22 ต.ค. 2019 เวลา 10:07 • การศึกษา
ดู "ภาพยนตร์" ให้เป็นมากกว่าสื่อบันเทิง
"ภาพยนตร์" เป็นสิ่งที่ทุกคนเกิดมาต้องเคยได้ยินและได้ดูกันอย่างแน่นอน..ปัจจุบันหากใครอยากดูหนังก็ไปดูกันที่โรงหนัง ไม่เช่นนั้นก็หาดูกันได้ตามอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Nexflix, Ais play เป็นต้น..
แต่ทุกคนเคยตั้งคำถามกันไหมครับว่า.. นอกเสียจากความสนุก ตื่นเต้น ประทับใจที่เราได้จากการดู .. ภาพยนตร์มีกลไกที่แยบยลอะไรกว่านั้นที่ส่งผลต่อตัวเราซึ่งเป็นผู้ชม..
วันนี้ไม้ขีดไฟจะพาทุกคนมา "ดู" "อ่าน" และ "ชำแหละ" สิ่งที่เรียกว่า "ภาพยนตร์" ด้วยกันว่า .. นอกจากความสนุกสนานที่เราได้รับแล้ว ภาพยนตร์มันมีความลึกลับอะไรอื่นที่ซ่อนเอาไว้..
_(1)_แน่นอนว่าในปัจจุบันภาพยนตร์ได้กลายมาเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากทั่วทุกมุมโลก ภาพยนตร์เป็นกิจกรรมยามว่างที่หลายหลายคนชื่นชอบซึ่งไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแต่ช่วงอายุใดช่วงอายุหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการค้นหาสิ่งที่น่าสนใจของคนทุกคน..
_(2)_อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ และคณะ ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของภาพยนตร์เอาไว้ว่า ภาพยนตร์นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสามารถที่จะรวบรวมศิลปะหลากหลายแขนงเข้าเอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม สถาปัตยกรรม การเต้นรำ ดนตรี วรรณกรรม เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นภาพยนตร์ยังถูกมองว่าเป็นพาณิชย-ศิลป์ (commercial art) ด้วย.. พูดกันอย่างง่าย ๆ ก็คือ ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่นำเอาทั้งศิลปะและการค้าผสมเข้าด้วยกัน
_(3)_อันเนื่องมาจากภาพยนตร์มีลักษณะเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีการซื้อขายระหว่างกัน ดันนั้งจากการที่ภาพยนตร์มิได้เป็นเพียงศิลปะทั่วไปที่เป็นงานศิลปะเพื่อศิลปะ (art for art’s sake) แต่มีเรื่องของการค้า กำไรและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจึงส่งผลทำให้ ภาพยนตร์มีสถานภาพในเชิงอุตสาหกรรม
ตัวอย่างภาพยนตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาพจาก: www.marvel.com//imdb.com
_(4)_ภาพยนตร์ในสถานภาพเชิงอุตสาหกรรม คุณสมบัติพื้นฐานหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นของภาพยนตร์เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเป็นสื่อบันเทิง (entertainment) ซึ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจบทบาทของภาพยนตร์ว่าเป็นสื่อที่ให้ความบันเทิงเท่านั้น
_(5)_แต่ทว่าในความเป็นจริงภาพยนตร์สามารถทำหน้าที่และแสดงบทบาทอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกับการสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ เช่น การให้ข้อมูล ข่าวสาร การโน้มน้าวและชักจูง การสร้างทัศนคติและค่านิยม การตอกย้ำ การสร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือค่านิยมเดิม รวมไปถึงการสอดแทรกอุดมการณ์ต่าง ๆ เข้าไปด้วย..
_(6)_ดังนั้นภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจึงร้อยเรียงไปด้วย เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ รวมไปถึงการเมือง ของแต่ละช่วงเวลา ภาพยนตร์จึงเป็นสื่อมวลชนแขนงที่มีความพิเศษ ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า ลักษณะของภาพยนตร์ที่ประกอบไปด้วยภาพและเสียง สามารถสื่อสารความเข้าใจบางอย่างกับคนดูให้เข้าใจได้อย่างง่ายมากกว่าการใช้ตัวอักษรเป็นสื่อนั่นเอง..
_(7)_เราจึงสามารถที่จะตีความภาพยนตร์ รวมไปถึงค้นหาความเชื่อมโยงและหาความสัมพันธ์จากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์กับความเป็นจริงในชีวิตได้นั่นเอง..
_(8)_เมื่อเป็นเช่นนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์สามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นไปของโลกได้อย่างสมจริง ก็เพราะว่า..ภาพยนตร์สามารถนำเสนอได้ทั้งภาพและเสียงที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของคนเราได้นั่นเอง..
_(9)_เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่า.. "ภาพยนตร์" จึงเป็นมากกว่าสื่อบันเทิงที่ทำหน้าที่เพียงมอบความสนุกให้กับผู้ชม แต่ทว่าภาพยนตร์ยังมีความสำคัญในการเป็นสื่อบันเทิงแขนงพิเศษที่มีความสามารถในการถ่ายทอดประสบการณ์ สำนึก ความคิดร่วมกันของผู้คนจำนวนมาก รวมไปถึงยังมีบทบาทในการให้ข้อมูล ข่าวสาร การโน้มน้าวและชักจูง การสร้างทัศนคติและค่านิยม การตอกย้ำ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือค่านิยมเดิม รวมไปถึงการสอดแทรกอุดมการณ์ต่าง ๆ เข้าไปได้ด้วยเช่นกัน
ภาพยนตร์ "ฟ้าใสใจชื่นบ้าน" ภาพจาก: Bloggang.com
_(10)_ตัวอย่างภาพยนตร์ที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง "ฟ้าใสใจชื่นบาน" ที่มีการดำเนินเนื้อหาด้วยอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ โดยแก่นเรื่องพยายามนำเสนอว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แท้ที่จริงแล้วดีจริงหรือไม่ ? ซึ่งเป็นการเล่าเนื้อหาผ่านความตลกนั่นเอง .. ตัวอย่างภาพยนตร์ที่เด่นชัดอีกชิ้นคือ .. "กอด" ที่เนื้อหาพยายามนำเสนอชายคนหนึ่งที่เกิดมามี 3 แขน จึงเกิดความแปลกประหลาดไปจากคนธรรมดา โดยตัวละครต้องตัดสินว่าจะตัดแขนดีหรือไม่ .. หากดูโดยไม่คิดอะไรเราก็คงไม่นึกถึงประเด็นทางการเมืองที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยซึ่งก็คือประเด็นเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้นั่นเอง..
ภาพยนตร์ "กอด" ภาพจาก: Bloggang.com
** จากที่เล่ามาผู้เขียนหวังว่าทุกคนคงจะเห็นกลไกอันแยบยลของ "ภาพยนตร์" ในการส่งทอดความคิดความเชื่อบางอย่างมายังผู้ชม ซึ่งในช่วงเวลาต่อจากนี้ ทุกคนคงจะดูหนังกันอย่างสนุกมายิ่งขึ้นนะครับ ..
***หากชอบฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามเพจไม้ขีดไฟเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ ..
___รายการอ้างอิง___
- ภัทรภร ธัญเสรี. (2553). ความเป็นจีนในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ที่ฉายต่างประเทศ. (วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
- กนกพรรณ วิบูลยศริน. (2547). การเปรียบเทียบภาพตัวแทนของผู้หญิงสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ในภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์อเมริกัน. (วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
โฆษณา