17 ต.ค. 2019 เวลา 05:44 • สุขภาพ
นักเขียนผู้ไม่รู้วิธีอ่าน..
The writer who cannot read.
เรื่องของนักเขียนมือรางวัล
ผู้ตื่นมาเช้าวันหนึ่ง พบว่า
ตัวเองต้องกลายเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออก (alexia) ไปตลอดชีวิต
แพทย์แจ้งว่า อาชีพที่เขารักคงจบแล้ว
หากเป็นคุณจะทำอย่างไร?
เสียอะไร เสียได้ ขออย่าเสียกำลังใจ ❤
เช่นทุกวัน..Howard Engel นักเขียนชื่อดังวัย 70 ปี ชาวแคนาดา ลุกจากเตียงนอน เดินไปหยิบหนังสือพิมพ์ เพื่อมานั่งอ่าน พร้อมจิบกาแฟ
แต่เขาต้องอุทานในใจ "วันนี้เด็กส่งหนังสือพิมพ์ผิดหรืออย่างไร?" เมื่อเขาพบว่า ตัวอักษรบนหนังสือพิมพ์ ดูคล้ายอักษรอียิปต์หรือบนศิลาจารึกเมโสโปเตเมีย อะไรสักอย่าง
เขาจึงโทรศัพท์หาแพทย์ที่คุ้นเคย เพื่อเล่าอาการให้ฟัง
"คุณควรรีบเรียกรถพยาบาลพาไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลโดยด่วนเลย" แพทย์แนะนำ
เมื่อถึงโรงพยาบาล เมื่อเขามองไปที่ป้ายห้องฉุกเฉิน ก็ต้องตกใจ โรงพยาบาลประจำเมือง Toronto ป้ายทั้งหมดแลดูเป็นอักขระโบราณที่เขาอ่านไม่เข้าใจแม้แต่น้อย
บุรุษพยาบาล เข้ามาสอบถามอาการ และให้เขากรอกเอกสาร เขาไม่สามารถอ่านอักขระต่างๆที่ปรากฎในกระดาษได้
แต่พอจับปากกา เขากลับสามารถเขียนชื่อตัวเอง เขียนบรรยายเหตุการณ์ ลงในกระดาษได้ปกติ
ถาพจาก (1)
Engel ถูกนำเข้าเครื่องเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์ "คุณเป็น stroke ของสมองส่วนหลังซ้าย" ประสาทแพทย์แจ้งแก่ Eagel
เนื่องจากเขามีอาการตอนนอนหลับ ทำให้ระยะเวลาที่สมองขาดเลือดนานเกินกว่าจะปลอดภัยในการให้ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA)
สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้จึงเป็นการให้เข้านอนในโรงพยาบาล เพื่อคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้สมองมีการขาดเลือดเพิ่ม
"ผมจะกลับมาอ่านหนังสือได้ไหมหมอ"..เขาถาม
"คงต้องดูกันต่อไป เราจะพยายามให้กายภาพฟื้นฟูเต็มที่"
.."อย่างไรก็ตาม ด้วยวัย 70 ปี การฟื้นฟูสมองคงคาดหวังไม่ได้นัก.."
"อาจถึงเวลาที่คุณได้เกษียณจากงานเขียนมาพักผ่อนกับลูกหลานแล้วละ"
สำหรับ Engel การไม่สามารถอ่านหนังสือได้อีก คือ ความพิการที่ยิ่งใหญ่สำหรับวิชาชีพที่เขารัก
เขารักการอ่านพอๆ กับการเขียน
ถึงแม้เขายังเขียนออกมาได้ แต่ก็อ่านสิ่งที่เขียนไปไม่ได้
เขามองงานเขียนตนเองเหมือนผลงานศิลปะ
ที่เขาสร้างสรรค์ด้วยความปราณีต
หลังเขียนเสร็จ เขาจะต้องอ่านตรวจทานทุกตัวอักษร ครุ่นคิดแต่งเติมจนกว่าจะงดงามสมบูรณ์
1
Engel พยายามอย่างมากในการฝึกอ่านใหม่ ตั้งแต่เริ่มแบบฝึกอ่านเด็กอนุบาล
แต่ก็ดูไม่เป็นผลนัก..
"เอาละถึงอ่านไม่ได้..ฉันก็จะเขียนต่อ เขียนเท่าที่เขียนได้ ดีกว่าหยุดเขียนไปเลย" เขาบอกกับตัวเอง ก่อนจรดปากกาเริ่มเขียนบทความต่อจากที่ค้างไว้..มีประโยคหนึ่ง เขาอ่านไม่ออกว่าอะไร รู้แต่สีปากกาซีดจางไปหน่อย เขาจึงเขียนซ้ำลงไป
ขณะทีลากเส้นตามตัวอักษร ด้วยใจสงบนิ่ง เขาก็ต้องแปลกใจ ว่าพอลากเส้นตาม สมองของเขากลับ "เข้าใจ" ประโยคนั้นได้ !
