5 พ.ย. 2019 เวลา 02:11 • ธุรกิจ
สตาร์ทอัพกัมพูชาและความสำคัญของสิ่งเล็กๆ
Grab เป็นยูนิคอร์นตัวยักษ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความหงุดหงิดของคนที่เรียกแท็กซี่แล้วแท็กซี่ไม่ยอมไป
ด้วยความที่การสร้างสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเมื่อ Grab มีการเติบโตอย่างสูงและขยายตัวเป็นยักษ์ใหญ่จึงทำให้ทุกคนให้ความสนใจ เวลาที่ Grab ขยับตัวก็มักจะเป็นข่าว
เป็นเรื่องปกติที่อะไรที่มันใหญ่ๆจะน่าสนใจกว่าสิ่งเล็กๆ และความใหญ่นั้นก็มักจะส่งผลต่อความคิดของเรา เหมือนกับเวลาที่มีคนที่ประสบความสำเร็จมาพูด เราก็มักจะตั้งใจฟังเขานั่นแหละ
เมื่อ Grab สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเรียกแท็กซี่ได้ก็ตามมาด้วยประเด็นอื่นๆที่ถกกันว่ามันมีวิธีไหนที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการขึ้นแท็กซี่อีก อย่างเช่นการทำแท็กซี่ไร้คนขับ
เมื่อความสนใจของคนส่วนใหญ่มุ่งไปที่เรื่องแท็กซี่ ก็ต้องมีปัญหาอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่มีใครสนใจ
ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง Get Backers มีตอนหนึ่งที่ตัวเอกสองคนตัดสินใจว่าจะนั่งแท็กซี่ดีมั้ย ปกติพวกเขามีรถเต่าเก่าๆคนหนึ่งแต่ตอนนี้ซ่อมอยู่
ตัวเอกที่ชื่อบันเลยบอกคู่หูว่าจะนั่งแท็กซี่ แต่กินจิที่เป็นคู่หูบอกว่าแท็กซี่นี่มันแพงมากเลยไม่ใช่เหรอ บันจึงกัดฟันบอกไปว่า แหงล่ะ แต่เรากำลังจะไปรับค่าตอบแทน ไว้เอามาชดเชยค่าแท็กซี่ก็ได้
มันทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าคนที่ไม่อยากนั่งแท็กซี่ก็มี พวกเขาเดินทางด้วยวิธีอื่นที่ไม่ได้มีความสะดวกสบายมากนัก พวกเขายังไม่ได้รับการแก้ปัญหาและถูกมองข้าม
ถ้าเป็นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อของสตาร์ทอัพที่คุ้นหูมักจะมาจากประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ถ้าไม่ใช่ประเทศพวกนี้กับประเทศเราแล้ว เราก็แทบไม่ได้ยินชื่อสตาร์ทอัพจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างกัมพูชาเราก็อาจจะลืมไปว่าบ้านเขาก็มีสตาร์ทอัพเหมือนกัน
มีสตาร์ทอัพกัมพูชาตัวหนึ่งที่ผมพึ่งรู้จักคือ BookMeBus พวกเขาเป็นผู้ให้บริการตั๋วเดินทางออนไลน์ ถ้าคุณจะเดินทางไประหว่าง ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม คุณสามารถซื้อตั๋วผ่านแพล็ตฟอร์มของ BookMeBus ได้ ซึ่งมีทั้งตั๋วรถบัส เรือเฟอร์รี่ และแท็กซี่
แล้ว BookMeBus มีไว้เพื่อแก้ปัญหาอะไร แน่นอนว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้กัมพูชาเป็นสังคมไร้กระดาษ (paperless)
Langda Chea ก่อตั้ง BookMeBus เพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากของการเดินทางในกัมพูชา วิธีการเดินทางที่นิยมที่สุดในกัมพูชาคือนั่งรถบัส มันปลอดภัยกว่าการนั่งแท็กซี่หรือรถตู้และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าขับรถเอง ดังนั้น Grab อาจจะไม่ใช่ทางเลือกของคนกัมพูชา
Langda Chea
แต่มีชาวกัมพูชาคนหนึ่งเล่าว่าการจองและซื้อตั๋วรถบัสเป็นเรื่องยุ่งยาก อย่างแรกคือตัวสถานีมักจะอยู่ในตัวเมืองหรือเมืองหลวงที่คนแออัดซึ่งมันอยู่ไกลสำหรับคนที่ต้องการขึ้น
และสองคือการจองตั๋วต้องโทรจองทางโทรศัพท์และคุณต้องไปรับตั๋วและจ่ายเงินในวันนั้นหรือวันถัดไป คุณไม่สามารถจองตั๋วล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ได้เพราะบริษัทรถบัสเหล่านั้นยังไม่มีระบบ แถมข้อมูลในเว็บไซต์บริษัทเหล่านั้นก็ไม่มีความชัดเจน
