2 พ.ย. 2019 เวลา 11:12 • การศึกษา
การประชุมเวทีสุดยอดผู้นำ หรือ Summit คืออะไร ?
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 นี้ นับเป็นการประชุมที่น่าจับตามองยิ่งนัก อันเนื่องมาจากมีประเด็นที่สำคัญอยู่ในวาระการประชุมครั้งนี้มากมาย ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่อง ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายใต้แนวคิดหลักของประเทศไทยสำหรับการเป็นประธานอาเซียน คือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" (Advancing Partnership for Sustainability) ก่อนที่จะส่งต่อตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับประเทศเวียดนามต่อไป..
อย่างไรก็ตามทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "การประชุมสุดยอดผู้นำ" กันมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน, การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 (การประชุมสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 20 ประเทศ) หรือการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 (การประชุมสำหรับประเทศผู้นำอุตสาหกรรมทั้ง 7 ประเทศ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรปด้วย)..
แต่ทุกคนรู้กันหรือไม่ครับว่า การประชุมสุดยอดผู้นำคืออะไร ?
โดยในวันนี้ไม้ขีดไฟจะพาทุกคนมาหาคำตอบกันว่า "การประชุมเวทีสุดยอดผู้นำ หรือ Summit คืออะไร ?"..
_(1)_ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นบทเวทีระหว่างประเทศ"
_(2)_เวทีระหว่างประเทศ (International Stage) นั้นก็เปรียบเหมือนกับเวทีละครหรือสนามกีฬา พูดง่าย ๆ คือ ในสนามกีฬาหรือเวทีละคร จะมีผู้เล่นหรือตัวแสดง (actor) แล้วก็จะมีกฎกติกาที่ควบคุมว่าผู้เล่นหรือผู้ตัวละคร..
_(3)_โดยเวทีระหว่างประเทศ โดยทั่วไปให้เรานึกถึง โลก ที่มีประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวแสดงหรือผู้เล่นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาตกลงกัน รวมถึงต่อรองกัน ..
_(4)_เวทีโลกหรือเวทีระหว่างประเทศจึงแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ 1. เวทีระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (multilateral) โดยจะมีประเทศเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างน้อยต้องมากกว่า 2 ฝ่ายขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น เวที ASEAN, เวที UN หรือเวที WTO เป็นต้น 2. เวทีระหว่างประเทศแบบทวิภาคี (bilateral) โดยจะเป็นเวทีที่มีประเทศเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพียงแค่ 2 ประเทศ เช่น การประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-สหรัฐ, การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นต้น
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พบกับ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในการประชุมครั้งแรก ณ ประเทศสิงคโปร์ ค.ศ.2018 ภาพจาก: https://www.bbc.com/thai/international-46921638
_(5)_เมื่อเรามองเห็นภาพแล้วว่า โลกเราเปรียบเสมือนเวทีการเจรจาที่มีประเทศต่าง ๆ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน .. ซึ่งเวทีการเจรจานั้นจะเป็นการเจรจาได้หลากหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นการยุติสงคราม การเจรจาข้อตกลงการค้า หรือการเจรจาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นต้น
_(6)_การเจรจาผ่านเวทีระหว่างประเทศมักถูกได้รับการจับตามองจากทั่วโลก โดยเฉพาะเวทีที่รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ อย่าง สหรัฐอเมริกาหรือจีนเข้าร่วม ..
_(7)_โดยเวทีการเจรจาระหว่างประเทศอาจแบ่งตามระดับของผู้เข้าร่วมการประชุมได้เป็น 3 ระดับ คือ 1. "เวทีประชุมสุดยอด" (summit) 2. "เวทีประชุมระดับรัฐมนตรี" (ministerial meeting: MM) และ3. "เวทีประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส" (senior official's meeting: SOM)..
ภาพบรรยากาศการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรม (G7) ปีค.ศ.2018 ภาพจาก: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-44430000
_(8)_สำหรับ "เวทีการประชุมสุดยอด" นั้นเป็นเวทีเจรจาระดับผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาลมาพบปะหารือกัน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวมไปถึงกรอบประเด็นการเจรจาในครั้งต่อ ๆ ไป..
_(9)_"เวทีการประชุมระดับรัฐมนตรี" ผู้เข้าร่วมการประชุมจะเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี เช่น รัฐมาตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น โดยประเด็นการเจรจามักเป็นเรื่องสำคัญในระดับนโยบายที่เกี่ยวต้องกับการประชุม..
_(10)_"การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส" ผู้เข้าร่วมเป็นข้าราชการประจำระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ปลัดกระทรวงพลังงาน, ปลัดกระทรวงต่างประเทศ หรือปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น โดยประเด็นการเจรจาจะเป็นการต่อรองที่ค่อนข้างขับเคี่ยวกันเพื่อให้บรรลุผลนั่นเอง..
_(11)_จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น สรุปได้ว่า .."เวทีการประชุมสุดยอด" นั้นเป็นเวทีเจรจาที่ผู้เข้าร่วมการประชุมจะเป็นผู้นำระดับประมุขของประเทศหรือผู้นำรัฐบาลมาพบปะหารือและปรึกษากัน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน รวมไปถึงกรอบประเด็นการเจรจาในครั้งต่อ ๆ ไปนั่นเอง ..
หากได้ความรู้และชอบบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้ไม้ขีดไฟด้วยนะครับ .. ขอบคุณครับ
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศติกายน พ.ศ.2562
___รายการอ้างอิง___
1. บีบีซีไทย. (2562). "อาเซียน : สรุปความเคลื่อนไหวการประชุมอาเซียนนัดส่งท้ายก่อนไทยส่งไม้ต่อให้เวียดนาม" สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-50272110
2. WorkpointNews. (2562). "รู้จักกับ G20 และการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 14 นครโอซากา ญี่ปุ่น" สืบค้นจาก: https://workpointnews.com/2019/06/27/g20-osaka-summit2019/
3. The Standard team. (2562). "ประมวลภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ครั้งที่ 45" สืบค้นจาก: https://thestandard.co/the-45th-g7-summit/
4.จุลชีพ ชินวรรโณ. (2557). "โลกในศตวรรษที่ 21: กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ". กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
___อ่านเพิ่มเติม___
โฆษณา