13 ต.ค. 2019 เวลา 15:23 • บันเทิง
การ " ตื่นรู้ " ทางศิลปะของแจ็คสัน พอลล็อค : Pollock (2000)
Pollock (2000)
หนังอัตถชีวประวัติของแจ็คสัน พอลล็อค
จิตกรชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงมาจากการสร้างศิลปะแนว abstract expressionist(ศิลปะนามธรรม)
หนังเรื่องนี้กำกับและแสดงนำโดยนักแสดงมากฝีมือ เอ็ด แฮร์ริส (Ed Harris) เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งแม้จะพลาดรางวัลไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า เอ็ด แฮร์ริส (Ed Harris)ในบทของ jackson pollock นั้นยอดเยี่ยมมาก
นักแสดงอีกคนที่ต้องกล่าวถึง คือ มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Marcia Gay Harden)เธอรับบทเป็นลี แครสเนอร์ ( Lee Krasner) ศิลปินหญิงผู้เป็นภรรยาของพอลล็อค บทนี้ทำให้เธอคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสบทบหญิงยอดเยี่ยมในปีนั้นไปได้
ต้องบอกว่านักแสดงสองคนทั้ง เอ็ด แฮร์ริส และ
มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน แบกหนังเรื่องนี้เอาไว้ได้อยู่หมัด
ชีวิตของแจ็คสัน พอลล็อค อาจไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม เขาคือศิลปินที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในวงการศิลปะ แต่ในเรื่องส่วนตัวแล้วเขาสอบตก
หนังย้อนเรื่องราวไปในปี 1941 ซึ่งเป็นปีที่เขายังไม่มีชื่อเสียง เขาใช้ชีวิตไปกับการสังสรรค์และเหล้า พอลล็อคเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวนมาก
จนเมื่อเขาได้มาพบกับลี แครสเนอร์ เธอคือผู้มองเห็นความเป็นอัจฉริยะที่ซ่อนอยู่ในตัวของพอลล็อค ต้องยอมรับว่าความสำเร็จของพอลล็อคนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการผลักดันของลี แครสเนอร์
แครสเนอร์ และพอลล็อคได้แต่งงานกันในเวลาต่อมาเธอทำให้เขาเลิกดื่มเหล้าได้
ด้วยความที่ทั้งสองคนต่างก็เป็นศิลปิน หลังจากแต่งงานแล้วพวกเขาจึงย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ
พอลล็อคใช้โรงนาเป็นสตูดิโอเพื่อวาดภาพ
สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ดีคือการถ่ายทอด
" ภาวะการตื่นรู้ " ของพอลล็อค
การใช้มุมกล้อง ผสานกับจังหวะภาพและเสียงประกอบทำให้เราดำดิ่งลึกลงไปถึงภาวะปลดล็อคของพอลล็อค
เป็นการตื่นรู้ที่คนดูจะได้สัมผัสและรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับตัวละคร
แต่เดิมงานของพอลล็อคได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแนวSurrealism (แนวเหนือจริง : เป็นแนวทางการวาดภาพกึ่งนามธรรม เป็นส่วนผสมของภาพแนวเหมือนจริงผสมกับจินตนาการ )
งานของเขาแม้มีรูปแบบที่แปลกตาแต่ก็ยังไปไม่สุด (อาจเพราะยังติดรูปแบบและอิทธิพลจากศิลปินบางท่านอยู่บ้าง)
ภาพจากหนัง Pollock (2000)
พื้นฐานของงานศิลปะทุกแขนง คือ การถ่ายทอดอารมณ์
การทำงานของพอลล็อคก็เช่นกัน
บางทีเขาก็นั่งเฉยๆมองผืนผ้าใบอันว่างเปล่า
จนเมื่อเขาพร้อม (ทั้งภายในและภายนอก)