แต่การมาของ BookMeBus สามารถจัดการความยุ่งยากเหล่านั้นได้
ระบบของ BookMeBus คือคุณสามารถจองตั๋วผ่านแอพลิเคชั่นได้เลย ระบบก็จะส่ง e-ticket ไปหาคุณทันที การจ่ายเงินก็มีหลายช่องทาง Visa หรือ Master Card ก็เข้าร่วม นอกจากนี้มีการให้ข้อมูลการเดินทางที่ชัดเจน คุณสามารถรู้เส้นทางการเดินรถได้ด้วยการเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ BookMeBus
BookMeBus เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทขนส่งผู้โดยสารกว่า 60 แห่ง การมีพาร์ทเนอร์เยอะๆทำให้มั่นใจว่าสามารถรองรับผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากได้ แต่การมีผู้ให้บริการเยอะขนาดนี้ เราจะรู้ได้ยังไงว่าบริการของที่ไหนมีความปลอดภัย
คำตอบคือใช้ระบบให้ดาวเป็นตัวคัดกรอง
BookMeBus มีการให้ดาวแก่ผู้ให้บริการส่งผู้โดยสารเหมือนแบบที่เราเห็นใน Grab หรือ Amazon ถ้าคนขับขับรถน่าหวาดเสียว เราก็อาจจะให้ซัก 1 ดาวแล้วคอมเมนต์แบบตรงไปตรงมา
ชาวกัมพูชาที่บ่นเรื่องการจองตั๋วรถบัสก็หันมาลองใช้ BookMeBus การจองตั๋วทางออนไลน์เป็นทางเลือกใหม่ ถ้า BookMeBus ไม่สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้ใช้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆก็อาจจะยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมคน
ตอนแรกเขาก็ไม่ค่อยแน่ใจนักกับวิธีนี้ เขาสอบถามความชัวร์ของการจองผ่านช่องทางการแชตใน bookmebus.com ซึ่งทางนั้นก็ยืนยันว่าไม่ต้องห่วงและพร้อมจะช่วยแก้ปัญหาถ้ามีการผิดพลาด แต่เขาก็ปริ้นท์ตั๋วไปด้วยเผื่อมีการผิดพลาดจริงๆ
พอเขาไปถึงสถานีเขาก็บอกพนักงานต้อนรับว่าเขาจองตั๋วรถบัสผ่านทาง BookMeBus พนักงานต้อนรับพยักหน้าแล้วเขียนบนกระดาษแผ่นเล็กๆว่า bookmebus แล้วยื่นให้เขา บอกว่าเอากระดาษแผ่นนี้ให้คนขับแล้วก็ขึ้นรถได้เลย
ถึงการคอนเฟิร์มของพนักงานต้อนรับจะดูไม่ค่อยเป็นทางการ แต่เขาก็บอกว่าเขาสามารถขึ้นรถได้ ทุกอย่างเรียบร้อยดี BookMeBus ทำให้เขาประทับใจประสบการณ์ครั้งใหม่
สำหรับคนในวงการสตาร์ทอัพ การเคลื่อนไหวของสตาร์ทอัพหรือบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นเรื่องที่เราต้องติดตาม แต่บางทีการติดตามสิ่งเล็กๆก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
Gary Hamel นักกลยุทธ์จาก London Business School ก็บอกว่าถ้าอยากเป็นนักสร้างนวัตกรรมก็ต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งเล็กๆที่กำลังเปลี่ยนแปลง
การแก้ปัญหาเรื่องการจองตั๋วของ BookMeBus อาจจะเป็นเพียงสเกลเล็กๆ แต่มันก็กำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวกัมพูชา
ถึงแม้ว่าสิ่งเล็กๆจะดูไม่น่าสนใจ แต่การหัดให้ความสนใจกับเรื่องราวของสิ่งเล็กๆเหล่านั้นจะฝึกให้เรามองเห็นปัญหาที่บริษัทยักษ์ใหญ่มองข้าม
Malcolm Gladwell เองก็มักจะมองหาสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามจนทำให้เขากลายเป็นนักเขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม เขาได้พูดเกี่ยวกับสิ่งเล็กๆเอาไว้ว่า
“ถ้าคุณอยากได้เรื่องราวที่น่าสนใจล่ะก็ อย่าไปเริ่มมองหาจากคนระดับบนๆเด็ดขาด คุณควรเริ่มที่คนระดับกลางๆ เพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง……….พวกคนระดับบนๆมักระแวดระวังสิ่งที่ตัวเองพูด เพราะพวกเขาต้องปกป้องสถานะและสิทธิพิเศษของตัวเอง แต่ความระแวดระวังเหล่านี้เองที่เป็นศัตรูกับ ‘ความน่าสนใจ’”
ข้อมูลอ้างอิง:
โฆษณา