14 ต.ค. 2019 เวลา 08:45 • การศึกษา
"ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนสมรส จะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ ?"
ด้วยสภาพสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น การที่ชายและหญิงใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งงาน (ในที่นี้หมายถึงการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) จึงแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับสังคมในปัจจุบัน
pixabay
หากเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายก็คงไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
แต่ถ้าการอยู่กินด้วยกัน หรือการมีอะไรกัน เกิดขึ้นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ให้สัญญาว่าจะไปจดทะเบียนสมรสด้วยในภายหลัง
หากต่อมา ฝ่ายที่ให้สัญญาเกิดผิดสัญญา ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย อีกฝ่ายจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ ?
ลองมาดูตัวอย่างนี้ครับ
น้องปลายฝน นักศึกษาปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสไปฝึกงานกับบริษัท ABC ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านไอที
pixabay
เนื่องจากน้องปลายฝน เรียนด้านสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จึงถูกส่งมาฝึกงานที่แผนกพัฒนาโปรแกรมฯ ทำให้ได้มารู้จักกับนายต้นหนาว ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ประจำบริษัท
ด้วยความสนิทสนมจึงทำให้ทั้งสองคนตกลงคบหากัน และตกลงอยู่กินด้วยกัน โดยน้องปลายฝนได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่คอนโดของนายต้นหนาว
โดยก่อนที่น้องปลายฝนจะย้ายเข้ามานั้นได้พูดคุยตกลงกับนายต้นหนาวว่า จะต้องทำพิธีแต่งงานตามประเพณีบ้านเกิดของตนก่อน และหากตนเรียนจบเมื่อใดจะต้องไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย
pixabay
นายต้นหนาวจึงได้เข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีบ้านเกิดของน้องปลายฝน และตกลงว่าจะพากันไปจดทะเบียนสมรสทันทีเมื่อน้องปลายฝนเรียนจบ
3 ปีผ่านไป น้องปลายฝนเรียนจบแล้วแต่นายต้นหนาวก็ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนนายต้นหนาวได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนก ได้ปรับเงินเดือนสูงขึ้น เริ่มมีหน้ามีตาในบริษัทมากขึ้น และเริ่มเป็นที่สนใจของสาวน้อยสาวใหญ่
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ น้องซัมเมอร์สาวสวยหลานสาวเจ้าของบริษัทที่พึ่งจบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
pixabay
นายต้นหนาวและน้องซัมเมอร์ต่างถูกใจชอบพอกัน แต่นายต้นหนาวก็คบกับน้องปลายฝนอยู่แล้ว แต่งานนี้จะเก็บเธอไว้ทั้งสองคนก็คงไม่ได้ เลยต้องหาทางชิ่งหนีจากน้องปลายฝน
นายต้นหนาวเลือกที่จะบอกกับน้องปลายฝนไปตรง ๆ ว่าตนมีคนใหม่และขอให้น้องปลายฝนย้ายออกไปจากคอนโด
น้องปลายฝนได้ยินอย่างนั้นจึงโกรธแค้นนายต้นหนาวมาก สัญญาเมื่อสายัณห์พี่ลืมไปหมดแล้วรือ ?
น้องปลายฝนจึงได้ว่าจ้างทนายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายต้นหนาวกะเอาให้หมดตัวจะได้เข็ดหลาบไม่ไปทำอย่างนี้กับใครอีก
pixabay
ซึ่งเรื่องนี้ศาลท่านได้มีคำพิพากษาออกมาดังนี้ครับ
"โจทก์และจำเลยสมรสกันตามประเพณีและตกลงกันว่า หากโจทก์สำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยจะไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่เมื่อโจทก์สำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น
การที่โจทก์ต้องสูญเสียความเป็นสาวและอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยไม่จดทะเบียนสมรสกันเกิดจากความสมัครใจของโจทก์ มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย
การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ก็ไม่ใช่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420, 421
จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1917/2517 และ 45/2532)
สำหรับเรื่องการสมรสนั้น กฎหมายไม่สามารถบังคับให้ชายหญิงไปจดทะเบียนสมรส หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสได้ เว้นแต่ เป็นกรณีที่ผิดสัญญาหมั้นเท่านั้น
1
ดังนั้น เมื่อชายและหญิงได้ตกลงจะสมรสกัน โดยไม่มีเรื่องการหมั้นมาเกี่ยวข้องแล้ว จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายจะบังคับได้
เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง อีกฝ่ายจึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา