19 ต.ค. 2019 เวลา 14:59 • ไลฟ์สไตล์
[ทำไมนะ รักของฉัน มันถึงได้ยากเย็นขนาดนี้นะ]
เทคนิคทางจิตวิทยาที่เปลี่ยนความรักยากๆ ให้เป็นเรื่อง "กล้วยๆ"
ทำไมนะ รักของฉันมันถึงยากเย็นขนาดนี้
ทำไมนะ
ฉันรักเขาสุดหัวใจ
ฉันทำทุกอย่างในสิ่งที่ฉันคิดว่าจะทำให้เขามีความสุข
ฉันทุกเท
ฉันเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ฉันให้ของขวัญเขามากมาย
แต่ดูเหมือนว่า เขาจะไม่มีความสุขกับความรักของฉันเลย
ฉันรักเขามากขนาดนี้
ทำไมเขาถึงดูเหนื่อยกับความรักของฉันจัง
ทำไมรักของฉัน มันถึงได้ยากเย็นขนาดนี้นะ
บางครั้งสิ่งที่เราให้ไป อาจจะยังไม่ใช่ สิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า
เรามาเรียนรู้เทคนิคง่ายๆ ทางจิตวิทยา
ที่จะทำให้รักของเราดีขึ้นดีกว่าคะ
1. ให้ความสนใจเขา มากกว่าทำตัวเองให้น่าสนใจ
- ในงานปาร์ตี้แห่งนึง ผู้คนต่างพากันแต่งองค์ทรงเครื่องตัวเอง
เพื่อให้ดูโดดเด่นที่สุด เสื้อผ้า หน้า ผม ทุ่มทุนสร้างให้ดูน่าประทับใจ
มองไปทางไหน ก็มีแต่คนอยากทำตนเองให้เด่น ให้คนอื่นมาสนใจ
แต่เอ๊ะ ทำไมผู้ชายที่แต่งตัวดูธรรมดาๆ คนนึง ดูมีเสน่ห์ซะเหลือเกิน
เขาทักทายคนอื่นด้วยรอยยิ้ม และตามด้วยคำถามสาระทุกข์สุขดิบ
เขาแสดงความสนใจ ใส่ใจ คนรอบข้าง มากกว่าที่จะทำตัวเองให้น่าสนใจ
การแสดงความสนใจและใส่ใจต่อคนอื่น เท่ากับว่า เขานั้นสำคัญสำหรับเรา
มนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ
2. เขาฟังด้วยหัวใจ
- ขอย้ำคำว่า "ฟัง" นะคะ ไม่ใช่ "ได้ยิน"
การฟัง คือ การฟังทั้งหู สายตา หน้าตา ท่าทาง และหัวใจ
ฟังที่สามารถรับรู้ได้ว่า เขาพูดด้วยความรู้สึกอย่างไร
ฟังที่ไม่ต้องมีการแนะนำใดๆ ฟังเฉยๆ
ฟังที่ไม่ต้องตัดสินว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี
ฟังที่ไม่ต้องคิดว่า เขาพูดเสร็จแล้วเราต้องตอบอะไร
รู้ไหมคะ คนส่วนใหญ่ขณะที่ฟังอยู่ มักจะคิดว่า ฉันจะพูดอะไรตอบดี
ทั้งๆ ที่คนพูดยังพูดไม่จบ และไม่ได้ร้องขอคำแนะนำ
สมองทำงานได้ทีละอย่าง เมื่อเราคิดว่าจะพูดอะไรต่อดี
ทำให้สมองเราไม่ได้ฟัง และก็ไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไร
เทคนิคคือ เราต้องฟังจนเขาพูดจบ แล้วนับหนึ่งถึงสาม
ถ้าเขาไม่พูดอะไรต่อ เราค่อยพูด
อย่าพูดแทรกมาในขณะที่เขายังพูดไม่จบ
จำไว้นะคะ อดทนฟังให้จบก่อน แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม
รอว่าเขาจะพูดอะไรต่อไหม
3. ให้คำแนะนำ ด้วยการตั้งคำถาม
- มีงานวิจัยออกมาว่า มนุษย์จะมีความสุขที่สุดเมื่อได้พูดเรื่องของตัวเอง
แล้วก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น เมื่อมีคนฟังอย่างตั้งใจ
การฟังโดยไม่ตัดสินใดๆ เป็นการให้การยอมรับ เคารพ และให้เกียรติผู้พูด
จะทำให้ผู้พูดรู้สึกมีคุณค่า และรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับ
เมื่อผู้พูดถามเพื่อขอคำแนะนำจากเรา
ก็ขอให้เราใช้คำถามที่กระตุ้นให้เขาพูดเรื่องของตัวเขาเองต่อมากขึ้น
เช่น หากเขาถามว่า คุณคิดว่าฉันต้องทำอย่างไรดี
ให้ถามตอบว่าแล้วคุณคิดว่าอย่างไร
คุณต้องการแบบไหน
คุณอยากให้เรื่องราวจบอย่างไร
คุณคิดว่าต้องทำอย่างไร เรื่องราวต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปตามที่คุณต้องการ
ตามทฤษฎีการให้การปรึกษาทางจิตวิทยา กล่าวว่า
โดยธรรมชาติแล้ว คนทุกคนมีคำตอบและทางเลือกของตัวเองในใจอยู่แล้ว
การที่เราตั้งคำถามให้เขาได้พูดออกมา
จะเป็นการช่วยให้สมองเขาได้เรียบเรียงปัญหา
ได้คิดทบทวน ได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ขอย้ำในเรื่องการตั้งคำถามว่า ควรเป็นไปในทางบวกนะคะ
ไม่ควรถามในเชิงตัดสินหรือตำหนิ
ไม่ควรถามว่าทำไมหรือทำอย่างนี้ไปได้อย่างไร
และที่สำคัญไม่ควรถามถึงปัญหาให้มากนัก
แต่ให้ถามถึงวิธีการแก้ปัญหา หรือวิธีการหาทางออกมากกว่า
คนหลายๆ คนที่เป็นโลกซึมเศร้า
ปัญหาจริงๆ คือ ไม่มีใครเคยรับฟังเขา
ไม่เคยมีใครตั้งใจฟังเขาด้วยหัวใจจริงๆ
ไม่เคยมีใครใส่ใจว่าเขารู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร
มีแต่คนหวังดีที่คอยแต่ตักเตือน ให้คำแนะนำ ชี้แนะหนทาง
โดยไม่เคยรู้ว่า วิธีเหล่านี้ คือ การปฏิเสธตัวตนของเขา
การปฏิเสธตัวตนของเขา คือ การไม่ให้การยอมรับและไม่ให้คุณค่า
เราเคยรู้ไหมว่าคนข้างๆ เรา เขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร
เราเคยมองตาเขาเวลาเขาพูดไหม
เราเคยมองหน้า ท่าทาง เวลาเขาเล่าเรื่องต่างๆ ให้เราฟังหรือเปล่า
เราเคยรู้ไหมว่าเขากำลังส่งสารอะไรถึงเรา
รัก คือ การยอมรับ ให้คุณค่า และเคารพในสิ่งที่เขาเป็น
เพียงแค่หันไปฟังเขาด้วยหัวใจ
ให้เขารู้ว่า เขาสำคัญและมีคุณค่ามากสำหรับเราแค่ไหน
วันนี้ขอแบ่งปันไว้ 3 ข้อก่อน
จริงๆ มีเทคนิคเยอะเลยนะคะ แล้วจะมาเล่าให้ฟังใหม่น้า
เจอกันคะ
รักและขอให้หลับฝันดี
เนื้อเรื่องได้แนวคิดมาจาก
หนังสือ ความรักของเจ้าอู๊ดชิตตะกะทำเป็นรู้
และหนังสือ How to Win Friends & Influence People
ภาพจาก Pinterest
โฆษณา