี้ครับ
“ถึงแม้การออกประกาศดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่มีจุดประสงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและได้ประกอบอาชีพโดยสุจริต มีรายได้ อันส่งผลให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับด้วย
การที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดำเนินกิจการสถานศึกษา นอกจากมีหน้าที่อบรมให้ความรู้ทางวิชาการและปลูกฝังระเบียบวินัย ยังต้องดูแลคุณภาพชีวิตของครูและนักเรียนตามมาตรฐานการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีทั้งมาตรฐานภายในและภายนอก
pixabay
โดยมาตรฐานภายนอก โรงเรียนจะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้เรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
เมื่อการจำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าโรงเรียนมีความไม่เป็นระเบียบ เกิดความแออัดสกปรก และท่อระบายน้ำมีกลิ่นเหม็น
จากสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้า
ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมากจากประกาศดังกล่าว
อีกทั้ง ยังทำให้นักเรียน ผู้ปกครอง ครู
และประชาชนทั่วไปเกิดความไม่สะดวก
ในการสัญจร เนื่องจากการจราจรคับคั่ง
และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
pixabay
ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครูและนักเรียนของโรงเรียนตามมาตรฐาน
การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในการสัญจรและความสะอาดบนถนนสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศกำหนดจุดผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้า”
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อ.487/2556)
pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา