6 พ.ย. 2019 เวลา 10:13 • ไลฟ์สไตล์
อังกะลุง...เสน่ห์แห่งเสียงจากเพียงท่อนไม้ไผ่ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้งแห่งสัญลักษณ์การอยู่ร่วมกันของมวลมนุษย์
ที่มาของเรื่องในวันนี้เกิดจากการได้ไปชมคอนเสิร์ตอังกะลุงที่เล่นโดยวงดนตรีชาวญี่ปุ่นซึ่งมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซียและร่วมกันตั้งวงขึ้นจากความสนใจส่วนตัว เสน่ห์ของมันทำให้ผู้เขียนไปค้นคว้าต่อ กลายเป็นเรื่องมาเล่าพร้อมภาพบรรยากาศ (เสียดายที่ไม่สามารถอัพโหลดวีดิโอได้)
คอนเสิร์ตอังกะลุง โดยวงดนตรีชาวญี่ปุ่น ที่ Le Seminyak Cafe ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
อังกะลุง อาจจะดูไม่น่าสนใจในสายตาคนทั่วไป ที่ผ่านมาผู้เขียนเองก็ไม่เคยสนใจเครื่องดนตรีชนิดนี้ แม้จะเคยได้รู้จักในโรงเรียนตั้งแต่เด็ก จนได้มาชมการแสดงหลายครั้งในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นแดนกำเนิดของอังกะลุง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกทึ่งในภูมิปัญญาของผู้ประดิษฐ์ และหลงใหลในเสียงที่เรียบง่ายแต่จริงใจของเครื่องดนตรีชนิดนี้ พร้อมการเล่นที่ต้องอาศัยความสามัคคีเป็นหัวใจหลัก เสียงอันสนุกสนานครื้นเครงที่กังวานออกมาจากเพียงกระบอกไม้ไผ่ที่เรียงต่อกันเป็นท่อนๆ นำมาประสานร่วมกับเครื่องดนตรีจากไม้ไผ่อีกหลายชิ้น รวมเข้ากันเป็นเสียงที่กระตุ้นต่อมแห่งความสุขอย่างเฉียบพลัน
เครื่องอังกะลุงตัวเอกที่มีมากกว่า 20 เสียง
กำเนิดของอังกะลุงมีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติและมนุษย์อย่างน่าสนใจ เริ่มแรกใช้เพื่อสร้างเสียงที่ไพเราะในการบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร โดยเริ่มเล่นในแถบซุนดา หรือเกาะชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ต่อมาจึงได้พัฒนาเครื่องดนตรีและขยายวงร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นจนกลายเป็นวงดนตรีที่เล่นในโอกาสต่างๆ
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวซุนดาเล่าว่า กระบอกไผ่อังกะลุงก็คือสัญลักษณ์ของมนุษย์นั่นเอง เพราะอังกะลุงจะเป็นอังกะลุงไปไม่ได้ ถ้ามันอยู่ลำพังเพียงกระบอกเดียว เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ส่วนกระบอกที่มีขนาดใหญ่เล็กเรียงต่อกัน ก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต่างเติบโตและพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของตน และหลอมรวมกันเป็นมวลมนุษยชาติในที่สุด
จึงไม่น่าแปลกที่อังกะลุงได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity - RL) ของ UNESCO เมื่อปี 2010 (ไทยเราก็ได้รับการขึ้นทะเบียนนี้เช่นกันเป็นครั้งแรกในปี 2018 สำหรับ "การแสดงโขนในประเทศไทย")
อังกะลุงได้รับการนำเข้ามาในประเทศไทยในรัชกาลที่ 5 โดยเจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดชที่เสด็จประพาสไปยังประเทศชวา พร้อมด้วยหลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อปีพ.ศ. 2450 และได้มีการพัฒนาขนาดและเสียงรวมถึงวิธีการเล่นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6
โฆษณา