18 ต.ค. 2019 เวลา 12:51 • ไลฟ์สไตล์
ทุกอย่างจบลงด้วยดี (สำหรับเรา)
ในที่สุดลูกชายก็ได้กลับบ้าน หลังจากให้น้ำเกลือสองถุง ไม่มีการทำซีทีสแกน ไม่มีการผ่าตัดไส้ติ่ง เพราะพ่อยังยืนยันคำเดิม ให้เฝ้ารอดูอาการ ถ้าเกิดปวดท้องแบบรุนแรงขึ้นมาค่อยสแกนดูว่าไส้ติ่งอักเสบหรือไม่
ไม่ได้เก่งกว่าหมอ ไม่ได้ไม่เชื่อฟังหมอ แต่ไม่อยากให้ลูกชายเจ็บตัวโดยไม่มีเหตุอันควร และอีกอย่างหนึ่งการผ่าตัดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ปรารถนาของทุกคน (ยกเว้นผ่าตัดเสริมความงาม น่าจะมีคนปรารถนาอยู่นะ) และเราก็ไม่ได้มาหาหมอด้วยอาการของไส้ติ่ง มันไม่ได้อยู่ในความคิดเลยว่าจะเกี่ยวกับไส้ติ่ง
หลังจากนอนโรงพยาบาลหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้นบอกหมอว่าขอกลับ เพราะไม่มีอาการอะไรแล้ว ไม่ปวดท้อง ไม่อาเจียน ไม่ท้องเสีย และกินอาหารได้ หมดค่าใช้จ่ายไปหนึ่งหมื่นนิดๆ ถ้าทำซีทีสแกนอาจจะหมดมากไปกว่านี้ ถามว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจรักษาโรคหรือไม่ อาจจะมีส่วนแต่ไม่ใช่ตั้งหมด คนที่ตัดสินใจไปโรงพยาบาลที่ใดที่หนึ่งโดยสมัครใจน่าจะพร้อมสำหรับค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาถ้าสมเหตุสมผลและคนไข้สบายใจ ผมเชื่อว่าทุกคนพร้อมจะจ่าย ขออย่างเดียวอย่าให้เสียตังแล้วต้องเจ็บตัวฟรีอีก
ยังคิดอยู่ว่าถ้าใครต้องรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยที่ไม่ได้เป็นโรคนั้น ด้วยการวินิจฉัยโรคผิดพลาด หรือด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งก็ตาม หากมารู้ทีหลังว่าไม่ได้เป็นโรคนั้น จะรู้สึกอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือคนไข้หรือญาติจะต้องมั่นใจว่าเราน่าจะเป็นโรคนั้นจริง หรือไม่ก็ควรจะมีการตรวจยืนยันสักสองที่ (แต่อย่างว่าบางโรคอาจจะไม่สามารถยืนยันหลายที่ได้ ต้องรักษาทันที) อันนี้ก็อาจต้องบอกว่าแล้วแต่กรรมของใครของมันแล้วละครับ
ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้คนใกล้ชิดหลายคนฟัง หลายคนบอกว่าถ้าเป็นเขาคงทำตามที่หมอบอกทุกอย่าง คงไม่กล้าเถียงหรือขัดขืน โรงพยาบาลให้ตรวจอะไรก็ต้องตรวจ
ผมเพียงบอกว่า ขอให้หยุดอ่านสิทธิของผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่จะติดกันไว้หลายๆ ที่ในโรงพยาบาล บางทีการตัดสินใจของเขาอาจเปลี่ยนไปในการรักษาครั้งต่อๆไป
ทุกอย่างจบลงด้วยดี(สำหรับเรา) แต่ไม่รู้ว่าจบลงด้วยดีสำหรับความคาดหวังของโรงพยาบาลหรือไม่...?
โฆษณา