28 ต.ค. 2019 เวลา 02:55 • ปรัชญา
Inside out (2015)
แอนิเมชั่นที่ว่าด้วยอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์
กับการฝึก "จิต" เพื่อเฝ้าดูอารมณ์ และ วิถีจิต 17 ขณะ ของพุทธศาสนา
ก่อนเขียนบทความนี้ ผมได้เกริ่นนำไว้ก่อนแล้วว่าจะเขียนถึงหนังเรื่องนี้ โดยผมเชื่อมาตลอดว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้คงเป็นหนึ่งในหนังที่หลายคนน่าจะเคยดูกันมาแล้ว...
แต่จากที่ได้อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆหลายคนที่เข้ามาแสดงความเห็น ทำให้รู้ว่า...ผมคิดผิด
เพราะมีหลายคนเลยที่บอกว่ายังไม่เคยดูแอนิเมชั่นเรื่องนี้
ผมจึงอยากจะบอกสำหรับท่านที่ยังไม่ได้ชมแอนิเมชั่นเรื่องนี้ว่า " ไปหามาดูเถอะครับ "
สำหรับผม Inside out คือหนึ่งในแอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมของ Pixar ที่ดีเทียบเท่ากับ Toy story , Finding Nemo หรือ Up คุณปู่ซู่ซ่า เลยทีเดียว
และสิ่งที่ทำให้แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีคุณค่ามากยิ่งขี้นไปอีกก็คือ ประเด็นที่หนังพยายามจะสื่อสารบอกคนดู
มันคมคายและให้บทเรียนกับชีวิตของเราอย่างมาก
หนังพูดถึงการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เกิดการตอบสนองเป็นอารมณ์ต่างๆที่แตกต่างกัน ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้น สุดท้ายได้หลอมรวมเป็นประสบการณ์ฝังอยู่ในความทรงจำ และหล่อหลอมเป็นบุคลิกของเรา
" คุณเคยมองใครซักคนแล้วสงสัยหรือเปล่าว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในหัวของเค้า ? "
นี่คือประโยคเปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้ พร้อมแนะนำตัวละครสาวน้อย " ไรลีย์ " เด็กหญิงที่เกิดและเติบโตโดยมีอารมณ์ทั้งห้าสลับกันมาดูแล
เราจะได้เห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่าง " อารมณ์ " ในรูปแบบที่จับต้องได้ผ่านตัวละครห้าตัวที่อยู่ในหัวของไรลีย์
ซึ่งทุกตัวละครทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ของไรลีย์ให้เป็นไปตามบุคลิกของพวกเขา
ตัวละครทั้งห้าตัวนั้นได้แก่
• JOY (ลัลล้า : สีเหลือง )
• Sadness (เศร้าซึม : สีฟ้า)
• Anger (โมโห : สีแดง)
• Disgusts (ขยะแขยง : สีเขียว)
• Fear (กลัว : สีม่วง)
เราจะได้เห็นชีวิตในแต่ละวันของไรลีย์ กับเหตุการณ์ที่เธอต้องเผชิญและทำให้เกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ
เมื่อไรลีย์กลัว Fear(กลัว : ตัวละครสีม่วง) ก็จะควบคุมความคิดเธอชั่วขณะ
เมื่อเธอโกรธ Anger(โมโห : ตัวละครสีแดง) ก็จะเกี้ยวกราดอยู่ในหัวไรลีย์และส่งผลให้เธอเกรี้ยวกราดด้วยเช่นกัน
แน่นอน...ชีวิตมนุษย์เราก็มีทุกอารมณ์ผ่านเข้ามาเช่นเดียวกับไรลีย์ ดังนั้นการดูชีวิตไรลีย์กับอารมณ์ทั้งห้าของเธอก็เหมือนกับว่าเรากำลังดูตัวเอง
ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังนะครับ เพื่อให้คนที่ยังไม่ได้ดูได้เต็มอิ่มไปกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างเต็มที่
หนังมีจุดพลิกผันและหักเหให้เราได้ลุ้นไปกับตัวละคร แถมการผูกโยงให้อารมณ์ต่างๆเข้ามามีบทบาทในชีวิตไรลีย์ก็ทำได้ดีมาก
ถ้าจะให้นิยามเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้แบบสั้นๆคงเป็นหนังที่จะบอกกับเราว่า " โลกภายในกำหนดโลกภายนอก "
อารมณ์ทั้งห้าคือส่วนประกอบของโลกภายใน ที่ทำให้เราเติบโตและพร้อมเผชิญกับสภาวะภายนอก
ภาพจากหนังเรื่อง inside out https://www.imdb.com/title/tt2096673
ซึ่งประเด็นนี้คล้ายหลักคำสอนทางพุทธศาสนา
พุทธศาสนาสอนให้เราเป็นผู้ "เฝ้าดู"อารมณ์
ไม่ว่าความสุข ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว
ทุกอารมณ์ล้วนเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย
หากเรา " หลง " และไม่มีความรู้สึกตัว เราก็จะถูกอารมณ์เหล่านั้นครอบงำ
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราหมั่นเจริญสติเพื่อฝึกความรู้สึกตัว
ใน inside out แบ่งอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์เป็น 5 อารมณ์ คือ สุข เศร้า โกรธ กลัว เกลียด
ในทางพุทธศาสนาสิ่งที่เป็นตัวรู้อารมณ์เหล่านี้เราเรียกว่า " จิต " ซึ่งในพระอภิธรรม แบ่งจิตไว้ละเอียดมาก จิตมี 89 ดวง และหากแบ่งอย่างละเอียด(โดยพิสดาร)ก็มีมากถึง 121 ดวง
กล่าวโดยสรุปจิต 89 ดวง หรือ 121 ดวงนี้ เป็นสภาวะจิตที่เสวยอารมณ์แตกต่างกัน แบ่งแบบหยาบๆก็มีเช่น
กุศลจิต (จิตที่เป็นกุศล มี 12 ดวง ) อกุศลจิต ( จิตที่ไม่เป็นกุศล มี 21 ดวง) วิปากจิต ( จิตที่เกิดจากผลของกรรม มี 36 ดวง) และ กิริยาจิต ( จิตที่สักแต่ว่าทำ ไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศล มี 20 ดวง )
ตรงนี้ผมแสดงกว้างๆของจิต 89 ดวง เท่านั้นครับ เพราะถ้าแยกโดยละเอียดนอกจากจะทำให้บทความนี้ยาวจนเกินไปแล้ว ยังอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความ มึนงง หรือไม่ก็เลิกอ่านไปเลย
ในพระอภิธรรมนั้นเป็นหลักธรรมในหมวดของการอธิบายเรื่องที่เป็นทั้งรูปธรรม (รูป) และนามธรรม ( จิต เจตสิก นิพพาน) เรียกว่าจำแนกกันละเอียดยิบเลยทีเดียว หากอยากรู้เรื่องของ "จิต" ในทางพระพุทธศาสนาให้มากขึ้น แนะนำว่าควรศึกษาจากพระอภิธรรม
หมายเหตุ : ขอให้แยกพระอภิธรรมเป็นส่วนเนื้อหานะครับ เพราะการบรรลุสู่ความหลุดพ้นทางจิตนั้นเน้นไปทางการปฏิบัติมากกว่า คือการเฝ้าดูจิตเพียงเท่านั้น ซึ่งมีหลายวิธีแต่ที่มักได้รับการแนะนำคือการฝึกตามแนวทาง " สติปัฐฐาน 4 "
คือฝึกรู้สึกตัวมีสติทุกอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
ถ้าสงสัยว่าเราฝึกดูจิตไปทำไม ?
คำตอบคือเพื่อให้รู้ตัวไม่หลง ยกตัวอย่างเช่น
ความโกรธนั้นเกิดจากการหลงในอารมณ์โมหะ
คนที่โกรธนั้นมีอารมณ์โกรธ แต่เขาไม่รู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ เขาจะหายโกรธได้ก็เพราะเวลาที่ผ่านไปทำให้เขาไปสนใจเรื่องอื่น หรือ ถ้าเขาถอยออกมาจนเห็นอารมณ์ความโกรธของตนเองได้ด้วยการรู้สึกตัว และสังเกตอารมณ์ความโกรธจะค่อยๆเจือจางและหายไป
การมองเห็นไม่ใช่การข่มความโกรธ แต่เป็นการรู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ จนได้มองลึกลงไปถึงอาการหายใจอันเกิดจากความโกรธรวมถึงอารมณ์ที่แผดเผาอยู่ภายใน ทำให้ความโกรธค่อยๆระงับลง
แต่การจะฝึกไปจนรู้สึกตัวได้ตลอดเวลาอย่างพระอรหันต์นั้น ต้องอาศัยความเพียรมหาศาลและฝึกฝนจนตามรู้การเกิดดับของจิตได้ทุกขณะ
ซึ่งจิตนั้นมีการเกิดดับที่ไวมาก
ท่านเปรียบเหมือนชั่วเวลาที่งอนิ้วมือเข้ามาแล้วดีดออกไป ( เพียงชั่วลัดนิ้วมือ) จิตก็เกิดดับมากมาย
การตามดวงจิตให้ทันกับความเร็วระดับนั้น ระดับของสมาธิต้องสูงมาก
ลองคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งสักเรื่องโดยไม่เผลอไปคิดเรื่องอื่นเลยสัก 5 นาที จะรู้ว่าทำยากมาก เพราะธรรมชาติของจิตมันไม่นิ่ง
แม้จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาแต่เราก็ไม่สามารถตามจับการเกิดดับนั้นได้ง่ายๆ เพราะการเกิดดับนั้นต่อเนื่องไหลเป็นกระแส ลองนึกถึงเปลวเทียนที่เปลี่ยนรูปร่างไปมาตลอดเวลา จิตของเราก็เป็นเแบบนั้น
ในพระอภิธรรมกล่าวว่า จิตที่เสวยอารมณ์นั้น เกิดดับต่อเนื่องรวมกันถึง17 ขณะ ( เกิด ดับ เกิด ดับ )
จิต 89 / 121 ดวง และ ภาพลำดับของวิถีจิต 17 ขณะ
ซึ่งจิตทั้ง 17 ขณะนี้ มีชื่อเรียกแต่ละขณะแตกต่างกัน
จิตชุดแรก คือ จิตที่ยังมีอารมณ์เก่ายังไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ มี 3 ขณะ (ภวังคจิต)
จิตชุดที่สองคือ จิตที่รับอารมณ์ใหม่เข้ามาแล้ว แต่ยังไม่เสพอารมณ์นั้นเข้ามา มี 5 ขณะ
จิตชุดที่สามคือ จิตที่เสพอารมณ์นั้นแล้ว มี 7 ขณะ เรียกว่า " ชวนจิต (อ่านว่า ชะ-วะ-นะ-จิต)
จิตชุดสุดท้ายคือ จิตที่หน่วงอารมณ์นั้นไว้ จนสิ้นสุด มี 2 ขณะ
จิตทั้งสี่ชุดนี้มีคำอธิบายให้เห็นภาพขั้นตอน ลำดับของการเสพอารมณ์รวมถึงกระบวนการเกิดดับของจิตทั้ง
17 ขณะ
เป็นคำอธิบายของพระอาจารย์ปราโมทย์ (ขณะที่ท่านยังเป็นฆราวาส) โดยยกพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่อธิบายไว้ ดังนี้
เรื่องวิถีจิตเปรียบเหมือนคนนอนหลับอยู่ใต้ต้นมะม่วง และคนๆนั้นนอนเอาผ้าคลุมหัวอยู่ แล้วตื่นขึ้นมาเพราะได้ยินเสียงมะม่วงตก จึงเปิดผ้าลืมตาขึ้นมาดู และหยิบมะม่วงผลนั้นขึ้นมาดู มาดม จนทราบว่าเป็นมะม่วงสุก จึงกินมะม่วงผลนั้นเคี้ยวและกลืนมะม่วงพร้อมทั้งเสมหะ แล้วก็หลับต่อ
จากเรื่องนี้เมื่อนำมาเทียบกับจิต 17 ขณะ (ที่มี 4 ชุด ) นั้น จิตชุดแรกที่เป็นภวังคจิต เปรียบเหมือนตอนชายคนนี้กำลังหลับแล้วรู้สึกตัวเพราะมะม่วงตก ( จิตมีอารมณ์มากระทบ )
จิตชุดที่สอง เปรียบได้กับตอนลืมตาขึ้นมาดูมะม่วง เห็นมะม่วงและหยิบขึ้นมา พิจารณาว่าเป็นมะม่วงสุก ( จิตรับอารมณ์เข้ามา)
จิตชุดที่สามคือ ชวนจิต เปรียบได้กับตอนกำลังกินมะม่วง ( เสพอารมณ์)
และจิตชุดสุดท้ายคือการกลืนไปพร้อมเสมหะและหลับต่อ จากนั้นจิตก็วนกลับไปที่จิตช่วงแรกอีกครั้งหนึ่ง (หลับ)
นี่คือการทำงานของจิตที่เสพอารมณ์หนึ่งช่วง โดยเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน( เกิด-ดับ-เกิด-ดับ)ในเวลาที่รวดเร็วมาก
เป็นยังไงบ้างครับกับความอัศจรรย์ทางจิตที่มีกล่าวไว้ในพระอธิภรรมปิฎก
การเกิดดับแบบต่อเนื่องตลอดเวลานี้ จึงทำให้พุทธศาสนาสอนว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนเที่ยงแท้ เพราะมันไม่ได้อยู่สภาพเดิมตลอดเวลา เพียงแต่เกิดดับต่อเนื่องกันด้วยความรวดเร็วเท่านั้น ทางจิตก็ที่ได้อธิบายไปแล้ว ส่วนทางกายก็คือการผลัดของเซลล์ในร่างกาย
ความสำคัญของการทราบเรื่องการเกิดดับของจิตนี้
เพื่อให้เราได้เห็นความสำคัญของการฝึกความรู้สึกตัว เพื่อคอยเฝ้าดูอารมณ์ เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบและไม่เผลอตกเป็นเหยื่อของความโกรธ เกลียด กลัว ฯลฯ เพื่อการดำรงชีวิตให้สมบูรณ์ด้วยสติ
และหากยังไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ก็หมั่นฝึกฝนควบคุมอารมณ์ตนเองให้เหมาะสมและฝึกให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิตว่า มีทั้งความสุข ความทุกข์
เศร้าใจ ผิดหวัง มีอารมณ์ต่างๆเป็นธรรมชาติ
อย่าปล่อยให้อารมณ์มีอำนาจบังคับบัญชาเราฝ่ายเดียวจนไปทำเรื่องผิดศีลธรรม เพราะท้ายที่สุดแล้ว เรานั่นแหล่ะคือผู้ที่จะได้รับผลจากการกระทำของตัวเราเอง
มีตัวอย่างให้เห็นได้มากมายตามข่าวและสื่อต่างๆ
อย่าลืมที่จะกำหนดโลกในใจของเราก่อนโลกภายนอก
มองให้เห็น inside เพื่อกำหนด outside
และนี่คือหนังเรื่อง " inside out" ที่แท้จริง
หนังที่เราเป็นนักแสดง เป็นตัวเอก และเป็นชีวิตจริง
หมายเหตุ : ผมละเลยศัพท์บาลีบางส่วนไปเพื่อไม่ให้รุ่มร่ามและเพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่ถนัดภาษาในพระอภิธรรมเข้าใจได้ง่ายขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้ท่านได้หันมาสำรวจจิตใจและอารมณ์ของตนเองเพื่อไม่ให้ใช้ชีวิตด้วยความประมาทและต้องเป็นทุกข์เพราะผลจากการขาดสติ
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกท่าน
เครดิตข้อมูล :
http://www.dhammada.net/wimutti/D00000142.html และธรรมะที่ผู้เขียนได้ศึกษาจากหนังสือของพระอาจารย์หลายๆท่าน ,วัดชลประทานรังสฤษดิ์ , วัดป่าสุคะโต , ครูชัช แห่งโรงเรียนวัดนวลนรดิศผู้ชักชวนให้ศึกษาพระอภิธรรม , คุณดังตฤณ
รวมถึงพระอาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจทางธรรมสำหรับผู้เขียนเสมอมา " หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ "
โฆษณา