18 ต.ค. 2019 เวลา 13:29 • การศึกษา
เทคนิคการนำกิจกรรมเพื่อฝึกอบรม
หลังจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลำดับการนำกิจกรรม ตัวอย่างกิจกรรมละลายพฤติกรรม และกิจกรรมกลุ่มเพื่อการสร้างทีมกันไปแล้ว ในบทนี้เราจะมาเรียนรู้เทคนิคการนำกิจกรรมให้มีความสนุกและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ก่อนที่จะเรียนรู้เทคนิคอะไรมากมายจนปวดหัว
ต้องบอกก่อนว่าสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อต้องนำกิจกรรม
คือตัวผู้นำกิจกรรมเอง ควรเป็นธรรมชาติ สบายๆ พูดเสียงดังฟังชัด บางทีได้เทคนิคอะไรไป ก็จัดเต็ม ใส่อะไรมากมายจนกลายเป็นการยัดเยียด ซึ่งมันจะไม่เป็นธรรมชาติจนทำให้การนำกิจกรรมดูขัดๆ ฝืนๆ ลุกลามไปถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สามารถรับรู้อาการเหล่านี้ได้และเกิดการขัดๆฝืนๆตามมา จนทำให้บรรยากาศในการทำกิจกรรมเสียไปด้วย
เทคนิคข้อแรก การเปิดตัวผู้นำกิจกรรม ต้องสร้างความประทับใจและสามารถเรียกความสนใจได้
การเปิดตัวที่ดีมีประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือในกิจกรรม ไม่ต้องลากยาวเล่นมุกยืดเยื้อ แค่แนะนำตัวเองและขอเสียงปรบมือแค่นี้ก็ได้ เป็นการเรียกความสนใจเบื้องต้น ส่วนใครจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปก็แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนครับ
ตำแหน่งการยืน ผู้นำกิจกรรมควรยืนในจุดที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองเห็นได้ชัดจากทุกตำแหน่ง
ผู้นำกิจกรรมที่ดีจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสายตา(Eye contact)กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยภาพรวม
พยายามกวาดสายตามองไปรอบๆเพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดในการพูดคุย สื่อสาร
ไม่จำเป็นต้องยืนนิ่งในจุดใดจุดหนี่ง สามารถเดินไปมาเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวและทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
ขั้นตอนการนำเกมต้องไหลลื่นไม่ติดขัด ยิ้มแย้ม และฉายแววแห่งความมั่นใจออกมา เกมที่มีความซับซ้อนควรอธิบายพร้อมทั้งสาธิตวิธีการเล่นให้เข้าใจง่าย
เมื่อสถานการณ์ในเกมวุ่นวาย และอยากดึงสมาธิของผู้เล่นให้มาสนใจเรา
อย่าลืมสุดยอดเคล็ดลับสำคัญในการนำกิจกรรม
นั่นก็คือ การสร้างรหัส เฮ้ๆ ฮ่าๆ อะไรก็แล้วแต่ เพื่อเรียกสมาธิก่อนจะอธิบายกติกาเกมต่อไป
Curve และการรักษาความสนุก
ทฤษฎีหนึ่งที่ผมร่ำเรียนมาตั้งแต่สมัยยังวัยละอ่อน คือการรักษา Curve ทฤษฎีนี้ บอกว่าความสนุกของเกมแต่ละเกมจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดหนึ่งที่เกมนั้นสนุกที่สุด(Peak)
ซึ่งเมื่อการนำเกมดำเนินมาถึงจุดนี้ผู้นำเกมควรหยุดและเปลี่ยนเกมใหม่โดยยังคงความต่อเนื่องของเกมไว้ ไม่ใช่ถึงจุดPeakแล้วนิ่งหยุดเกมในทันที
ควรหยุดและเปลี่ยนเกมให้แนบเนียนต่อเนื่องไม่สะดุดหรือติดขัด
คำถามคือแล้วเมื่อไหร่จึงจะรู้ว่าถึงจุดPeak แล้ว? คำตอบคือ ผู้นำกิจกรรมต้องสังเกตอารมณ์โดยรวมของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถ้ารู้สึกว่าเกมดำเนินมาถึงจุดที่สนุกที่สุดแล้วให้หยุดและเปลี่ยนเกม (เมื่อมีประสบการณ์นำเกมไปได้ระยะหนึ่ง จะทราบด้วยตัวเองว่าตรงไหนคือจุดที่เหมาะสมในการเปลี่ยนเกม)
เพลงและขั้นตอนการนำ
บ่อยครั้งที่เราต้องเบรคอารมณ์กิจกรรม หรือผ่อนคลายบรรยากาศการสัมมนาด้วยเพลง ซึ่งถ้าจะคว้ากีตาร์มาดีดแล้วร้องเพลงตลาดที่ใครๆก็ร้องได้ คงไม่มีปัญหาอะไร
แต่เพลงที่ใช้ในกิจกรรมนั้น มันไม่ใช่เพลงที่ร้องกันทั่วไป แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเราได้รวบรวมลำดับขั้นตอนการนำเพลงที่น่าจะเข้าใจง่ายและรวดเร็วมาไว้ในบทนี้แล้วเช่นกัน และเพลงที่นำมาใช้ในการทำกิจกรรมนั้นไม่ควรยาวเกินไป เนื้อหาและท่วงทำนองต้องสนุกสนาน สร้างสรรค์ไม่ลามก
ลำดับการนำเพลงที่ผมใช้จะเรียงตามลำดับนี้ครับ
1. สอนเนื้อเพลงโดยให้พูดตามทีละท่อน
2. ร้องให้ฟังหนึ่งรอบ
3. ร้องพร้อมๆกันหนึ่งรอบ (ให้คึกคักพร้อมเพรียงสนุกสนาน)
4. ถ้ามีท่าเต้นสอนท่าเต้นประกอบช้าๆ ทีละท่า โดยให้ผู้ร่วมกิจกรรมทำตาม
5. เต้นรวมพร้อมกัน (อาจปิดท้ายด้วยการส่งตัวแทนที่เต้นโดดเด่นมาประชันความสามารถกัน)
ลำดับการนำทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ เป็นพื้นฐานทั่วไปที่โดยส่วนใหญ่ใช้กัน ซึ่งถ้าเพลงนั้นเป็นเพลงสั้นๆ ประโยค สองประโยค ผมก็ข้ามขั้นตอนแรกไปเลย คือ ร้องให้ฟังสองรอบ ร้องกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งรอบแล้วสอนท่าเต้นเลย
การนำกิจกรรมโดยใช้เพลง เราจะใช้กันบ่อยกับกลุ่มเยาวชน ส่วนการอบรมพนักงานในองค์กร ผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารผมไม่ค่อยได้ใช้กิจกรรมเพลง
เพราะตัวกิจกรรมมุ่งเน้นผลทางด้านความร่วมมือในการทำงานร่วมกันมากกว่าด้านนันทนาการ ที่ผมผมใส่เนื้อหาการนำเพลงมาด้วยก็เพื่อให้ครอบคลุมกับการนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมทั่วไปได้
หลังจากบทความนี้ผมขอจะคั่นด้วยบทความที่เป็นเรื่องราวบันดาลใจในทำงานร่วมกันบ้างนะครับ
เพราะใส่เนื้อหามาเต็มๆ 7 บทความแล้ว เดี๋ยวจะพาลเบื่อไปเสียก่อน และเพื่อไม่ให้เพจมีแต่เรื่องที่เฉพาะกลุ่มเกินไป
ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา