16 ต.ค. 2019 เวลา 16:23 • ความคิดเห็น
Movietalk: เขียนอย่างไรไม่ถอดใจ
ถ้าไม่มีดาว
แชร์ประสบการณ์จาก
บล็อกเกอรํ OKNation ในวันก่อน
Blockdit ในวันนี้
โพสต์นี้เกิดขึ้นจากการต่อยอดไอเดียมาจากโพสต์ของพี่หนังหลายมิติ, โพสต์ของพี่เรื่องสั้น ๆ และ โพสต์ของพี่ข้าวน้อย ซึ่งทั้งสามท่านล้วนแต่เป็นกัลยาณมิตรที่สนิทกันมากใน Blockdit ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยได้เจอหน้ากันมาก่อน
โพสต์ที่ทั้งสามคนลงในวันนี้ มีความเกี่ยวเนื่องบางอย่างที่ส่งผลให้ผมต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้เขียนต่อยอดจากไอเดียของพวกพี่ทั้งสามคน หากจะเปรียบเรากำลังจะทำแบบ Mavel Cinematic Universe แต่ของพวกเราคงเป็น Blockditor Post Universe ที่บทความของพวกเราอยู่ภายใต้จักรวาลเดียวกัน และมี Easter Egg อยู่ในนั้น
ขอเริ่มที่บทความแรกของพี่หนังหลายมิติ ที่เล่าถึง มอง “ความห่วย” ในแง่ดี เรื่องของ “ผู้หญิง 5 บาป” หนังที่ถูกตราหน้าว่าห่วยแต่เป็นตำนาน ซึ่งผมได้แสดงความเห็นไปในโพสต์นี้ โดยส่วนตัวผมรู้จักกับผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ พี่ต้อมสุกิจ นรินทร์ อดีต บก.นิตยสาร หนังและวีดีโอ พ่วงตำแหน่งนักวิจารณ์ภาพยนตร์, อดีตพิธีกรรายการ 4 ทุ่มสแควร์ของเสี่ยวีที วิทวัส สุนทรวิเนตร และผันตัวมากำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งทุกวันนี้ผมยังไม่เข้าใจว่า นักวิจารณ์หนังรุ่นบุกเบิกวงการ รู้ชัดเห็นจริงกับองค์ประกอบของหนังเป็นอย่างดี ทำไมถึงทำหนังออกมาจนถูกวิจารณ์ในเชิงลบทุกเรื่อง!
ก็ด้วยความเห็นที่ผมลงตามความรู้สึกนี่ล่ะ ที่ทำให้มันไปกระตุ้นถึงความทรงจำแรกเริ่มของผมที่เกี่ยวข้องกับบรรดานักวิจารณ์รุ่นบุกเบิกในตำนาน ยุคที่คนยังอ่านนิตยสาร และพึ่งพาคำวิจารณ์ของบุคคลเหล่านี้ ที่ผมยกให้เป็นทั้งครู และเป็นทั้งแรงบันดาลใจ ที่หล่อหลอมจนผมเป็น “คนคอหนัง” ตามที่หลายท่านได้ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
กาลครั้งหนึ่งในจักรวาลอันไกลโพ้น...เอ๊ย..นั่นมัน Star Wars แล้ว
กาลครั้งหนึ่งในยุคที่ผู้คนยังอ่านหนังสือ ไม่มีอินเตอร์เน็ตทุกบ้าน ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์มีแต่คนรวยถึงมีในบ้าน และเรายังใช้พิมพ์ดีดกันอยู่ สำหรับคนที่ชอบดูหนัง มีนิตยสารหัวหลัก ๆ คือ Starpics, Entertain, เซลลูลอยด์, หนังและวีดีโอ, Bioscope สิ่งหนึ่งที่คนดูหนังส่วนใหญ่พึ่งพาคือบทวิจารณ์หนังของบรรดานักวิจารณ์ประจำนิตยสารเหล่านั้น ที่ใช้เป็นคู่มือในการเลือกจะเข้าไปดูหนังเรื่องไหนดี?
ประวิทย์ แต่งอักษร
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
นักวิจารณ์เหล่านั้นที่มีชื่อเสียงจนเรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกของวงการนักวิจารณ์หนัง ทั้งที่ใช้ชื่อจริง และนามปากกา ได้แก่ อาจารย์แดง กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน, พี่ตีตั๋ว, ลุงสนานจิตต์ บางสพาน, พี่สุภาพ หริมเทพาธิป, พี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์, คุณน้ำผึ้ง, พี่สุทธิชัย แก้วจินดา, คุณการะเกด, คุณนรา, สิงห์หนุ่ม, พี่สุทธากร สันติธวัช, พี่สุกิจ นรินทร์ เป็นต้น
กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
สนานจิตต์ บางสพาน
บุคคลเหล่านี้คือนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่คนดูพึ่งพาบทความวิจารณ์หนังของพวกเขาเป็นไกด์ในการเข้าไปดูหนัง ถ้าเปรียบปัจจุบันก็คงบรรดาเพจทั้งหลายในเว็ปไซต์ต่าง ๆ นั่นล่ะ
นักวิจารณ์รุ่นบุกเบิกเหล่านี้ที่มีสไตล์การเขียนแตกต่างกันไป เมื่อผมติดตามอ่านแต่ละท่าน ก็ยิ่งกระตุ้นความอยากเป็นนักวิจารณ์หนังกับเขาบ้าง อีกทั้งหนึ่งในวิชาที่ผมเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยก็คือ “วิจารณ์ภาพยนตร์” ผมจึงเริ่มหัดพิมพ์ดีดงานวิจารณ์หนังของผม เก็บไว้อ่านเองบ้าง ให้แม่อ่านบ้าง หรือเพื่อนฝูงอ่านบ้าง เขียนดีไหม ไม่รู้ เพราะพวกเราคนกันเอง
แต่ที่แน่ ๆ นักวิจารณ์ที่ผมกล่าวนามมาทั้งหมด ผมถือว่าเป็นแรงบันดาลใจ (หรือปัจจุบันเราเรียกว่า “ไอดอล”) และเป็นเสมือนครูของผมที่ช่วยหล่อหลอมจน ณ วันหนึ่ง เกิดนามปากกา “คนคอหนัง” ขึ้นมา
หลังจากนั้นโชคชะตาก็พลิกผันให้ผมต้องไปเผชิญเรื่องราวมากมาย กระทั่งมีโอกาสได้หวลกลับมาสู่ถนนนักวิจารณ์หนังอีกครั้ง ในยุคที่เปลี่ยนมาเป็น “รีวิวหนัง” กันแล้ว และคนดูอาศัยสื่อโซเชียลต่าง ๆ เป็นคู่มือในการเลือกดูหนัง
โดยมีแรงผลักดันจากอดีตคนรักของผมเองที่ให้ผมไปสมัครเขียนตามเว็ปไซต์ ตอนนั้นผมก็หาไปเรื่อย ๆ จนมาพบกับ OKNation บล็อกดังในเครือ The Nation ผมสมัครไปโดยใช้นามปากกา “คนคอหนัง” ซึ่งต่อมาภายหลัง บก.ชาลี OKantion ก็ได้ตอบรับให้ผมเริ่มเขียนบทความในบล็อก OKNation โดย ผมใช้ชื่อบล็อก “หนังเล่าเรื่อง” เริ่มลงบทความแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2556 ในบทความชื่อ “หยิบหนังมาเล่าเรื่อง Jason Bourne สายลับเขย่าโลก!” เป็นบทความเชิงแสดงความเห็นวิเคราะห์ส่วนตัวของหนัง
เฟรนไชน์ Jason Bourne และหลังจากนั้นผมก็เขียนรีวิวเกี่ยวกับหนังมาโดยตลอดผ่านทาง OKNation
