4 พ.ย. 2019 เวลา 12:58 • ไลฟ์สไตล์
"วิ่งเปลี่ยนชีวิตได้อย่างไร"..เรื่องของคุณทวด 94 ปี ผู้ผ่านการเป็นมะเร็งสองครั้ง
..If you want to run, run a mile. If you want to experience a different life, run a marathon.."
เป็นวาทะอมตะของนักวิ่งโอลิมปิกชาวเชค Emil Zatopek.
อาจฟังดูเกินจริง..แต่เรื่องของคุณทวดแฮเรียตจะทำให้เราเข้าใจ
หลังจากที่ Harriet Thompson คุณทวดวัย 92 ปีชาวอเมริกัน วิ่งเข้าเส้นชัย รายการ Rock n roll marathon เธอได้รับการบันทึกกินเนสบุค ว่าเป็นหญิงที่อายุมากในโลกที่เข้าเส้นชัยมาราธอน (1)
คุณทวดแฮเรียต เข้าเส้นชัย marathon พร้อมลูกชาย (1)
ขาสองข้างของคุณทวดพันผ้าขาว เพื่อปกปิด ร่องรอยการถูกฉายแสงรักษามะเร็งกระดูกขา เมื่อ 6 เดือนก่อน
รอยยิ้มกว้างของคุณทวด ปกปิดไว้ซึ่งกรามบนเทียม หลังจากเธอได้รับการผ่าตัดเอากรามบนออกหมดเพื่อรักษามะเร็งช่องปาก
แฮเรียต ในวัยสาว เป็นนักดนตรีเปียโนรับจ้างเล่นตามงานทั่วไป ก่อนจะแต่งงาน และกลายเป็นแม่บ้าน ดูแลลูกๆ 5 คน มีชีวิตเรียบง่าย
คุณทวดแฮเรียต ในวัยสาว (2)
จนกระทั่งเมื่อ แฮเรียต อายุ 76 ปี เพื่อนสนิทของเธอเสียชวิตจากมะเร็ง ติดๆ กันสามคน หนำซ้ำเธอยังได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งช่องปากระยะแรกด้วย..เป็นจุดเริ่มต้นการวิ่งมาราธอน เพื่อหาทุนสนับสนุนการวิจัยรักษามะเร็ง
ครั้งแรกที่แฮเรียตวิ่งมาราธอน เธอกลายเป็นคนสูงวัยมากที่สุด..ผลคือเธอวิ่งไม่ไหวที่กลางทาง แต่ก็เดินต่อจนเข้าเส้นชัย
"พวกคนหนุ่มสาว ที่วิ่งผ่านฉันไป หันหน้ามาบอก ..เห็นคุณยายแล้ว เรารู้สึกมีกำลังใจอยากวิ่ง"..
จากนั้นแฮเรียตยังคงลงแข่งขันมาราธอนทุกปี มีเพียงครั้งเดียวที่เธอไม่ได้ลง เพราะต้องดูแลสามีที่ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนจนเสียชีวิต..
คุณทวดแฮเรียต วิ่งมาราธอนครั้งสุดท้าย ตอนอายุ 94 ปี และทำสถิติเวลาเข้าเส้นชัยดีขึ้นกว่าเดิม..เพียงสามเดือนก่อนที่เธอจะสิ้นใจ..แต่ไม่ใช่จากโรคมะเร็ง
คุณทวด นำขนมวันเกิดไปให้เพื่อนบ้านแล้วพลาดตกบันไดสมองได้รับกระทบกระเทือนหนัก
..ลูกๆทำตาม living will ที่ขอเสียชีวิตอย่างสงบใน hospice
จากแม่บ้านธรรมดาๆ เรื่องราวของคุณทวดแฮเรียต กลายเป็นฮีโร่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยทั่วโลกนับล้าน..
หนึ่งในนั้น คือคุณยาย Bobbie Poledouris วัย 71 ที่เริ่มวิ่ง ตั้งแต่แรกวินิจฉัยพาร์กินสันจากอาการมือสั่น ผ่านมา 12 ปี เธอไม่เพียงแต่ยังเดินได้คล่อง แต่ยังวิ่งทำความเร็วชนะคนอายุน้อยกว่าในการแข่งมาราธอนอีกด้วย (3)
คุณยายบ็อบบี้ ผู้วิ่งเอาชนะโรคพาร์กินสัน
🧠 เกร็ด ผลของการวิ่งต่อสุขภาพเซลล์
🌻กลไกที่การออกกำลังกายช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ประสาท
1. ช่วยให้ระบบเผาผลาญ ของไมโตคอนเดรียดีขึ้น ลดการเกิดอนุมูลอิสระทำลายเซลล์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลไกหลักของการตายของเซวล์ประสาทผลิตโดปามีน ในโรคพาร์กินสัน
2. กระตุ้นการหลั่งสารช่วยสร้างเส้นเลือดและเซลล์ประสาท (neurotrophic factor) เช่น VEGF, BDNF ช่วยลดการเหี่ยวสมองในอัลไซเมอร์
3.กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่ช่วยลดอารมณ์ซึมเศร้า
ผลการออกกำลังต่อสมอง ภาพจาก (4)
🌻 ผลต่อเซลล์มะเร็ง
ผลการออกกำลังกาย ช่วยปรับสภาพแวดล้อมรอบๆ เซลล์มะเร็ง (tumor microenvironment) คล้ายกับการ 'ล้อมจับโดยละม่อม' ..ซึ่งร่างกายเสียหายน้อยกว่าการใช้ยา 'บอมบ์'ฆ่าเซลล์มะเร็งซึ่งย่อมกระทบเซลล์ร่างกายปกติไม่มากก็น้อย
ตั้งแต่เริ่มแรกออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ช่วยนำภูมิตุ้มกันไปต่อต้านเซลล์มะเร็ง
และหากออกกำลังกายต่อเนื่อง จะส่งผลปรับระดับยีน ทำให้ร่างกายเสมือน 'ได้ร่างใหม่'
ปัจจัยเพิ่ม (สีดำ) และปัจจัยลด (สีแดง)การโตของก้อนมะเร็ง ภาพจาก (5)
พรุ่งนี้..พร้อมหยิบรองเท้าไป 'เปลี่ยนชีวิต' ด้วยกันไหมคะ 🙂
โฆษณา