24 ต.ค. 2019 เวลา 18:01 • การศึกษา
ตรัสรู้
เจ้าชายสิทธัตถะได้ศีกษาจนจบเรื่อง
อากาสานัญจายตนะ โดยจะเข้าจตุตถฌานในกสิณกองใดกองหนึ่งแล้วให้เพิก คือไม่สนใจในกสิณนิมิตนั้นเสีย ใคร่ครวญว่า กสิณนิมิตนี้เป็นอารมณ์ที่มีรูปเป็นสำคัญ ความสุข ความทุกข์ ที่เป็นปัจจัยของภยันตราย มีรูปเป็นต้นเหตุ เราไม่มีความต้องการในรูปแล้วละรูปนิมิตกสิณ นั้นถืออากาศเป็นอารมณ์จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วย่อให้สั้นลงมา อธิษฐานให้เล็กใหญ่ได้ตามประสงค์ ทรงจิตรักษาอากาศไว้โดยกำหนดใจว่า อากาศหาที่สุด มิได้ดังนี้จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ เป็นฌาน ๔ ในอรูปฌาน
และ เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ กำหนดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งมีสัญญาอยู่นี้ก็ทำความรู้สึกเหมือนไม่มีสัญญา คือไม่ยอมรับรู้จดจำอะไรหมด ทำตัวเสมือนหุ่นที่ไร้วิญญาณ ไม่รับรู้ ไม่รับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น หนาวก็รู้ว่าหนาวแต่ไม่เอาเรื่อง ร้อนก็รู้ว่าร้อนแต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย มีชีวิตทำ เสมือนคนตาย คือไม่ปรารภสัญญาคำจดจำใด ๆ ปล่อยตามเรื่องเปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นเอกัคคตาและอุเบกขารมณ์
แต่ยังไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสีย
ครั้นพระองค์พบว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่ระหายในกาม ไม่เร่าร้อนเพราะกาม ละได้ด้วยดี ให้สงบระงับด้วยดีในภายใน ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ถึงจะไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าเผ็ดร้อนอันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ก็ควรเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อปัญญา เครื่องตรัสรู้ อันไม่มีกรรมอื่นยิ่งกว่าได้.
จึงเริ่มบำเพ็ญทุกข์กิริยาจนใกล้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
[๕๐๔] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่ง ก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่ง ก็เพียงเท่านี้ จักไม่ยิ่งไปกว่านี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ได้เสวยอยู่ซึ่งทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่ง ก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้. แต่เราก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส (ความรู้ความเห็นของพระอริยะอันวิเศษอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์) ด้วยทุกกรกิริยาที่เผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางเพื่อรู้อย่างอื่นกระมังหนอ.
๕๐๕] ดูกรราชกุมาร อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราจำได้อยู่ เมื่องานวัปปมงคลของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนี้แลหนอ พึงเป็นทางเพื่อตรัสรู้. อาตมภาพได้มีความรู้สึกอันแล่นไปตามสติว่าทางนี้แหละ เป็นทางเพื่อตรัสรู้. อาตมภาพได้มีความคิดเห็นว่า เราจะกลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมหรือ. และมีความคิดเห็นต่อไปว่า เราไม่กลัวแต่สุขซึ่งเป็นสุขเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมละ. การที่บุคคลผู้มีกายผอมเหลือเกินอย่างนี้ จะถึงความสุขนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ครั้นอาตมภาพบริโภคอาหารหยาบมีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
[๕๐๖] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. อาตมภาพนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพนั้น ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่หนึ่งที่อาตมภาพได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
[๕๐๗] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อาตมภาพนั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้. ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สองที่อาตมภาพ ได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
[๕๐๘] อาตมภาพนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา. เมื่ออาตมภาพนั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. 
ดูกรราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่สาม ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
อันข้อความเหล่านี้ได้มีการตัดต่อไปบางส่วน หากผิดพลาดประการใด ขออโหสิกรรมด้วย เพื่อให้ผลบุญนี้เป็นทางสู่พระนิพพานสาธุ
โฆษณา