เขาก็ลงมือวาดรูปอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ
บางงานใช้เวลาหลายวัน บางงานใช้เวลาแรมเดือน
แม้ว่าบางช่วงของชีวิตต้องเจอกับอุปสรรคและความเครียดแต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยหยุดเลย คือ การวาดภาพ
วันหนึ่งในโรงนา ขณะที่เผลอทำสีหยดลงบนพื้น
ในตอนนั้น ภาวะแห่ง " การตื่นรู้ " ก็เกิดขึ้น
เพียงเสี้ยวเวลาเพียงฉับพลันที่พอลล็อคเห็นสีกระจัดกระจายอยู่ตรงพื้น เขาได้ปลดล็อคทุกสิ่งในงานศิลปะ แบบแผนและกฏระเบียบถูกโยนทิ้งไป
มีเพียงจิตใจที่นำพาให้เกิดงานศิลปะ ผ่านการสาดสี เทสี หยดสี แกว่งกวัด ตวัดลงบนผ้าใบ
เทคนิคเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ในงานของเขา
(ต่อมามีการเรียกเทคนิคของการเขียนภาพแนวนี้ว่า “กัมมันตจิตรกรรม”-Action Painting)
พอลล็อคกล่าวถึงงานของตนเองว่า
ศิลปะของเขานั้นไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุหรือความไม่ตั้งใจ เมื่อคุณชำนาญในการควบคุม สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการปลดปล่อยจากอารมณ์ภายใน
" ทำไมคุณมองภาพเขียนแล้วต้องตีความ
คุณแค่มองแล้วชื่นชมความงามของมันโดยไม่ตั้งคำถามได้ไหม เวลาคุณมองทุ่งหญ้าที่สวยงาม คุณตีความและตั้งคำถามกับมันหรือเปล่า ? "
Jackson pollock (ตัวจริง)
จากการหาข้อมูลหนังเรื่อง pollock
มีความเห็นของผู้ชมต่อความสำเร็จของพอลล็อคในหลากหลายมุม มีผู้เขียนบางท่านให้ความเห็นว่า
แจ็คสัน พอลล็อค คือ ชายโชคดีที่ค้นพบเทคนิคการวาดเฉพาะตัวจากความบังเอิญที่ทำสีหกใส่พื้น
และเขามีภรรยาที่ดีอย่างลี แครสเนอร์
ในมุมของผู้เขียน ผมเห็นว่าการค้นพบเทคนิคการวาดภาพของเขา มีรากฐานมาจากการฝึกฝนและสั่งสมทักษะในการวาดภาพมายาวนานจนเกิดการตกผลึกทางความคิด
Jackson pollock ขณะทำงานศิลปะ
ผมได้อ่านข้อเขียนที่กล่าวถึงการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณของนักปราชญ์หลายๆท่านและมีความเห็นว่า
สิ่งที่พอลล็อคค้นพบนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นภาวะหนึ่งของการตื่นรู้
ปัญญาญาณ หรือที่บางคนเรียกว่า ญาณทัศนะ เป็นการรู้แบบปิ๊งแว้บ คือความรู้ที่ผุดขึ้นมาแบบฉับพลัน ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนที่ใจเราสงบ ผ่อนคลาย สบายใจ และมีสมาธิ
ภาวะการตื่นรู้ มีบันไดสามขั้นที่นำไปสู่กระบวนการนี้
1. สัญชาตญาณ (Instinct)ซึ่งมีอยู่ในทุกคน เช่น การรู้จักหลบหลีกจากภัยอันตรายของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งแค่สัญชาตญาณยังไม่เพียงพอให้เราเกิดปัญญาญาณเราต้องก้าวข้ามไปสู่บันไดขั้นที่สองซึ่งก็คือ " ปรีชาญาณ "
2. ปรีชาญาณ (Intellect)คือ การรับรู้ การเข้าใจ การตัดสินใจ การรู้จักคิดค้นโดยใช้สมองในการวิเคราะห์ เป็นกระบวนการของจิตสำนึก สิ่งนี้ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป
3. ปัญญาญาณ (Intuition)เป็นการเข้าถึงสภาวะจิตใจที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปัญญาญาณเป็นส่วนที่อยู่เหนือจิตสำนึก เป็นการหยั่งรู้แบบปิ๊งแว้บ เป็นการรู้ที่ก้าวข้ามตรรกะของเหตุผล
บันได้สามขั้นนี้ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน
สัญชาตญาณ คือ สิ่งที่ติดตัวมากับสิ่งมีชีวิต แต่มนุษย์จะมีปรีชาญาณที่เป็นส่วนของการรับรู้ การคิด วิเคราะห์ ผ่านจิตสำนึก ซึ่งถ้าพยายามและใช้ความเพียรผ่านปรีชาญาณจนก้าวข้ามความยึดมั่น ถือมั่นจากจิตสำนึกได้ เราก็จะก้าวเข้าสู่ภาวะ " ปิ๊งแว้บ " และได้ปัญญาญาณ
เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับนักคิดหลายๆคนเช่น อาร์คิมิดีส , ไอสไตน์ หรือ แม้กระทั่งการค้นพบสัจธรรมของพระพุทธเจ้า
การตื่นรู้แบบนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เราต้องพยายามคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างหนักหน่วง ให้จิตสำนึกทำงานอย่างเต็มที่จนถึงที่สุด
เมื่อถึงตอนนั้น จิตที่ผ่านความคิดมากมายจนสงบและผ่อนลงสู่สมาธิ ที่ไม่มีสภาวะวุ่นวายใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง
" การตื่นรู้ " ก็จะเกิดขึ้น
หากสนใจเรื่องนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ " ปัญญาญาณ : การรู้ที่อยู่นอกเหตุเหนือผล (Intuition) ของ osho " ฉบับภาษาไทยแปลและเรียบเรียงโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด
จะเห็นว่าการก้าวข้ามสู่การตื่นรู้ทางศิลปะของแจ็คสัน พอลล็อค ก็เป็นไปในแนวทางนี้
ผลงานภาพวาดส่วนหนึ่งของ jackson pollock
ผมเชื่อว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานศิลปะที่ยาวนานของเขา รวมกับภาวะสมาธิอันเกิดจากการมุ่งความสนใจไปที่การวาดภาพและในขณะที่สีหยดลงพื้น เขาก็ค้นพบมัน ( นิกายเซน เรียกสภาวะนี้ว่า " ซาโตริ ")
แม้การตื่นรู้ของเขาไม่ใช่การตื่นรู้ที่นำไปสู่ความหลุดพ้นก็ตาม แต่หลักการของมันเข้าข่ายเดียวกัน
ช่วงสุดท้ายของชีวิตแจ็คสัน พอลล็อค เขากลับมาติดเหล้าอย่างหนักอีกครั้ง
ส่วนหนึ่งเพราะชื่อเสียงที่มาอย่างรวดเร็วจนรับมือไม่ทันประกอบกับความผิดหวังในชีวิตคู่ เพราะลี แครสเนอร์ ไม่ยอมมีลูกกับเขาจนนำไปสู่การแยกทางกัน
เขาหันไปคบกับสาวต่างวัย และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการเมาแล้วขับ
แม้ว่าพอลล็อคจะจากไป แต่ผลงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้นตลอดระยะเวลาหลายปีถือเป็น "ของขวัญล้ำค่า" ที่เขามอบให้กับโลกใบนี้
คำว่า "ล้ำค่า" ที่ผมกล่าวนั้นไม่เกินจริงเลย ผลงานของแจ็คสัน พอลล็อคมีมูลค่าสูงเป็นลำดับต้นๆของโลกเทียบได้กับงานของศิลปินอัจฉริยะอย่าง " ปิกัสโช่" เลยทีเดียว
หมายเหตุ : หากอ่านบทความนี้แล้ว ท่านผู้อ่านรู้สึกมึนงงต่อเนื้อหาอันวกวนไปมาก็ขอให้รู้ไว้ว่า เป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่อยากให้งานเขียนนั้น เป็น " Abstract " ดังเช่นภาพวาดของแจ็คสัน พอลล็อค นั่นเอง ( ขออนุญาติจบแบบแถๆครับ 555)
เครดิตข้อมูล :
โฆษณา