18 ต.ค. 2019 เวลา 10:47 • ไลฟ์สไตล์
สัมพันธภาพของความความรักที่ดี
ต้องอยู่ในสถานะ "ฉันโอเค" "คุณก็โอเค"
I'm O.K. - You're O.K.
ฉันโอเค และก็อยากให้คุณก็โอเค
ความสัมพันธ์หรือความรักที่อยู่ในสถานะ I'm OK. - You're OK.
เป็นความสัมพันธ์ที่มีการยอมรับ เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
มีความจริงใจ เป็นตัวของตัวเอง (Autonomy)
กล้าคิดกล้าทำเต็มศักยภาพ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่ดี
ไม่เสแสร้งเพียงเพื่อต้องการความรัก ความเอาใจใส่หรือยอมรับจากผู้อื่น
เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์อยู่ในสถานะ
I'm O.K. - You're not O.K.
I'm not O.K. - You're O.K.
และ I'm not O.K. - You're not O.K.
จะเป็นการกระตุ้นให้ฝ่าย not O.K. เกิดความรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า
ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ก่อให้เกิดความเครียด รู้สึกถูกคุมคาม
ทำให้ต้องสร้างกลไกปกป้องตัวเอง
เพื่อเอาตัวรอดหรือหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ
และเพื่อพยายามปกป้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้
เมื่อต้องตกอยู่ภายใต้สถานะการสร้างกลไกป้องกันตนเอง
เป็นระยะเวลานาน จะทำให้รู้สึกหมดพลัง
มีผลต่อร่างกายและจิตใจในรูปแบบต่างๆ
เช่น ปวดหัว ซึมเศร้า กังวล เครียด ฉุนเฉียว ฯลฯ
และในที่สุด ก็จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ขอยอมแพ้
ยกธงขาว เดินออกจากความสัมพันธ์นี้ไป
ใครบางครั้งที่เดินจากไป
ตามทฤษฎีการให้การปรึกษาแบบวิเคราะห์สัมพธภาพของ
จิตแพทย์ อีริค เบิร์น ชาวแคนนาดา
ได้สร้างทฤษฎีทรรศนะในการมองตนเองและผู้อื่น
ที่เป็นตัวกำหนดตำแหน่งชีวิต (Life Position) ของตนเองและผู้อื่น ดังนี้
จิตแพทย์ อีริค เบริ์น ชาวแคนาดา
I'm O.K. - You're O.K. การมองว่าตนเองและผู้อื่นมีคุณค่า ยอมรับและเข้าใจกันและกัน กล้าที่จะปรับตัวและแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างสรรค์
I'm O.K. - You're not O.K. การมองว่าตนเองดี เก่ง และเหนือกว่าผู้อื่น
วางอำนาจ ดูถูกและมักโทษหรือโยนความผิดให้ผู้อื่น
I'm not O.K. - You're are O.K. การมองว่าตนเองด้อยกว่า ผู้อื่นเก่งกว่า
ดีกว่า เก็บกด โทษตนเองในทุกเรื่อง มักหนีปัญหาและยอมแพ้
I'm not O.K. - You're are not O.K. การมองว่าตนเองและผู้อื่นไม่ดี
ไม่มีคุณค่า มักมีความรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง ปราศจากความหวัง
ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคจิต โรคประสาท
นอกจากนี้ Satir นักจิตบำบัดและพัฒนาตนเอง
ให้แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ของคนว่า
รูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์และ
การเรียนรู้ในวัยเด็ก เพื่อให้เราได้รับความรัก การยอมรับ
การยืนยันคุณค่าในตัวเรา โดยความรักและการยอมรับนั้น
บางครั้งแลกมาด้วยความรู้สึกปวดร้าวในใจ การเสียความเคารพในตนเอง และนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจ
Virginia Satir นักจิตบำบัดสตรี ชาวอเมริกา
อาทิเช่น ยามเมื่อเราเป็นเด็ก เรารับรู้ว่าถ้าเราร้องไห้ แกล้งน้อง
หรือทำตัวไม่ดี เราจะไม่ได้รับการยอมรับ จะโดนตำหนิ จะไม่ได้รับความรัก
แต่ถ้าหากเราเชื่อฟังผู้ใหญ่ หัวเราะ ยิ้มแย้ม เป็นเด็กดี
เราจะได้รับคำชม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและได้รับการยอมรับ
เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์การเรียนรู้
ความคิดความเชื่อที่บิดเบือนในวัยเด็กนั้น ยังติดตามเรามา
บางครั้งเรายังต้องปกป้องตนเองไม่ให้ถูกทิ้ง
เราต้องทำตนเองให้เป็นที่รัก เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ
ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งหรือถูกปฏิเสธ
โดยที่เราลืมไปว่า เราไม่ใช่เด็กแล้ว
เราสามารถดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเองให้สมบูรณ์ได้ 100%
เราสามารถรักตัวเองและต้องสนองความปรารถนาของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์
Satir ได้ให้แนวคิดความสัมพันธ์ของคนได้ 5 แบบ ดังนี้
1. ยอมตาม - ทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้อื่นพอใจ ให้ความสำคัญกับคนอื่นมาก ชอบโทษตัวเอง ชอบพึ่งพาคนอื่น เสียใจและน้อยใจง่าย มอบอำนาจให้ผู้อื่น เพราะหวังว่าเขาจะไม่ปฏิเสธและทิ้งเราไป (พบได้ > 50%)
2. โทษผู้อื่น - ชอบโยนความผิดให้ผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม จับผิด ติเตียน
คาดหวังคนอื่นสูง ให้ความสำคัญแต่ตัวเอง ชอบตัดสินคนอื่น
ทำให้คนอื่นกลัวจะได้ไม่กล้าทิ้งตน ทำให้ตนเองสำคัญโดยการแสดงความก้าวร้าว (พบได้ 30%)
3. เจ้าเหตุผล - มีเหตุผลไปซะทุกเรื่อง ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและใครๆ นักคิดแต่ไม่มีหัวใจ ไม่ยืดหยุ่น ย้ำคิด รายละเอียดมาก ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมหรือกายภาพรอบตัว แม้ไม่มีความรู้สึก
แต่ส่วนลึกๆ จะรู้สึกเหงา ว้าเหว่ และโดดเดี่ยว (พบได้ 15%)
4. เฉไฉ - หลีกเลี่ยงที่จะรู้สึก มองว่าทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา ไม่อยากรับรู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน ไม่ต้องการตัดสินใจอะไร เพราะเป็นคนอ่อนไหวมาก
รับความเครียดไม่ได้ ไม่เอาอะไรสักอย่าง ตัดทิ้งหมดทุกอย่างทั้งตนเอง
ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมนอกตัว (พบได้ประมาณ 5%)
5. สอดคล้องกลมกลืน - เติมเต็มความปรารถนาของตัวเองได้ ดูแลความต้องการของตนเองได้ อยู่กับตนเองได้ มีความสงบ เปิดเผย รักตัวเองและคนอื่นได้ รู้ว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องพยายามตอบสนองความต้องการของผู้อื่น ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือคนอื่นแต่ก็รู้ว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของตนทั้งหมด ยอมรับ เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
เราจะเห็นได้ว่า บางครั้งตัวตน ความคิด ความเชื่อของเราที่เกิดจาก
การเรียนรู้ในวัยเด็ก อาจมีความบิดเบือน
นำมาซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและผู้อื่นที่ผิดเพื้อน
โดยที่เราไม่รู้ตัว
จริงๆ แล้วคนเราต้องการเพียงใครสักคนที่รักเรา
ยอมรับเรา เห็นคุณค่าในตัวเรา
และรู้สึกปลอดภัยเสมอเมื่ออยู่ด้วย
แต่เราลืมไปว่า โดยธรรมชาติแล้ว
เราไม่สามารถทำให้ทุกคนรักเรา ยอมรับเรา
และตอบสนองความต้องเราได้ทุกอย่าง
ตามที่ Satir และอีริค เบริ์น กล่าวไว้ข้างต้น
บุคคลสามารถที่จะเติมเต็มความปรารถนา
และดูแลตัวเองได้ อยู่กับตนเองได้
โดยการเข้าใจ เห็นคุณค่า และยอมรับในตนเองได้
ซึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็คือ การรักตนเอง (Self-Love)
เหมือนดั่งที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในเพจเรียกว่า
เริ่มต้นรัก เริ่มต้นได้ที่รักตนเองก่อน
และค่อยแบ่งปันรักนั้นต่อไป
ไม่มีเงินในกระเป๋า ก็ไม่สามารถแบ่งเงินให้ใครได้ ฉันใด
ไม่มีรักในตน ก็อย่าได้ริรักผู้ใดเลย ฉันนั้น
ตกหลุมรักตัวเอง
การรู้จักตนเองและเข้าใจตนเอง (การตระหนักรู้ในตนเอง)
ก็เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับตนเองและผู้อื่น
ตามหลักจิตวิทยา การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness)
ไม่ได้หมายถึงแค่การมีสติ ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการเข้าใจในบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยของตนเอง เป้าหมาย
การทราบถึงจุดมุ่งหมายในชีวิต ฯลฯ
การตระหนักรู้ในตนเอง จะทำให้เรารู้วิธีการสร้างและออกแบบรักในตนเอง
มีแบบทดสอบทางเกี่ยวกับจิตวิทยามากมายเพื่อให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น
(ผู้เขียนจะรวบรวมข้อมูลเพื่อมาแบ่งปันในเพจถัดไปนะคะ)
มาดูแลตัวเองและรักตัวเองกันเถอะ
ทุกความสัมพันธ์สามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเราเอง
เริ่มจากการเปลี่ยนตนเองก่อน (ทั้งพฤติกรรมและความคิด)
แล้วโลกภายนอกจะเปลี่ยนตาม
(ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในเพจที่ 2 เรื่อง แสร้างทำว่ารัก ลองไปอ่านดูนะคะ)
หรืออาจขอคำปรึกษาจากจิตวิทยา ในกรณีที่ปัญหาใหญ่เกินตัวเรา
ผู้เขียนจะหาความรู้สนุกๆ ของการเพิ่มพูนความรักความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ
และพัฒนาความเป็นคนทั้งคนในตัวเรา (Fully human) มาแบ่งปันอีก
อย่าลืมกดติดตามกันนะคะ
วันนี้ทฤษฎีเยอะไปหน่อย อาจปวดหัวได้เล็กน้อย (ฮา)
ขอบคุณที่อ่านมาถึงบรรทัดสุดท้าย
ขอให้มีความสุขและเติบโตไปด้วยกัน
แล้วเจอกันนะคะ
รักคะ
บทความเกี่ยวกับทฤษฎีและแนวคิดทางจิตวิทยาข้างต้น
รวบรวมมาจากหนังสือ
1. ซาเทียร์ จิตบำบัดและการพัฒนาตนเอง
เขียนโดย อ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ และอ.นิดา ลิ้มสุวรรณ
2. แนวคิดทางการแนะแนวและทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
เขียนโดย รศ. ดร. นรา สมประสงค์ และ ผศ. ดร. นุชลี อุปภัย
เครดิตภาพ จาก Pinterest
โฆษณา