เมื่อย้อนกลับไปอ่านบทความแรก ๆ ที่เริ่มเขียน ต้องบอกเลยว่าผมเขียนได้สั้นมาก ๆ ถ้าเป็น
ไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมเดี๋ยวนี้กลายเป็นคนเขียนบทความยาว ๆ ไปได้ไงก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าจากเดิมแรก ๆ ยังเขียนไปทางวิจารณ์หนังเป็นหลัก ตามทฤษฎีที่เรียนมาว่างั้น กระทั่งวันเวลาผ่านไป เขียนแทบทุกวัน หนึ่งปี...สองปี...จนมาถึงปี 2562 ผ่านมา6 ปี วิธีเขียนบทความผมจึงหล่อหลอมจนกลายเป็นเล่าหนัง ที่หลายคนบอกว่าผมอัดแน่นด้านข้อมูล และไม่ได้เจาะลึกลงไปถึงองค์ประกอบทางด้านวิจารณ์ภาพยนตร์เพียว ๆ เหมือนงานเขียนยุคแรก ๆ
จนถึงวันที่ผมมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่ใน Blockdit เพราะคุณลงทุนแมน จึงเกิดเป็นเพจ Movietalk by คนคอหนัง ขึ้นมาอย่างที่คุณได้เคยอ่านบทความก่อน ๆ มาแล้ว นี่ล่ะครับ
ตรงนี้ล่ะที่ผมต้องขอขอบคุณพี่หนังหลายมิติ ที่กระตุ้นเตือนให้ผมหวลรำลึกถึงอดีต ความเป็นมา จุดเริ่มต้นที่ผมอยากเป็นนักวิจารณ์และกลายเป็นมาเพียงแค่ “คนเล่าหนัง” ตามความรู้สึก หรือสิ่งที่ได้หลังดูหนังจบ ให้ทุกคนฟัง (อ่าน) หรือจะกล่าวว่า ผมเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่นี่ก็ได้
มาถึงในส่วนที่สอง จากบทความของพี่เรื่องสั้น ๆ ในโพสต์ “เส้นทางการเดินสู่ฝันคงไม่ใช่การนั่งจรวดไอพ่น” ที่พี่เรื่องสั้นตั้งใจให้กำลังใจแก่คนที่อยากเป็นนักเขียน อยากมีหนังสือรวบรวมผลงานการเขียนวางบนแผงหนังสือ ซี่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสำเร็จที่ไล่ตามความฝันได้ด้วยการนั่งจรวด
ผมเอ่ยถึงตรงนี้เพราะ 6 ปี บนเส้นทางบล็อกเกอร์ของผม ผมเริ่มต้นจากมีคนอ่านหลักร้อยเหมือนกัน ยิ่งเมื่อผมมาเริ่มเขียนใน Blockdit ผมเคยคิดเข้าข้างตัวเองว่า คงมีหลายคนที่ผ่านตางานเขียนของผมใน OKNation และตามมาอ่านในนี้ คงมีคนที่พอจะรู้จักเราบ้างล่ะ เพราะใน OKNation มียอดคนอ่านสะสมตลอด 6 ปี ประมาณ 6 แสนคน (ในนั้นอาจจะเป็นเดิมกลับมาอ่านซ้ำก็นับด้วย) ยังไงก็คงมีคนอ่านอยู่ไม่น้อยล่ะน่า
แต่เชื่อไหมว่า แค่บทความแรกที่ลง Movietalk: Avengers: Endgame บทสรุป 1 ทศวรรษ MCU เข้าถึงคนอ่านเพียงแค่ 50 คน มีคนแสดงอารมณ์เพียง 4 คน เข้าถึงผู้ใช้งาน 208 รับชม 497 ครั้ง และ แชร์ 1 ครั้ง ที่ผมเองแชร์ไปให้เพื่อน มีคนมาแสดงความเห็นเพียง 2 คน! เห็นแบบนี้ผมก็ “เหวอ” ไปเลยเหมือนกันล่ะครับ แต่ก็ทำให้ผมพบความจริงว่า โลก (โซเชียล) ใบนี้มันช่างกว้างใหญ่มหาศาลจริง ๆ 6 แสนคนใน OKNation คงมีเพียงไม่กี่ % ใน Blockdit หรืออาจจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไป
ผมมานั่งวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร และผมก็พบว่า ผมอาจจะทำอะไรง่ายเกินไปด้วยการแปะลิงก์แชร์ไปที่บทความเดียวกันที่ผมเขียนอยู่ใน OKNation ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่ามันมักง่ายเกินไปสำหรับคนอ่าน และผมก็ต้องขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ขออภัยทุกท่านครับ
มาถึงบทความที่สอง MCU จักรวาลพันล้านสู่หมื่นล้าน คราวนี้มีสถิติที่ทำให้ใจชื้นขึ้นเป็นกอง เข้าถึง 55 คน 1,485 ผู้ใช้งาน 51 แสดงอารมณ์ รับชม 2.9K และแชร์ 9 ครั้ง โดยมีคนแสดงความเห็น 1 คน! สำหรับผมเป็นสถิติที่ดีขึ้น และช่วยให้ใจชื้นเป็นกอง ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผมปรับปรุงเขียนบทความเต็ม ๆ ในเชิงวิเคราะห์การตลาด
ของมาร์เวล พร้อมลงข้อมูลของ MCU เพียบ และปิดท้ายด้วย Box Office หนัง MCU ทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นที่ถูกใจคนอ่านใน Blockdit อยู่ประมาณหนึ่ง
แต่แล้วพอมาถึงบทความที่ 3 คอหนังนั่งเล่า: Labor Movie หนังแรงงานชน คนสู้ชีวิต (Part 1) ผมก็จ๋อยสนิทอีกรอบ มาดูสถิติกันก่อน เข้าถึง 83 คน 202 ผู้ใช้งาน 3 แสดงอารมณ์ รับชม 198 ครั้ง ไม่มีแชร์ ไม่มีคนแสดงความเห็น แต่ในเมื่อมันมี Part 1 ผมก็ต้องต่อ Part 2 ก็เลยกัดฟันลงต่อ ได้สถิติแทบไม่ต่างกัน เข้าถึง 71 คน 276 ผู้ใช้งาน 4 แสดงอารมณ์ รับชม 181 ครั้ง ไม่มีแชร์และไม่มีความเห็น
ผมยกตัวอย่างมา 4 โพสต์แรก เพื่อให้เห็นว่า มันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นยอดคนอ่าน คนติดตาม ยอดไลค์ จะมากจะน้อยเกิดขึ้นได้ทั้งหมดเสมอ
เข้าสู่ช่วงที่สาม จากบทความของพี่ข้าวน้อย ทำเป็นอาชีพได้จริงไหม Blockdit
มาถึงวันนี้ 16 ตุลาคม 2562 เพจ Movietalk by คนคอหนัง มีคนติดตาม 2.2K มี 4 ดาว ไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะเมื่อเทียบกับบรรดานักเขียนเด่น ๆ ใน Blockdit แต่สำหรับผมเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ส่วนเรื่องดาว ผมเลิกคิดว่าบทความผมจะได้ไปนานแล้ว เพราะไม่ว่าผมจะลงอย่างไร หรือบูสแค่ไหน ดาวก็เป็นสิ่งที่ไกลเกินไปสำหรับผม บางทีดาวสำหรับเพจผมคงไม่ต่างจากดาวหางฮัลเลย์ที่นาน ๆ จะวนผ่านมาสักครั้ง ผมจึงไม่เคยโฟกัสไปที่ดาวเลย เพราะผมไม่ได้คาดคิดว่าจะมีรายได้มาจากการเขียนตรงนี้
โดยส่วนตัว ผมมีวิธีคิดและมุมมองคือ ไม่ว่าจะมีคนอ่าน 5 คน หรือคนอ่าน 6 แสนคน ผมจะต้องเต็มที่กับงานเขียนเสมอ เพราะผมให้ความสำคัญกับ 5 คนที่เข้ามาอ่าน หรือ 6 แสนคนที่เข้ามาอ่าน ภายใต้โมเดลเดียวกัน คือ เราเต็มที่กับบทความของเรา ซึ่งผมเชื่อว่าหลายท่านคงพอสัมผัสได้อยู่บ้างว่า ผมมีความตั้งใจในแต่ละบทความที่ลงครับ
พี่ข้าวน้อยให้กำลังใจแก่นักเขียนหน้าใหม่ที่อาจจะเริ่มท้อ หรือตั้งเป้าที่จะเป็นนักเขียน และมีรายได้จากการเขียนใน Blockdit พร้อมแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ก่อนจะสรุปว่า “ลงมือเลยครับ ตอนนี้เลย และเดี๋ยวนี้” ซึ่งถ้าคุณทำตามคำแนะนำของพี่ข้าว พร้อมกับบวกความตั้งใจ และจริงใจในงานเขียนบทความของคุณ การมาของ “ดาว” ก็เกิดขึ้นได้ หลาย ๆ คน ก็เป็นตัวอย่างให้เห็น
พี่ซาร่า
พี่ใจดี
น้องสินิน
พี่หนังหลายมิติ
น้องโบวี่
คุณ Wornstory
น้องปูเป้
หรืออย่างน้องใหม่มาแรง ก็ใช่ย่อย เพิ่งมาไม่นาน
น้องแบม
เพจแมวพิมพ์
นี่คือตัวอย่างเท่านั้น (คนที่ไม่ได้เอ่ยถึง อย่าเพิ่งโกรธหรือน้อยใจผมนะ ผมคิดถึงทุกท่านครับ)
ผมจึงอยากบอกกับทุกท่านว่า พยายามต่อไป มุ่งมั่นถ้าคุณคิดจะเป็นนักเขียน อย่าท้อถอยกับตัวเลขที่ปรากฏในแต่ละบทความของคุณ และที่สำคัญที่ผมคิดว่าต้องมีคือ “คิดบวก” เพราะเมื่อคุณท้อ คุณต้องสร้างวิธีคิดบวกเพื่อฉุดดึงกำลังใจให้แก่ตัวเอง ขอให้คิดเสมอว่า
จะตัวเลขเท่าไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านั้นคือคนที่เข้ามาอ่านคุณ สนใจบทความของคุณ ต่อไปเขาอาจติดตามคุณ เขาอาจจะแชร์ให้คุณ
และเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณมีโอกาส
คว้า “ดาว” มาประดับบทความของคุณ
สรุปในมุมมองของผม เขียนอย่างไรไม่ถอดใจ
ถ้าไม่ได้ดาว ก็คือ 1 ม 3 ต
มุ่งมั่น
ตั้งใจ
เต็มที่
เติมพลังคิดบวก
รักในสิ่งที่เขียน
เขียนในสิ่งที่รัก
แล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ครับ
ขอบคุณเป็นพิเศษ: พี่เรื่องสั้น ๆ, พี่ข้าวน้อย และพี่หนังหลายมิติ ที่ทำให้เกิดบทความนี้ขึ้น, เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาว Blockdit ทุกคนที่ติดตามอ่าน และเพื่อนนักเขียนร่วมเส้นทางสายนี้
ขอบคุณที่มาข้อมูล: The Standard, Wikipedia, หอภาพยนตร์ องค์การมหาชน, waymagazine.org, NEWVOICE-WordPres.com, a day BULLETIN, Days Sweet Days Books, Topicstock, Pantip สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับนักวิจารณ์รุ่นบุกเบิก
โฆษณา