17 ต.ค. 2019 เวลา 06:32
"แสร้งทำว่ารัก"
คุณหมอคะ หนูไม่มีความสุขกับชีวิตแต่งงานเลย
หนูนอนร้องไห้ทุกวัน หนูอยากเลิกกับเขา แต่ลูกยังเล็กมาก
มีวิธีไหนที่จะช่วยให้จิตใจหนูดีขึ้น เข้มแข็งกว่านี้ไหมคะ
คนไข้หญิงวัยสามสิบต้นๆ เข้าขอคำปรึกษากับจิตแพทย์
เพื่อคำแนะนำ ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้จิตใจเธอเข้มแข็งขึ้น
ให้มีความกล้าลุกขึ้นมาแก้ปัญหาชีวิตครอบครัว
ซึ่งขณะนี้สร้างแต่ความเศร้าหมองให้กับเธอและส่งผลเสียต่อชีวิตด้านอื่นของเธอด้วย
Cr: www.fashionlifestyle.net
ใจนึงก็อยากจะเลิก แม้จะเจ็บแต่ก็จบ
แต่อีกใจนึงก็สงสารลูกน้อยที่ยังเล็กน้อย
แต่ใจลึกๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้รักที่เคยหวานกลับมาดั่งเดิม
ฉันจะทำอะไรได้บ้างไหมนะ เพื่อให้ฉันมีครอบครัวที่มีความสุข
คุณหมอ: หมออยากให้หนูทำตามที่หมอแนะนำสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีอะไรดีขึ้น แล้วค่อยเลิกกันดีไหม
คนไข้: ทำอะไรคะคุณหมอ
คุณหมอ: ให้ "แสร้งทำว่า "รัก"" เป็นเวลา 3 เดือน
คนไข้: ให้หนูแกล้งทำว่าหนูรักเขาหรือคะ
คุณหมอ: ใช่ครับ ทำเหมือนสมัยเมื่อรักกัน ปฏิบัติกับเขาเหมือนยามที่รักกันใหม่ๆ
คนไข้: ให้หนูทำดีกับเขาเหมือนยามรักกันใหม่ๆ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ดีกับหนูเลยหรอคะ
คุณหมอ: เขาจะเป็นอย่างไรนั้นวางเรื่องไว้ก่อน เราเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ แต่หนูเปลี่ยนตัวเองได้ ขอให้หนูทำดีต่อเขามากที่สุดเท่าที่หนูจะทำได้ ลองเชื่อหมอโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ขอแค่ 3 เดือน หากอะไรๆ ยังไม่ดีขึ้น เราค่อยมาคุยเรื่องเลิกกันดีไหม
1
เธอทำตามที่คุณหมอแนะนำอย่างตั้งใจ แม้จะมีข้อขัดแย้งในใจ
ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสียไปมากกว่านี้ เธอจะลองทำดู
และหากมันได้ผลขึ้นมา ความสัมพันธ์ดีขึ้น เธอก็ไม่ต้องเป็นซิงเกิ้ลมัมและลูกก็จะได้อยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุข
เธอเริ่มต้น "แสร้งทำว่ารัก"
ด้วยการเลิกทำโอทีและรีบกลับบ้านมาทำกับข้าวที่เขาชอบ
เขาจะกลับดึกอย่างไรไม่ก็ไม่ถาม ไม่บ่น ไม่โทรจิก ไม่โกธร ไม่หงุดหงิด
เธอดูแลตัวเองให้กลับมาสวยเหมือนสมัยก่อนมีลูก
ชวนไปเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน ปรับอารมณ์ตัวเองให้ดีที่สุด
เธอพูดขอบคุณ ฟังและชื่นชม แม้ว่าในใจจะไม่อยากทำ
ในบางครั้งเธอแสร้งกอดและบอกรักเขาก่อนเข้านอน
เธอ "แกล้งทำว่ารัก" เขา ทุกๆ วัน ทุกๆ วัน ตามคำแนะนำของคุณหมอ
สามีเริ่มแปลกใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของภรรยา
เขาเริ่มกลับบ้านเร็วขึ้น เพราะภรรยาเตรียมกับข้าวรอและเลิกจู้จี้กับเขา
เขาเริ่มไปเ่ที่ยวกับภรรยาและลูกบ่อยขึ้น
เพราะเธอกลับมาแต่งตัวสวยและน่ารัก
เขาเริ่มมีความสุขขึ้นและอยากอยู่บ้านเล่นกับลูกน้อยในทุกครั้งที่ว่าง
เมื่อพฤติกรรมสามีเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ภรรยาก็เริ่มมีความสุขขึ้นเช่นกัน
