12 ต.ค. 2019 เวลา 14:34 • ความคิดเห็น
The Return of QE ...หรือมาตรการ QE กำลังจะกลับมา ??
QE (Quantitative Easing) คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบโดยตรงด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ ที่เรียกว่าตราสารทางการเงินในตลาด มีผลทำให้งบดุล (Balance Sheet) ของธนาคารกลางบวมขึ้นทั้งทางฝั่ง Asset คือตราสารที่ซื้อเข้ามา และฝั่ง Liability เงินที่จ่ายออกไป
5
Image Credit : ZeroHedge
QE ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 ช่วงวิกฤตซับไพรม์สมัยที่ เบน เบอร์นันเก้ เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เรียกสั้นๆว่า QE1
ตราสารทางการเงินสำคัญที่ QE1 เข้าไปซื้อในตอนนั้นคือ Mortgage Backed Securities (MBS) หรือเรียกง่ายๆว่าตราสารหนี้ที่ผูกกับสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตในรอบนั้นด้วย
ผลที่ได้คือภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับสู่ภาวะปกติ
หลังจากนั้นปี 2010 ก็ตามมาด้วย QE2 เข้าซื้อพันธบัตรจำนวน 6 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อกดให้ดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อจาก QE1
และ QE3 ในปี 2012 เข้าซื้อ MBS และพันธบัตรระยะยาวเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ แบบจำกัดวงเงินในแต่ละเดือน เพื่อตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับต่ำต่อไป จนกว่าจะเห็นตลาดแรงงานฟื้นตัว
1
" หนี้ " ผลที่เกิดจากมาตรการ QE / usdebtclock.org
ก่อนที่จะมายุติมาตรการ QE ในปี 2014 หลังจากปั้มเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเป็นเวลากว่า 6 ปี เศรษฐกิจสหรัฐฯก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในช่วงปี 2014 - 2018 จนมาถึงปัจจุบันปี 2019 ที่สหรัฐฯพลิกกลับมาลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตปี 2008
แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น..?? ทำไมตลาดการเงินพูดถึงการกลับมาทำ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯกันอีกครั้ง
1
ต้องย้อนไปวันที่ 18 ก.ย. ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ทำการอัดฉีดเงินผ่าน Repo Market เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จำนวน 5.32 หมื่นล้านดอลลาร์ฯหลังอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 วัน (1-Day Repurchase Rate) พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที่มา : Tradingeconomics
Repo Market คือตลาดที่สถาบันการเงินใช้ในการบริหารสภาพคล่อง เป็นการกู้ยืมระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน โดยนำสินทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่แล้วเช่นพันธบัตรหรือตราสารทางการเงินต่างๆ มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืม เอามาค้ำไว้ก่อน แล้วสัญญาว่าจะนำเงินต้นมาคืนพร้อมดอกเบี้ย โดยการซื้อคืนพันธบัตรกลับไปนั้นเอง
1
และการที่ดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นหรือดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรข้ามคืน (1วัน) พุ่งสูงขึ้น ก็หมายถึงการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินสหรัฐฯ เกิดจากคนต้องการกู้ มีมากกว่าคนที่จะปล่อยกู้ หรือเรียกอีกอย่างว่า dollar shortage ภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์ฯ
ซึ่งการที่ Fed เข้ามาแทรกแซงอัดฉีดเงินให้ดอกเบี้ย Repo ลดลงมาอยู่ในกรอบดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีความคล้ายคลึงกับ QE เหมือนกัน เพียงแต่วิธีนี้เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรแบบวันต่อวัน ไม่ได้เหมือนการเข้าซื้อพันธบัตรหรือตราสารที่มีอายุยาวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
1
ที่มา : CNBC
ล่าสุด Fed ก็ได้มีการขยายระยะเวลาการอัดฉีดเงินเข้า Repo Market จากเดิม 10 ต.ค. ไปเป็น 4 พ.ย. ด้วยวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะขยาย Balance Sheet หรือขยายขนาดงบดุลอีกครั้ง หลังจากที่ในยุคของ เจเน็ต เยลเลน Fed ได้ทำการลดขนาดงบดุลที่เรียกว่า QT (Quantitative Tightening) ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง ตรงกันข้ามกับ QE นั้นเอง
แถมมีการพูดถึงการเข้าซื้อตั๋วเงินคลัง (T-Bills) เพื่อลดความเสี่ยงสภาพคล่องที่ตึงตัว แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาแบบวันต่อวันบน Repo Market นั้นไม่สามารถทำให้การขาดสภาพคล่องกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ Fed จึงต้องยกระดับการแทรกแซงขึ้นจาก Repo Market เป็น T-Bills
แม้ Fed จะบอกว่าวิธีการที่ทำอยู่นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ QE ซึ่งมันก็ make sense เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่สร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ การสื่อสารกับตลาดทุนเรื่อง QE จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว
ที่มา : Bloomberg
เพราะอีกมุมหนึ่งการใช้ QE ก็หมายถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมีปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำพูดของ พาวเวล มาโดยตลอดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งท่ามกลาง Trade War แต่ผลลัพธ์ที่เห็นก็คือการขยาย Balance Sheet ด้วยการพิมพ์เงินมาซื้อสินทรัพย์เหมือนเคย
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ QE เมื่อปี 2008 ทำหลังจากลดดอกเบี้ยไปจนเข้าใกล้ระดับ 0% แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ที่ 1.75-2.00% ถ้าเกิดมีการทำ QE ขึ้นมาจริงๆในตอนนี้ ต้องบอกว่าเหนือความคาดหมาย
มองในแง่ลบเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะมีอะไรในกอไผ่ที่เรายังไม่รู้ แต่ถ้ามองในแง่ดีถือว่า Fed เตรียมตัวได้เร็วกว่ารอบที่แล้ว
หรือเราจะได้เห็นมาตรการ QE รูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้ใช้ชื่อว่า QE อีกต่อไปก็เป็นได้ !!
ที่มา : Investing
ถ้าชอบ กด like & share  และอย่าลืม กดติดตามเพื่อไม่ให้พลาดสถานการณ์ลงทุน ตามแบบฉบับมืออาชีพครับ : )
โฆษณา