10 ต.ค. 2019 เวลา 15:00 • การศึกษา
สวัสดีค่ะ หายหน้าไปนานเลย ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่สุดท้าย เมื่อมานั่งคิดดูแล้ว รู้สึกว่านั่นไม่ใช่เหตุผล แต่เป็น “ข้ออ้าง” มากกว่า
คราวนี้กลับมาใหม่พร้อมกับความตั้งใจว่าจะเขียนให้ได้บ่อยๆ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละครั้ง ที่จริงอยากเขียนทุกวัน แต่ประเมินตัวเองแล้ว คิดว่าทำเท่าที่ทำได้ก่อนดีกว่า และจะไม่โอ้เอ้ อ้างโน่นอ้างนี่กับตัวเอง เพื่อหาจังหวะที่รู้สึกว่า “พร้อม” จะทำอีกแล้ว
มีสำนวนภาษาอังกฤษสำนวนหนึ่งที่เรานึกถึงและทำให้เราดึงตัวเองออกจากข้ออ้างต่างๆ แล้วตั้งใจจะเริ่มต้นใหม่ เป็นประโยคแสนง่ายว่า
“Seize the day!”
ประโยคนี้มาจากภาษาละตินว่า Carpe diem (ถ้าเป็นนักเล่นแพลนเนอร์หรือบุลเล็ตเจอร์นัล จะคุ้นมาก เพราะจะเห็นกันบ่อย เป็นเหมือนคติประจำใจกันเลยทีเดียว) ที่จริง Carpe diem อยู่ในประโยคเต็มที่ยาวกว่านี้ แต่คนจะคุ้นกับสองคำสั้นๆ นี้มากกว่า
Seize the day - จงคว้าวันนี้ไว้ หมายถึงการลงมือทำสิ่งที่อยากทำเมื่ออยากทำ หรือทำไปเลย ณ เวลานั้น แทนที่จะนั่งรอโอกาสเหมาะ โดยไม่ต้องกังวลว่าอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร เป็นข้อความที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอดีตหรืออนาคต ซึ่งก็ถูกต้องแล้วนะคะ เพราะเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในอดีตหรืออนาคตได้ เราใช้ชีวิตและมีลมหายใจอยู่แต่ในช่วงเวลาที่เป็นปัจจุบันเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงเลิกรอ “จังหวะเหมาะ” เลิกรอเวลาที่ “พร้อม” แล้วทำเลย เขียนเลย แบบในวันนี้
Seize the day ยังทำให้เราคิดถึงสโลแกนของแบรนด์กีฬาชื่อดังที่มีโลโก้คล้ายๆ เครื่องหมายถูก (✔️) ใช่แล้วค่ะ เรากำลังพูดถึง “Just Do it” ซึ่งก็ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน คือทำไปเลย ลุยเลย ไม่ต้องคิดกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากเกินไป (สโลแกนสุดคลาสสิกนี้ใช้มาตั้งแต่ค.ศ. 1987 เชียวนะคะ)
จริงๆ ยังมีอีกสำนวนนึงที่เราชอบมากในแนวๆ นี้ค่ะ
“Don’t wait for your ship to come in, swim out to it.”
“อย่ามัวรอให้เรือตัวเองมาเทียบท่า จงว่ายน้ำออกไปหามันซะ”
หลายคนอาจเคยเห็นสำนวนนี้ใน pinterest ในเพจรวมคำคมภาษาอังกฤษต่างๆ เป็นชื่อหนังสือก็มีค่ะ (Don’t Wait For Your Ship To Come In...Swim Out To Meet It!) เขียนโดย ดร. แกรี่ วู้ด (Dr. Gary Wood)
พอลองค้นดูว่าใครเป็นคนพูด ก็เจอหลายคนเชียวค่ะ ที่เห็นชัดๆ และมีการอ้างอิงเยอะมากคือ แคธี่ ฮอปกินส์ (Cathy Hopkins) นักเขียนชาวอังกฤษ และ สตีฟ เซาเธอร์แลนด์ (Steve Southerland) นักการเมืองชาวอเมริกัน
แต่เราสันนิษฐานว่าทั้งสองคนน่าจะแปลงมาจากคำพูดของ โจนาธาน วินเทอร์ส (Jonathan Winters) นักแสดงตลกชาวอเมริกันที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 70-80 เขามีผลงานเยอะมาก ทั้งทางโทรทัศน์และแผ่นเสียง/ซีดี และยังเคยพากย์เสียงเป็น ปาป้า สเมิร์ฟ ในหนังการ์ตูนเรื่อง The Smurfs ด้วย จริงๆ แล้ว เขาทำงานมาตลอดชีวิตเลยค่ะ และเพิ่งหมดอายุขัยไปเมื่อปี 2556 นี่เอง
ประโยคจริงๆ ที่ โจนาธานพูดคือ “If your ship doesn’t come in, swim out to meet it.” ซึ่งเป็นการพูดแบบติดตลก (เสียดายที่หาไม่เจอว่าพูดไว้ในโอกาสหรือสถานการณ์แบบไหน) เป็นประโยคที่ดูง่ายๆ แต่สามารถตีความได้ลึกซึ้ง เป็นการเปรียบเปรยว่าอย่ามัวนั่งรอให้โอกาส (เรือ) แล่นเข้ามาหา หรือถ้าไม่มีโอกาสเข้ามา ก็ออกไปหาเอาเองซะ ถ้าลงมือทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็มีสิทธิที่จะเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกก้าว แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่มีทางที่เราจะไปถึงความสำเร็จได้
ดังนั้น ถ้าอยากทำอะไรก็ทำเลยค่ะ ถ้าสิ่งนั้นไม่ทำให้คนเดือดร้อน อย่ามัวแต่รอ (โอกาส, ความพร้อม, เวลาดี, จังหวะเหมาะ ฯลฯ)
“If we wait until we’re ready, we’ll be waiting for the rest of our lives.”
“ถ้าเรารอจนกว่าเราจะพร้อม เราคงต้องรอไปตลอดชีวิต”
ตัวละครเอกที่ชื่อ ไวโอเล็ต ในเรื่อง Unfortunate Events (อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย) กล่าวไว้ ซึ่งจริงอย่างที่สุดค่ะ.
โฆษณา