ความรักที่เคยถูกฝังกลบ ก่อตัวและเติบโตขึ้นอีกครั้ง
สามเดือนผ่านไป
คุณหมอ: เป็นอย่างไรบ้าง จะเลิกกันเมื่อไหร่ล่ะ
คนไข้: หนูไม่เลิกกับเขาแล้วคะ เขาบอกว่าเขามีความสุขและเขาก็รักหนูคะ
ตามแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมของนักจิตวิทยา Bandura กล่าวว่า พฤติกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยทางสภาพแวดล้อม (Environment) พฤติกรรมของตัวเรา (Behavior) และปัจจัยส่วนบุคคล (Person) (ซึ่งประกอบไปด้วย ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ควาคาดหวัง เป้าหมาย การรับรู้เกี่ยวกับตนเอง ลักษณะทางกายภาพ อายุ เพศฯลฯ)
เมื่อความคิด ความเชื่อเราเปลี่ยน เป็นปัจจัยให้พฤติกรรมตัวเราและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเปลี่ยนตาม
สิ่งแวดล้อมรอบตัว (อาทิ เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน อากาศ สภาพแวดล้อม ฯลฯ) ก็มีผลต่อพฤติกรรมและความคิดความเชื่อของตัวเรา
และก็เช่นกัน พฤติกรรมของเรา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างผลและปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเช่นกัน
ขอยกตัวอย่างเช่น
นิสัยขี้หงุดหงิดของลูกน้อง มีผลต่ออารมณ์ของเจ้านาย
และนิสัยขี้โวยวายของเจ้านายก็มีผลต่อพฤติกรรมของลูกน้อง
เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะกระตุ้นให้เพื่อนมีปฎิกิริยาสนองตอบแตกต่างจากเด็กที่มีพฤติกรรมเรียบร้อย
ปัจจัยทั้ง 3 มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในลักษณะที่กำหนดซึ่งกันและกัน
ดังนั้น
หากเราเปลี่ยนความคิดความเชื่อตัวเองไม่ได้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมหรือสิ่งแวดล้อม
หากเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ได้ก็ลองเปลี่ยนความคิดความเชื่อตัวเองดู
หรือเมื่ออยากเปลี่ยนพฤติกรรมก็ลองเปลี่ยนทัศนคติหรือเปลี่ยนสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา
1
ขอยกตัวอย่าง ชีวิตจริงของผู้เขียน
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานที่ไม่ชอบ อาชีพนั้นคือ Salesman
แต่ต้องทำเพราะเงิน
ฉันต้องทำงานนั้นด้วยความรู้สึกอยากจะลาออกวันละร้อยรอบ
ผ่านมา 15 ปี ฉันกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในอาชีพ
ฉันทำมันได้ดีเพราะ 15 ปีนี้ก็ทำอยู่อย่างเดียว (ฮา)
ในวันนั้นเปลี่ยนใจให้รักไม่ได้ เปลี่ยนงานก็หาใหม่ไม่ได้ ก็เปลี่ยนตัวเองด้วยการลงมือทำ ทำให้ดี ทำให้ได้ แล้ววันนึงใจฉันก็เปลี่ยนไป
ณ วันนี้ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลในอาชีพนี้
เรื่องเล่าของคุณหมอกับคนไข้
เป็นเรื่องที่ฉันเคยได้ฟังจากสถานีวิทยุ แต่จำไม่ได้แล้วว่าคลื่นอะไร
และทฤษฎีการเรียนปัญญาทางสังคมรวบรวมมาจากหนังสือ ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม เขียนโดย อาจารย์สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจและการติดตามนะคะ
เป็นพลังที่ดีเยี่ยมจริงๆ
ส่งยิ้มให้คะ
โฆษณา