18 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ความสำเร็จของ Gogoro บริษัทมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่ผู้ใช้งานไม่ต้องชาร์จไฟเอง
คำถามที่มักจะทำให้เราหนักใจ เวลาต้องซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักคัน นอกจากเรื่องราคาก็คือ…
จะใช้งานในชีวิตได้จริงเหรอ!? วิ่งได้ไกลแค่ไหน!? หาที่ชาร์จไฟได้รึเปล่า? และศูนย์บริการจะมีเพียงพอหรือไม่!?
แต่.. มีแบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เข้ามาตอบโจทย์ แก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นให้หมดไป
จนทำให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของพวกเขา กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในไต้หวัน
พูดง่ายๆ กว่ายอดขายมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นในไต้หวัน ช่วงครึ่งปี 2019 ที่ผ่านมาอยู่ที่ราวๆ 425,000 คัน
แต่เฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของ Gogoro เพียงเจ้าเดียว ก็ขายได้กว่า 50,000 คัน คิดเป็น 11% ของตลาดทั้งหมดเลยทีเดียว
Gogoro คืออะไร!? และพวกเขาทำได้อย่างไร!? เราจะพาคุณไปรู้จักให้มากขึ้นครับ
Gogoro
จุดกำเนิดของ Gogoro
ไต้หวันมีมอเตอร์ไซค์และสกูตเตอร์รวมกันกว่า 16 ล้านคัน ซึ่งในแต่ละปีก็จะก่อมลพิษขึ้นมหาศาล
1
ในปี 2011 เมื่อ Horace Luke และ Matt Taylor มีไอเดียอยากจะผลิต “สกูตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง” มาทำตลาดในไต้หวัน
เป็นจังหวะเดียวกับที่กระแสของการก่อตั้งบริษัทแบบสตาร์ทอัปเริ่มเป็นที่รู้จัก
แม้ไม่มีเงินทุน ขอเพียงมีไอเดีย มีแผนงานที่เป็นไปได้ ก็จะสามารถดึงดูดเหล่านักลงทุนที่สนใจมาร่วมทุนด้วย
พวกเขาออกแบบสกูตเตอร์ไฟฟ้า ที่วิ่งได้ไกลกว่า 100 กิโลเมตร ทำความเร็วได้ถึง 90 กม./ชม.
ที่สำคัญคือระบบสถานีแบตเตอรี่ ที่ผู้ใช้ไม่ต้องจอดชาร์จไฟให้เต็มซึ่งนั่นจะใช้เวลารอชาร์จไฟนานมาก
แต่กลับกัน ผู้ใช้สามารถสลับแบตเตอรี่ก้อนใหม่ที่สถานี ซึ่งนั่นเร็วกว่าการเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันแบบเดิมๆ ซะอีก
ในที่สุดไอเดียดังกล่าวก็ได้รับความสนใจ จนได้เงินทุนก้อนแรกกว่า 1,500 ล้านบาท
การเปิดตัว Gogoro รุ่นแรก
หลังจากนั้นพวกเขาต้องใช้เวลาราวๆ 4 ปี ในการพัฒนาและตั้งโรงงานผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้าที่พวกเขาคิดไว้
จนกระทั่งในปี 2015 บริษัทก็เปิดตัว Gogoro 1 สกูตเตอร์ไฟฟ้ารุ่นแรก พร้อมกับเครือข่ายสถานีแบตเตอรี่ Gogoro Energy Network
ซึ่งลูกค้าที่ซื้อรถไป ไม่จำเป็นต้องสมัครเข้าเครือข่าย จะเลือกชาร์จไฟที่บ้านของตนเองหลังจากใช้งานเสร็จในแต่ละวันก็ได้
แต่ลูกค้าที่สมัครเข้าเครือข่าย ซึ่งจะมีค่าบริการรายเดือนแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เดือนละ 299 ไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับว่าวิ่งเยอะแค่ไหน
พวกเขาจะสามารถใช้บริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งมีรูปร่างและการทำงานคล้ายกับตู้ขายของอัตโนมัติ
เพียงนำรถมาจอด ถอดแบตเตอรี่ที่อยู่ใต้เบาะออก เอามาคืนที่ตู้แบตเตอรี่
จากนั้นทำการสแกนผ่านแอปพลิเคชั่น ระบบจะบันทึกระยะทางที่ใช้งาน พร้อมปลดล็อคแบตเตอรี่ก้อนใหม่ให้หยิบไปเปลี่ยน โดยไม่ต้องรอเสียเวลาชาร์จไฟเลย
และเพื่อให้คนหันสนใจ รถรุ่นแรกของพวกเขาออกแบบให้โฉบเฉี่ยว ทันสมัย เพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าได้ขับรถแห่งอนาคต
นอกจากนี้ ยังเติมความสมาร์ทเข้าไป ให้รถสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นในมือถือ
ทั้งใช้ในการสตาร์ทเครื่อง ล็อครถ บอกสถานะของรถ หรือกระทั่งใช้ค้นหาสถานีแบตเตอรี่ที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
ตัวอย่างสถานีแบตเตอรี่ ที่อยู่หน้าร้านขายของ
สถานีชาร์จที่ใช้หลังคาแบบโซลาร์เซลล์
การรู้จักปรับปรุงและพัฒนา
การเปิดตัวในช่วงแรกตะกุกตะกักอยู่เล็กน้อย เนื่องจากเครือข่ายสถานีแบตเตอรี่อาจจะยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ
รวมถึง “ราคา” ของรถที่อยู่ในระดับ 100,000 บาท นั่นจึงยังเข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้าทุกระดับ
แต่พวกเขาก็รู้จักปรับปรุงและพัฒนา อย่างเช่น การเปลี่ยนชิ้นส่วนอลูมิเนียม เป็นชิ้นส่วนเหล็กและพลาสติก ทำให้ราคาถูกลง
Gogoro 2 จึงมีประสิทธิภาพไม่ต่างกับรุ่นแรกมากนัก แต่ก็มีราคาประมาณ 75,000 บาท
ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่พอๆ กับรถสกูตเตอร์รุ่นอื่นๆ ที่ใช้น้ำมัน ทำให้คนทั่วไปเริ่มจับต้องได้มากขึ้น และอยากเปลี่ยนมาใช้งานรถที่รักษ์โลกยิ่งขึ้นกว่าเดิม
รวมไปถึงการจับมือกับร้านสะดวกซื้อ เช่าพื้นที่ด้านหน้าเพื่อสร้างเครือข่ายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมมากขึ้น
จนกระทั่งปัจจุบัน พวกเขาระบุว่าในปัจจุบันนี้มีสถานีแบตเตอรี่ทุกๆ 1.3 กิโลเมตรในไทเป และมากกว่า 1,000 จุดทั่วไต้หวัน
ซึ่งนั่นเป็นเครื่องการันตีว่า ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลเรื่องแบตหมด หรือหาที่เปลี่ยนแบตไม่ได้อีกต่อไป
ความสำเร็จของ Gogoro
อย่างที่เกริ่นไปตอนแรกว่า Gogoro สามารถครองส่วนแบ่งมากถึง 11% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ในไต้หวันได้แล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ ยอดขายของมอเตอร์ไซค์ธรรมดาต่างก็ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่ Kymco ตกลง -5% หรือ Yamaha ลดลง -26%
แต่ Gogoro กลับสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
และพวกเขาก็เพิ่งประกาศว่ามีผู้ใช้งานในระบบสมาชิกรายเดือน เพิ่มขึ้นสูงถึง 200,000 คนอีกด้วย
(หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตอนนี้พวกเขาขายรถไปได้มากกว่า 200,000 คันแล้ว หลังเปิดตัวมา 4 ปี)
แม้แต่ละคนจะจ่ายค่าบริการรายเดือนแตกต่างกันไป แต่ลองคิดเล่นๆ ว่าเฉลี่ยจ่ายคนละ 500 บาทต่อเดือน
เท่ากับว่าในแต่ละเดือนบริษัทจะมีรายได้เข้ามา 100 ล้านบาท หรือประมาณปีละ 1,200 ล้านบาท จากเฉพาะค่าสมาชิกเท่านั้น!!
และนี่ก็คือเรื่องราวของ Gogoro จากสิ่งที่เป็นเพียงไอเดียเมื่อ 9 ปีก่อน…
ในวันนี้ ไอเดียสกูตเตอร์ไฟฟ้านั้นเป็นจริง ไม่เพียงแต่ใช้งานได้จริงอย่างเดียว แต่ยังแก้ปัญหาและคลายความกังวลที่ลูกค้ามีต่อยานยนต์ไฟฟ้าได้อีก
นั่นทำให้สินค้าประสบความสำเร็จ และมีลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
กลายป็นบริษัทมูลค่ามหาศาลนับหมื่นล้าน และกำลังจะก้าวข้ามจากไต้หวันไปทำตลาดต่างประเทศ
สำหรับ “ประเทศไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มียอดการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์สูงมาก
ในอนาคตอันใกล้ คุณคิดว่าคนไทยจะหันมาใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แทนมอเตอร์ไซค์ธรรมดาหรือไม่!?
โมเดลธุรกิจแบบ Gogoro จะสามารถเกิดขึ้น และประสบความสำเร็จในไทยมากเพียงใด!?
ร่วมพูดคุย แชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องราวเหล่านี้ ได้เลยครับ
โฆษณา