ภาพจาก (2) Tracing technique
นับแต่นั้นมา เวลาเขาต้องการอ่านอะไร จึงใช้วิธี Tracing technique คือลากเส้นตามในกระดาษ ในอากาศ หรือแม้แต่ถ้ามือไม่ว่าก็ใช้ลิ้นเขียนบนเพดานปากตามรูปร่างอักษรที่เห็น..
Eagel มีผลงานเขียนหลังจากเกิด stroke
เป็น best seller สามเล่ม รวมทั้งที่กล่าวถึงประสบการณ์เขาเองในหนังสือชื่อว่า "The man who forget how to read"..
เขาจากโลกนี้ไปด้วยปอดบวมในวัย 88 ที่บ้านท่ามกลางครอบครัว แมวตัวโปรด และความอิ่มใจที่ได้ทำงานที่เขารักตราบวาระสุดท้าย
คำอธิบายทางประสาทวิทยา:🧠
ตำแหน่งรอยโรคของสมองในผู้ป่วยที่มีอาการ อ่านไม่ออก (Alexia) ลูกศรหนาคือ visual cortex ซ้าย , ลูกศรบางคือ collosum (3)
การที่เราอ่านอักษรแล้วเข้าใจความหมาย จะมีขั้นตอนดังนี้
1. ตัวอักษรที่สายตารับส่งผ่านเข้าสมองเป็นสัญญานภาพ
2. สัญญานภาพเข้าสมองส่วนหลัง (visual cortex of occipital lobe) มีการตีความเป็น "รูปภาพ" คือรับรู้ถึงรูปทรง สี ขนาด
3. สัญญานรูปภาพ ถูกนำไปตีความเป็น ความหมาย"ภาษา"ซึ่งศูนย์ภาษานี้ คนส่วนมากอยู่ในสมองส่วนข้าง (language area of parietal lobe) "ซึกซ้ายเท่านั้น"
ข้อมูลภาพจากซีกขวา ต้องถูกขนส่งผ่านสะพานเชื่อมสมองสองซีก ที่เรียกว่า "collosum" เพื่อมาแปลเป็นภาษาที่ศูนย์ในซีกซ้าย
ถาพวาดอย่างง่าย แสดงการทำงานของสมองในการอ่าน
ภาวะสูญเสียความเข้าใจภาษาจากการอ่าน (alexia) จึงเกิดได้จากสองกรณีคือ
1. Language center ใน สมองซ้ายถูกทำลาย : กรณีนี้จะเสียทุกทักษะภาษา ทั้งการอ่าน การเขียน การฟัง การพูด เราเรียกว่า "global aphasia"
2.visual cortex ซ้ายเสีย "ร่วมกับ" สะพานเชื่อมข้อมูล collosum ที่ส่งจากด้านขวามาซ้ายก็ถูกตัดขาดด้วย: กรณีนี้จะเสียแต่การอ่านอย่างเดียว เราเรียกว่า "pure alexia"
หากสมองส่วน visual cortex ข้างใดข้างหนึ่งเสียไป เรายังมีสำรองข้อมูลจากข้างที่เหลือได้
ผู้ที่เกิด stroke สมองส่วนหลัง ส่วนมากจึงไม่ถึงกับสูญเสียการอ่าน แต่จะเสียการความสามารถการรับรู้ภาพทำให้เดินชนอะไรบ่อยๆ ดังที่ข้าพเจ้าเคยเขียนถึง (4)
การมี 'สะพานขาด' ร่วมด้วย แบบกรณีของ Engel เป็นอาการจาก stroke ที่พบไม่บ่อย เพราะสะพาน collosum มักมีเลือดจากหลายเส้นมาช่วยเลี้ยง (5)
บทสรุป:
แม้การทำงานของสมองเป็นสิ่งซับซ้อน
แต่การเยียวยาฟื้นฟู สำคัญที่ "ใจ"
ดังเรื่องราวของ Eagel
ด้วยความรักที่จะเขียนอย่างไม่ย่อท้อ ทำให้เขาอยู่กับ Alexia ได้ โดยเทคนิค tracing
แม้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนทั่วไป
แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อความสำเร็จ
🌻การสูญเสีย ไม่ใช่การสูญสิ้น
หากไม่เสียกำลังใจ
ติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่🧠❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา