18 ต.ค. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
EP.4 | ชีวิตการเงินจะเป็นอย่างไร... ไม่ได้อยู่ที่ "โชค" เเต่อยู่ที่ "Choice"
ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ากระเป๋าคุณ "เลือก" จัดการกับมันอย่างไร ?
ชีวิตของคนเรานั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการ "เลือก" ของตัวเราเองทั้งสิ้น ในแต่ละวันเรามีเรื่องให้ต้องคิดต้องตัดสินใจอยู่ตลอด
บางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่ตัดสินใจไปแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรกับชีวิตมากมาย แต่ก็มีบางเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต ชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยเหมือนกัน
เรื่องเงินเองก็เช่นกันครับ ...
ในแต่ละวันเรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจกับเงินที่ได้รับมาอยู่ตลอด ตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน ทั้งที่เป็นกิจวัตรและที่แวะเวียนมาให้คิดกันเป็นครั้งคราว
- เช้านี้จะขับรถไปทำงานหรือนั่งรถไฟฟ้าดี
- มื้อกลางวันจะกินข้าวที่ไหน
- จะกินธรรมดาหรือกินหรูดี
- ของที่อยากได้แต่ราคาแพงสักหน่อย จะซื้อเลยหรือรออีกสักนิดดีกว่ากัน
- ถ้าซื้อเลยจะซื้อด้วยเงินสดหรือเงินผ่อน
- เงินไม่พอใช้ ทำยังไงดี ยืมคนอื่นดีไหม
- เพื่อนโทรมาชวนลงทุนจะลงเงินกับเขาเลยดีหรือเปล่า
- พี่ที่ทำงานมาขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ควรช่วยหรือเปล่า
- หุ้นลงเยอะมากขายทิ้งดีหรือเปล่า หรือซื้อเพิ่มดี
1
ซึ่งทุกครั้งที่ตัดสินใจเรื่องเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีผลกับสภาพคล่อง และ สถานะทางการเงิน ของเราทั้งสิ้น
โค้ชหนุ่มจึงได้เเนะนำหลักการในการพิจารณาในการตัดสินใจกับเงิน 2 ข้อครับ
1) ทุกครั้งที่ได้เงินมาให้ "เลือก" จ่ายให้ตัวเองก่อน
คือ การหักเงินออมไว้ให้ตัวเองก่อนนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย ซึ่งโค้ชหนุ่มบอกว่า อัตราการหักออมที่เหมาะสมคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละเดือน
เพราะเวลาเราหักออมก่อนใช้จ่ายไม่ว่าจะในรูปของเงินฝาก กองทุนรวม หรืออื่นๆ ทั้งหมดคือ “ทรัพย์สิน”ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น
ลองคิดดูว่า ถ้าเราหักเงินให้ตัวเองก่อนเป็นประจำทุกเดือนในขณะเดียวกัน หนี้ที่มีก็ผ่อนจ่ายตามกำหนด
เมื่อหักเงินต้นลงไปเรื่อยๆจนหนี้หมด สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละปีเวลาสรุปงบการเงินประจำปีก็คือ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง
ลองคิดต่อดูว่า ถ้าเราทำงานต่อไปจนครบอายุงานในอีก 40 ปี ถ้าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทุกปี หนี้สินลดลงทุกปี เเละเป็นอย่างนี้ไปจนถึงวันเกษียณที่หนี้สินกลายเป็นศูนย์ เหลือแต่ทรัพย์สินที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงาน ชีวิตหลังเกษียณจะมีความสุขมากแค่ไหน
2) ทุกครั้งที่ต้องการใช้จ่าย "เลือก" โดยยึดหลักสภาพคล่อง
หลักการนี้ง่ายมาก ทุกครั้งที่ต้องตัตสินใจจ่ายเงินออกไป หรือกู้ยืมเงินมาใช้ ให้คิดถึงผลที่ตามมาจากการตัดสินใจทุกครั้ง ว่าถ้าเกิดเลือกทำแบบที่คิด แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันจะดีหรือร้ายต่อสถานะการเงินของเรา แล้วค่อยตัดสินใจเลือก "ทำ" หรือ "ไม่ทำ"
ยกตัวอย่างเช่น
นายประยุทธ์ เป็นพนักงานประจำในกรุงเทพฯ มีรายได้รวมต่อเดือน 30,000 บาท หักค่าใช้จ่ายเหลือเก็บเดือนละ 3,000 บาท
ปกตินายประยุทธ์เดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า โดยมีค่าเดินทางเดือนละประมาณ 3,000 บาท
นายประยุทธ์จึงรู้สึกว่าอยากยกระดับชีวิตของตัวเอง ด้วยการซื้อรถถังส่วนตัว ราคา 3 ล้านบาท เพื่อใช้เดินทางไปทำงานเเทนรถไฟฟ้า
ซึ่งถ้าหากนายประยุทธ์ตัดสินใจซื้อรถถัง นายประยุทธ์ต้องวางเงินดาวน์ 30,000 บาท โดยมีภาระผ่อน 5,000 บาทต่อเดือน
เเน่นอนว่าถ้านายประยุทธ์ตัดสินใจซื้อรถครั้งนี้ สภาพคล่องของนายประยุทธ์จะติดลบ 2,000 บาท (3,000-5000) ซึ่งมันจะส่งผลร้ายต่อสถาณะการเงินของนายประยุทธ์ทันที
เพราะฉะนั้น หากไม่ต้องการให้การใช้จ่ายส่งผลร้ายต่อสถานะการเงินของตัวเอง นายประยุทธ์ต้อง ยึดหลัก “สภาพคล่องทางการเงิน” ก่อน “สภาพคล่องทางสังคม” ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้เงินในครั้งนี้
เพราะแน่นอนว่าการจะซื้อรถเพื่อขับขี่ยกระดับชีวิตตัวเอง มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวรถเอง สภาพแวดล้อมและชุมชนการเดินทางไปทำงาน เพราะถ้ารถติด การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเเบบเดิมน่าจะดีกว่า ไหนจะค่าน้ำมันซึ่งถ้าขับในกรุงเทพฯ ก็คงต้องมี 3,000 เป็นอย่างน้อย
แต่ปัจจัยหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือปัจจัยทางการเงิน และหลักสำคัญในการ ตัดสินใจก็คือ เรื่องของ “สภาพคล่อง” นั่นเอง
ตลอดชีวิตการทำงาน ในทุก 30 วันนั้น มีเงินรายได้ไหลผ่านเข้ามือของเราตลอดแถมในบางจังหวะบางครั้งก็อาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เราต้องคิดและตัดสินใจให้ตีว่า “จะทำอย่างไรกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มา”
1
โค้ชหนุ่มบอกว่า “เรื่องการเงินไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด และไม่มีคำตอบที่ใช้ได้กับทุกรูปแบบชีวิต คนแต่ละคนต้องออกแบบชีวิตตัวเอง วางแผนการเงินของตัวเอง และ ตัดสินใจ "เลือก" วิธีการบริหารจัดการเงินในแบบฉบับของตัวเอง”
เเละจำเอาไว้ว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกจัดการเงินของคุณอย่างไร คุณก็จะเป็นผลลัพธ์ทางการเงินในแบบที่คุณเลือก
ดังนั้น ตัดสินใจกับ "เงิน" ของคุณให้ดี
หากถูกใจบทความนี้ ก็อย่าลืมกดไลค์ กดเเชร์ เเละกดติดตามเพจ "สมองไหล" กันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ ที่มีมาเสริฟให้คุณทุกวัน
ขอบคุณครับ 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา