6 พ.ย. 2019 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา GU ร้านเสื้อผ้าราคาถูก ในเครือ UNIQLO
1
ถ้าเราคิดว่า UNIQLO ขายเสื้อผ้าในราคาที่รับได้แล้ว
รู้หรือไม่ว่าในต่างประเทศ UNIQLO ยังมีร้านในเครือ
ที่ขายเสื้อผ้าราคาถูกกว่า UNIQLO เสียอีก
ในช่วงที่ผ่านมา ร้านขายเสื้อผ้าราคาถูก แบบ Fast Fashion หลายแห่ง กำลังประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็น..
H&M ที่มีกำไรลดลงกว่า 20%
FOREVER 21 ที่กำลังจะล้มละลาย
แต่มีอยู่รายหนึ่งที่ยอดขายกลับยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งสวนทางกับคู่แข่ง
นั่นคือร้านที่ชื่อว่า “GU” ซึ่งอยู่ในเครือของ UNIQLO
เรื่องราวของแบรนด์นี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
GU คือร้านขายสินค้าแฟชั่น จากประเทศญี่ปุ่น
ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 หรือเมื่อ 46 ปีที่แล้ว
โดยอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท Fast Retailing ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำอย่าง UNIQLO
Cr. Wikipedia
สำหรับชื่อร้าน GU (อ่านว่า จี-ยู) นั้นมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น ที่แปลว่า อิสระ
ซึ่งนี่ถือเป็นแนวทางในการทำธุรกิจ ที่ต้องการช่วยให้ผู้บริโภค เป็นอิสระจากเสื้อผ้าราคาแพง
ทำให้ร้านมีกลยุทธ์การขาย ที่แตกต่างจาก UNIQLO อย่างชัดเจน
UNIQLO จะออกแบบเสื้อผ้า โดยเน้นด้านนวัตกรรมและคุณภาพที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า
ในทางตรงกันข้าม GU จะเน้นขายเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ตามแนวโน้มของตลาด ให้กับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ในราคาที่ต่ำกว่า UNIQLO 30-50%
Cr. Tokyo
ซึ่งขณะนี้ ผลการดำเนินงานของ GU ก็กำลังขยายตัวต่อเนื่อง และเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กับบริษัทแม่
ปี 2018
รายได้ 59,000 ล้านบาท
กำไรจากการดำเนินงาน 3,300 ล้านบาท
ปี 2019 (บริษัทปิดบัญชีรอบปีในเดือนสิงหาคม)
รายได้ 67,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%
กำไรจากการดำเนินงาน 7,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139%
ทำให้ปัจจุบันรายได้และกำไรของ GU คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 10 ของบริษัท Fast Retailing
สาเหตุที่ร้านนี้ ยังคงดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี สวนทางกับบริษัท Fast Fashion รายอื่นๆ
อาจเป็นเพราะ GU ได้มีการนำแนวทางของ UNIQLO มาประยุกต์ใช้ด้วย
นอกจากจะขายเสื้อผ้าที่อิงตามเทรนด์ตลาดแล้ว GU ได้พยายามแบ่งสัดส่วน มาขายสินค้าเอกลักษณ์ของร้านที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยด้วย เหมือนกับที่ UNIQLO มีเสื้อผ้า HEATTECH และ AIRism
โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมของ GU คือ กางเกงยีนส์ ในราคา 990 เยน หรือประมาณ 300 บาท
Cr. NewsBeezer
รวมทั้งการที่ Fast Retailing เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีเครือข่ายกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ทำให้ร้านได้ประโยชน์ในแง่ของต้นทุนต่อหน่วย และยังสามารถนำเสนอสินค้าออกมาสู่ตลาดได้เร็วกว่าคนอื่น
1
ด้วยเหตุนี้ GU จึงกำลังมองหาโอกาสขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ โดยจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 50 แห่งในภูมิภาคเอเชีย จากเดิมที่มีสาขาอยู่ในญี่ปุ่น 422 แห่ง
ซึ่งร้านจะปรับสไตล์สินค้าให้เข้ากับความชื่นชอบของผู้บริโภคท้องถิ่น เนื่องจากในแต่ละประเทศเป้าหมาย มีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าญี่ปุ่น
Cr. GU
และ GU ยังถือเป็นหนึ่งในร้านที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชอปปิงให้กับลูกค้า เช่น การติดตั้งเครื่องอัตโนมัติ สำหรับให้ชำระเงินด้วยตนเองได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ร้าน Fast Fashion รายอื่นๆ กำลังลำบาก
คือ การที่ผู้บริโภคในตลาดต้องการสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม
มากกว่าสินค้าราคาถูกแต่ใช้งานได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องโละทิ้ง
ดังนั้นในระยะยาว “การรักษาคุณภาพ” คงเป็นความท้าทายที่ GU จะต้องเผชิญหน้าและรับมือต่อไป
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า
ถึงแม้ว่าภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จนผู้เล่นในตลาดเริ่มล้มหายตายจาก
แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเป็นอย่างนั้นด้วยเสมอไป
1
เพราะถ้าหากเรารู้จักเรียนรู้ข้อผิดพลาดของผู้ที่ล้มเหลว
ข้อดีของผู้ที่ประสบความสำเร็จ
และนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ ให้เข้ากับจุดเด่นของตัวเอง
สุดท้ายเราก็อาจจะสามารถเอาตัวรอด และเติบโตได้ ดังเช่นกรณีของร้าน GU
โฆษณา