13 ต.ค. 2019 เวลา 23:30 • การศึกษา
๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ (๔๖ ปีก่อน)
บทเรียนหรือความทรงจำ (ที่ผ่านไปแต่ละปี)?
กลับมาอีกครั้งกับเหตุการณ์ที่นับว่าเป็น "ชัยชนะ" ที่ต้องเสียเลือดเนื้อครั้งหนึ่งที่สะเทือนความทรงจำของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ไม้ขีดไฟจะพาทุกคนไปร่วมรำลึก 46 ปี 14 ตุลาคม 2516 ในแบบฉบับของไม้ขีดไฟกันครับ..
นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชุมนุมที่ลานโพธิ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจำนวน 13 คน (ผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ) อีกทั้งเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชน
11 ตุลาคม พ.ศ.2516 จำนวนของผู้ชุมนุมของเหล่านักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่มขึ้นถึงกว่า 50,000 คน
12 ตุลาคม พ.ศ.2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คน ภายใน 24 ชั่วโมง
14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ประชนชนมีการเผารถยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาลถูกเผา และเหตุการณ์อีกมากมาย จนกระทั่งทหารเริ่มออกปฏิบัติการตามคำสั่งและกลายเป็น "สงครามกลางเมือง เดือนตุลา"
นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
_____________๒______________
_(1)_"ความโชคดีของสังคมไทยคือไม่ได้เป็นพื้นที่ราบ แต่มันเป็นพื้นที่ที่มีหลุม มีบ่อ มีภูเขา มีช่องที่จะซุกความทรงจำและความหมายต่าง ๆ เอาไว้ได้" ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ
_(2)_คำพูดดังกล่าว อธิบายอย่างง่ายก็คือ "ความทรงจำต่าง ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางการเมือง สามารถไปซุกซ่อนอยู่ตามเพลง หนังสือ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ต่าง ๆ เพื่อรอวันที่ผู้คนจะมาพบเจอ"
_(3)_เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ของ 46 ปีที่แล้ว ผู้เขียนอยากจะเปิดด้วยคำถามว่า "เหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ.2516 มีค่าเป็นบทเรียนหรือเป็นได้เพียงแค่ความทรงจำที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปแต่ละปี ?"
ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจำนวน 13 คน (ผู้ต้องหาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ)
_____________๕______________
_(4)_สิ่งที่ผู้เขียนจะได้เล่าต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของนวนิยายรางวัลซีไรต์ของ วินทร์ เลียววาริณ ที่มีเชื่อว่า "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ซึ่งผู้เขียนอาจจะยกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น
*** "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" - วินทร์ เลียววาริณ ***
_(5)_10 ตุลาคม 2516 "นี่คือการจัดการแสดงบนเวทีของนักศึกษา เป็นตลกล้อเลียนการเมือง รูปนี้คือตอนห้าทุ่มของเมื่อคืน" แสงไฟจากเครื่องฉายสไล์ฉายเป็นลำในห้องขนาดสี่เมตรคูณสี่เมตรที่ดับไฟมืดสนิท ส่องผ่านม่านควันบุหรี่ที่ลอยอ้อยอิ่งอาบคลุมความเครียดภายในห้องนั้น
_(6)_ภาพสไลด์ที่ถูกฉายบนจอถูกตัดเป็นภาพใหม่ "นี่คือนักศึกษาคนนึงกำลังอ่านบทกวีให้ผู้ชุมนุมฟัง คนตรงมุมขวานั่นคือ เสาวนีย์ คนที่นั่งถัดมาคือ เสกสรรค์, พีรพล..."
_(7)_เสียงสไลด์แผ่นใหม่เลื่อนเข้าไปแทนที่ภาพเก่า "นี่คือผู้ชุมนุมกำลังร้องเพลงชาติร่วมกัน.."
_(8)_"สี่ห้าคนนี้คือหน่วยรักษาความปลอดภัย เป็นนักเรียนอาชีวะ มาจากกนกอาชีวะศึกษา.."
_(9)_"และทั้งหมดนี้คือการชุมนุมวันที่สองของนักศึกษาในธรรมศาสตร์"
_(10)_13 ตุลาคม 2516 มันเป็นสถานการณ์ที่สับสนที่สุดในชีวิตราชการตำรวจของเขา (พล.ต.ต. ตุ้ย พันเข็ม เป็นตัวละครภายในเรื่อง) ในส่วนลึกเขายังอดรู้สึกดีใจที่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการปราบจลาจลโดยตรง เขาทราบมาว่าแผนสลายผู้ชุมนุมอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อม เพียงแต่รอคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น ฝ่ายทหารและตำรวจได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่ามีพวก "คอมมิวนิสต์" หนุนหลังมาหลายวันแล้ว
_(11)_นายตำรวจผู้ใกล้เกษียณเต็มทนถอนหายใจยาว ถอดแว่นตากันแดดเก็บใส่กระเป๋าเสื้อ เขานั่งเฝ้าสังเกตสถานการณ์ที่จุดนี้มานานร่วมแปดชั่วโมงติดต่อกัน
_(12)_ขณะนั้นตะวันสีแดงเพลิงลับเหลี่ยมขอบฟ้าไปแล้ว คล้ายกับไม่อยากเป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่กำลังจะอุบัติขึ้น คลื่นมนุษย์ผู้แสวงหาประชาธิปไตยไหลบ่าเหมือนสายน้ำหลากจากป่าพุ่งเข้าทำลายทำนบเผด็จการที่ขวางกั้นมันมานานกว่าสี่สิบปี! เชี่ยวกรากและทรงพลังอย่างไม่มีพลังอำนาจใดๆในโลกจะหยุดยั้งมันได้ ขบวนนักศึกษาประชาชนเบนทิศไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และคืบคลานต่อไปถึงเขตพระราชวังในตอนกลางดึกคืนนั้น ที่นั่นประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่กำลังจะได้รับการจารึก ท่ามกลางการกระจายเสียงจากวิทยุ การบิดเบือนข่าวสาร การปล่อยข่าวลวง การเข้าใจผิด การทรยศ และการเปลี่ยนฐานอำนาจ โดยใช้สถานการณ์ที่สุกงอมของประชาธิปไตยมาเป็นประโยชน์ ทุกสิ่งถูกจารึกลงไปด้วยรอยเลือดและคราบน้ำตาของวันที่ "14 ตุลาคม 2516"
_____________๑___________
นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชุมนุมที่ลานโพธิ์
_(13)_จากที่ผู้เขียนได้เล่าบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนี้เมื่อ 46 ปีที่แล้ว จากหนังสือ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ผู้เขียนมีความตั้งใจให้นำเสนอเชิงเปรียบเทียบว่า "วรรณกรรมหรือนิยาย" เป็นเสมือน "หลุม บ่อ ภูเขา ร่อง" ในสังคม ที่สามารถเก็บความรู้ ความทรงจำต่าง ๆ เอาไว้ได้อย่างแยบยลนัก... การเลือกนวนิยายมาเล่านั้น..ผู้เขียนได้เล็งเห็นว่า ผู้อ่านคงจะเห็นความสวยงามของวรรณกรรมและจะช่วยให้การศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป..
_(14)_ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนอยากจะฝากคำถามที่ได้ทิ้งไว้ตอนต้นให้ผู้อ่านทุกคนช่วยกันตอบกับตัวเองว่า .. "14 ตุลา เป็นพียงแค่ความทรงจำที่ผ่านมาและผ่านไปหรือไม่ ?"
____________ ๖___________
๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ - ไม้ขีดไฟ
___รายการอ้างอิง___
วินทร์ เลียววาริณ. (2560). ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: บริษัท 113 จำกัด.
โฆษณา