7 พ.ย. 2019 เวลา 13:30 • ประวัติศาสตร์
พันปียังเหมือนเดิม : ชนเผ่าเร่ร่อนมองโกเลีย...นักขี่ม้าที่เก่งที่สุดในโลก
"หากชาวมองโกลไม่มีม้าแล้วไซร้ ก็เปรียบเสมือนนกที่ไม่มีปีก" นี่คือประโยคอมตะหากคุณพูดถึง ม้า และ ชาวมองโกเลีย
มนุษย์เรานั้นเริ่มมีการจับสัตว์ป่าหลายชนิดมาเลี้ยงตั้งแต่หลายพันปีก่อน วัว, ควาย และ สุนัข ต่างก็มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นสัตว์ป่าทั้งนั้น เช่นเดียวกันกับ ม้า ... สัตว์ที่ไปจับมาจากป่า แต่เมื่ออยู่กับมนุษย์แล้ว พวกมันถือเป็นหนึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเสมอมา
ไม่มีที่ใดในโลกที่จะใช้ม้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากกว่าที่ มองโกเลีย ณ ประเทศนี้พวกเขาถูกยกให้เป็นยอดนักขี่ม้าที่เก่งที่สุดในโลก และเคยใช้ม้าเป็นกำลังสำคัญในการพิชิตทวีปเอเชียมาเเล้ว ภายใต้การบัญชาของหนึ่งในนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก "เจงกิสข่าน"
แม้การไล่พิชิตทวีปเอเชียจะผ่านไปนานเกือบพันปี แต่ถึงอย่างนั้นอิทธิพลของอดีต "นักรบบนหลังม้า" ก็ยังส่งผลมาถึงปัจจุบันอยู่ดี ชาวมองโกลยังใช้ม้าเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันไม่ผิดเพี้ยน และนี่คือเรื่องราวความยิ่งใหญ่ระหว่าง "คน กับ ม้า" ที่คงอยู่มาเเสนนานจนโลกต้องคารวะ
การพิชิตเอเชียด้วยม้า
"เป็นไปไม่ได้เลยที่จะจินตนาการถึงประวัติศาสตร์ชาติมองโกเลียหากว่าเราไม่มีม้า" นี่คือสิ่งที่ J. Tserendeleg ประธานสมาคมอนุรักษ์เพื่อมองโกเลียกล่าวเริ่มถึงสัตว์ 4 ขาที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวมองโกลมากที่สุด ...
มองโกเลีย เป็นประเทศที่มีจุดเริ่มต้นจากเหล่าชนเผ่าเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง พวกเขาเดินทางตลอดชีวิต ย้ายไปทุกที่ กระทั่งชนเผ่า คิตัน ได้สถานปนาราชวงศ์เหลียวขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 10 และค่อยๆ สร้างดินแดนให้เป็นปึกแผ่น
เมื่อปี 1206 เจงกิสข่าน ได้ก่อตั้งอาณาจักรมองโกลขึ้นและขยายอาณาจักรออกไปไม่หยุดยั้ง จนครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย-ยุโรป นับเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์ พวกเขาถูกกล่าวขานถึงว่าเป็นทัพนักรบบนหลังม้าที่โหด เหี้ยม และมีฝีมือมากที่สุดเช่นกัน
ในยุคที่ เจงกิสข่าน เป็นใหญ่นั้น ชาวมองโกล ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรทุกครอบครัวจะต้องมีม้าอย่างน้อย 1 ตัว เพราะม้าจะเป็นสัตว์ที่พวกเขานำไปใช้ในกิจวัตรประจำวัน ทั้งการขนของหรือการใช้ขี่ไปดูแล ต้อนฝูงแกะหรือปศุสัตว์ต่างๆ
