29 ต.ค. 2019 เวลา 15:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ออลันดา (Oranda)
สายพันธุ์ปลาทอง
ปลาทองสายพันธุ์ออลันดาเกิดจากการนำปลาทอง 2 สายพันธุ์มาผสมกัน ได้แก่ "สายพันธุ์ริวกิ้นและสายพันธุ์หัวสิงห์" ซึ่งปลาทองออลันดามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ผู้ที่นำมาทดลองผสมพันธุ์กันในช่วงแรกก็คือ "ชาวจีน"
ปลาทองสายพันธุ์ออลันดาเป็นปลาทองที่มีความนิยมและความต้องการสูงมากภายในประเทศไทย เนื่องจากมีราคาไม่แพง เลี้ยงง่าย โตไว และมีสีสันสวยงามสะดุดตา
ลักษณะทั่วไป :
ปลาทองออลันดาจะมีครีบยาวและใหญ่กว่าลำตัว มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ครีบทุกส่วนจะตั้งตรงสง่า แผ่ออกอย่างสวยงาม ไม่หุบลีบไปกับลำตัวของปลา และส่วนลำตัวของสายพันธุ์ออลันดานี้จะยาว สง่ากว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของมัน
**สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ สายพันธุ์ริวกิ้นและหัวสิงห์**
ลักษณะโครงสร้างแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ :
1. ปลาทองออลันดาปักกิ่ง
ปลาทองออลันดาปักกิ่งจะมีโครงสร้างลำตัวที่เล็กที่สุด ขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 3.5-4 นิ้วเพียงเท่านั้น และเป็นสายพันธุ์ที่มีวุ้นขึ้นเร็วและฟูที่สุด เหมาะแก่การเลี้ยงในตู้ปลาหรือบ่อปลาขนาดไม่ใหญ่เกินไป (ตู้ปลาประมาณ 24-30 นิ้ว ก็เพียงพอ)
2. ปลาทองออลันดากลาง
ปลาทองออลันดากลางเกิดจากการผสมกันระหว่างออรันดาปักกิ่งและออรันดายักษ์ ทำให้ได้ปลาที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป ขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 5-6 นิ้วเพียงเท่านั้น และสายพันธุ์นี้วุ้นจะขึ้นเร็วกว่าออลันดายักษ์ แต่ช้ากว่าออลันดาปักกิ่ง เหมาะแก่การเลี้ยงในตู้ปลาหรือบ่อปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ (ตู้ปลาประมาณ 36-48 นิ้วขึ้นไป)
3. ปลาทองออลันดายักษ์
ปลาทองออลันดายักษ์ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อต้องการความใหญ่โตของตัวปลาโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เลี้ยงที่ต้องการจะเลี้ยงปลาทองตัวใหญ่ ๆ ซึ่งจะใหญ่ทั้งลำตัวและหัว ขนาดลำตัวเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 8-10 นิ้ว และสายพันธุ์นี้จะโตช้าอย่างมาก วุ้นก็ขึ้นช้า อัตราการเติบโตจะพัฒนาตามขนาดลำตัวและวัยของปลา
แต่ปลาสายพันธุ์นี้จะกินเก่งเป็นพิเศษ ด้วยขนาดลำตัวและวัยของปลาสามารถกินอาหารได้ตลอดเวลาทั้งวันเลย เหมาะแก่การเลี้ยงในตู้ปลาหรือบ่อปลาขนาดใหญ่พื้นที่กว้าง ๆ เพื่อต้องการเสริมสร้างการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ (ตู้ปลาประมาณ 48-60 นิ้วขึ้นไป)
สถานที่เลี้ยงปลา :
แนะนำให้เลี้ยงในบ่อดินซึ่งปลาจะมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเลี้ยงในบ่อปูน เพราะในบ่อดินจะมีแร่ธาตุบางชนิดที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตของตัวปลาเป็นสำคัญ
และพบว่าปลาทองออลันดาที่เลี้ยงในบ่อดิน แล้วนำขึ้นมาเลี้ยงในตู้ปลามักจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวและมีโรคติดตามมาเล็กน้อย บางทีเลี้ยงได้ไม่นานปลาก็ตาย
ในส่วนนี้เราสามารถปรับกันได้ในเรื่องของการกักโรคปลา เพื่อให้ปลาปรับตัวก่อน ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงรวมกันบนตู้
สิ่งสำคัญที่อย่าลืม เน้นย้ำ! อย่าลืมเปลี่ยนน้ำปลา เปลี่ยนสัก 30%-50% จากปริมาณน้ำทั้งหมดก็เพียงพอ/สัปดาห์หรือเดือนนึงเปลี่ยนที
อาหารปลา :
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาทองออลันดา แนะนำให้เป็น
"ไข่ตุ๋น" โดยการตักให้เป็นก้อน ๆ ปลาจะว่ายขึ้นมากินเองและกินได้ตลอดทั้งวัน ไม่มีเบื่อ ที่สำคัญไข่ตุ๋นจะทำให้ปลาทองโตเร็วและวุ้นขึ้นเร็วอีกด้วย
แต่ในกรณีกลัวปลาเบื่อก็สลับเป็น
"อาหารเม็ด" กับ "ไส้เดือนน้ำ"
ข้อควรระวัง :
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับการเลี้ยงปลาทองออลันดาคือ "ออกซิเจน" เนื่องจากปลาทองต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ ถ้าขาดออกซิเจนเพียง 4-6 ชั่วโมง จะทำให้ปลาทองตายได้(ขึ้นอยู่กับขนาดลำตัวและวัยของปลาทองด้วย)
ในทุกวันนี้สามารถแบ่งปลาทองออลันดาออกเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ ได้อีกตามลักษณะของหัวและสี เช่น ออรันดาปักกิ่ง, ออรันดาเรดแคป(ตันโจ), ออรันโดอาร์ปาเช, ออรันดาดำ, ออรันดาห้าสี และออรันดาเกล็ดข้าวโพด(เกล็ดทั้งลำตัวจะเป็นสีส้มและมีขอบเกล็ดเป็นสีขาว) นับเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพาะขึ้นมาได้ เป็นต้น
ปัจจุบันยังมีออรันดาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ออรันดาสั้น ที่มีลำตัวป้อมสั้นเหมือนปลาทองริวกิ้น แต่ทว่ามีครีบและหางเบ่งบาน โดยเกิดจากการพัฒนาปลาโดยคัดเก็บปลาทองออรันดาที่หลุดเป็นทรงป้อมสั้นกว่าตัวอื่นในครอกมาไขว้พัฒนา จนกลายเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง
และยังมีอีกมากมายที่คนไทยนำมาต่อยอดพัฒนาให้เกิดปลาทองสายพันธุ์ต่าง ๆ แต่ยังคงคอนเซ็ปไว้เหมือนเดิมคือ "สายพันธุ์ปลาทองออลันดา"
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...
โฆษณา