เด็กๆทุกคนจะต้องฝึกขี่ม้าตั้งแต่ 2-3 ขวบ พวกมองโกลจะมีอานม้าพิเศษสำหรับเด็ก และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แทบทุกคนมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้น พวกเขาจะไม่ได้ถูกฝึกให้ขี่ม้าเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาจะถูกสอนให้สู้รบ หรือยิงธนูจากบนหลังม้าของพวกเขาเองอีกด้วย
ตลอดศตวรรษที่ เจงกิสข่าน และมองโกลออกทำศึกนั้น มีคำกล่าวตามหลังจากผู้พ่ายแพ้แก่พวกเขาเสมอว่า กองทัพมองโกลคือ "นักขี่ม้าจากนรก" โดยว่ากันว่าในยุคที่การเดินทางไปรบแสนยากลำบากนั้น ชาวมองโกลกลับเดินทางได้มากถึงวันละ 80 ไมล์ (หรือ 128 กิโลเมตร) เลยทีเดียว
และความสุดยอดนี้เองที่ทำให้กองทัพที่ถือกำเนิดจากชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน แถบทะเลทรายโกบีที่ได้ชื่อว่าป่าเถื่อนและล้าหลัง สามารถรบชนะกองทัพของดินแดนแห่งอารยธรรมได้อย่างไม่ยากเย็นตั้งแต่เหนือจรดใต้จาก เกาหลี จีน ทิเบต รัสเซีย ถึงแคว้นอาร์เมเนีย
ไม่ใช่เก่งแค่ขี่รบ
นอกจาก เจงกิสข่าน จะใช้ม้าเพื่อรบเเล้ว เขายังใช้ม้าเป็นเหมือนกับ "บุรุษไปรษณีย์" ด้วย เนื่องจากในเวลานั้นขอบเขตการปกครองของมองโกลนั้นกว้างใหญ่มาก ดังนั้นจึงมีการก่อตั้งสถานีส่งข้อความต่างๆโดยใช้ม้าเป็นตัวแพร่กระจายข่าวไปอย่างรวดเร็วอีกด้วย
แม้ม้าจะเป็นสัตว์ที่ชาวมองโกลใช้ในการพิชิตเอเชียเเล้ว ยังมีความลับอีกเรื่อง กล่าวคือชาวมองโกลกับม้านั้นแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกกิจวัตรประจำวันของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งพวกเขาตาย
ชาวมองโกล เลี้ยงม้าต่างจากชาติในยุโรปมาก ที่นี่ม้าไม่ใช่สินค้าราคาแพงที่คนจนจะเอื้อมไม่ถึง ชาวมองโกลไม่นิยมให้ม้ากินธัญพืชต่างๆ, ฟาง หรืออะไรก็เเล้ว พวกเขาจะไม่จับม้าขังคอกเหมือนกับพวกยุโรป แต่พวกเขาจะปล่อยให้ม้าได้กินหญ้าตามที่ราบอันกว้างใหญ่ โดยมีความเชื่อว่าธรรมชาตินั้นคืออาหารที่ดีที่สุด และที่สำคัญการเลี้ยงแบบธรรมชาติยังทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากจนเกินไปด้วย พวกเขามีความคิดที่ว่าม้าไม่ใช่สิ่งที่แสดงถึงฐานะ แต่คือสัตว์ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ชาวมองโกลทำกับม้ามันลึกซึ้งเกินกว่าจะอธิบายได้ มีนักเขียนและนักเดินทางชาวเดนมาร์กชื่อ เฮนนิ่ง ฮาสลุนด์ เคยอธิบายว่า ม้าของชาวมองโกลเหมือนกับม้าป่า ที่ไม่ยอมให้ใครบังคับ แต่พวกมันเลือกจะทำตามเอง
"มันเป็นเรื่องที่สุดยอดมาก ที่ชาวมองโกลสามารถเชื่อมต่อกับม้าของพวกเขาได้ เมื่อพวกเขากระโดดขึ้นหลังม้า เมื่อนั้นพวกเขาจะแสดงสีหน้าว่ามีความสุข แต่ในทางเดียวกันมันจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความสง่างามของชาวมองโกลด้วย" ส่วนหนึ่งที่ ฮัสลุนด์ เขียนไว้ในปี 1934
หากจะย้อนไปไกลกว่านั้นก็มีหลักฐานการยืนยันจากบันทึกการเดินทางของ จิโอวานนี่ เด คาร์ปินี นักบวชคณะฟรังซิสกันผู้มาเยือนมองโกเลียในปี 1240 และนักบวชจากแดนไกลพบว่า "นี่คือเรื่องที่ไม่มีที่ไหนในโลกอีกเเล้ว"
"ลูกๆ ของพวกเขาเริ่มต้นขี่ม้าตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ พวกเขาจะได้เริ่มควบม้าและบังคับมัน เด็กๆ พวกนี้ว่องไวและกล้าหาญ ต่อให้เป็นเด็กผู้หญิงก็คล่องแคล่วไม่ต่างกับเด็กผู้ชาย" นี่คือสิ่งที่ จิโอวานนี่ ยืนยัน
3 ขวบสำหรับสำหรับเริ่มต้น 4 ขวบสำหรับการบังคับ 6 ขวบสำหรับการควบม้าเพื่อเเข่งขัน และ 10 ขวบเพื่อเป็นสุดยอดนักขี่ม้าและทำให้ม้าเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ... นี่คือวิถีที่เด็กๆ ชาวมองโกลถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก และมันบอกอะไรได้หลายอย่างว่าทำไมพวกเขาจึงยิ่งใหญ่จากการรบบนหลังม้า
นอกจากนี้คนขี่ม้าในประเทศมองโกเลียจะต้องเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดูแลม้าด้วย เพราะพวกเขาไม่ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาฝึกสอน รวมถึงไม่มีสัตวเเพทย์ พวกเขาต้องดูแลเองทุกขั้นตอน และทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขารู้เกี่ยวกับม้าจะถูกถ่ายสอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยแทบไม่มีส่วนประกอบจากหนังสือหรือหลักสูตรจากโลกภายนอกเลย
สำหรับชาวมองโกลแล้ว ม้าคือ "แทบทุกสิ่ง" ของพวกเขา ไม่แปลกนักที่พวกเขาจะเคารพม้ายิ่งกว่าในฐานะเพื่อนร่วมทางของพวกเขา นมของแม่ม้าคือสิ่งที่ชาวมองโกลเชื่อว่าเป็นเหมือนน้ำมนต์ นอกจากนี้ทุกครั้งที่ชาวมองโกลดื่มเหล้าในขณะที่อยู่บนหลังม้า พวกเขาจะต้องเทเหล้าใส่แผงคอของม้าเสียก่อน เพราะแผงคอของม้าคือเครื่องหมายของความแข็งแกร่ง
การ "เคารพม้า" สืบต่อมากันอย่างยาวนาน บางครอบครัวนั้นจะมี "ม้าศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งเป็นม้าป่าที่จะไม่ถูกขี่ แต่จะถูกเก็บไว้เพื่อเป็นเครื่องสังเวยในโอกาสพิเศษเท่านั้น โดยพิธีนี้ก็สืบทอดมาจากยุคของ เจงกิสข่าน เช่นกันเพราะในวันที่ เจงกิสข่าน เสียชีวิตพิธีศพของเขามีม้าถูกสังเวยทั้งหมด 40 ตัว เลยทีเดียว
ปัจจุบันที่แทบไม่เปลี่ยนแปลง
ทุกวันนี้โลกวิวัฒนาการไปไกล หลายความเชื่อจากเผ่าต่างๆ ถูกหักล้างด้วยวิทยาศาสตร์และเลือนหายไป แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ม้า และ ชาวมองโกล นั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันม้ายังคงเป็นทางเลือกแรกสำหรับการขนส่งไม่ว่าจะทั้งคนและสินค้า ว่ากันว่าประชากรม้าในมองโกเลียนั้นหากเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศจะได้สัดส่วนเกือบ 1:1 เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าทุกวันนี้มองโกเลียเป็นประเทศที่มีม้ามากกว่า 3 ล้านตัว
มองโกเลียยังคงรักษาวัฒนธรรมพระเพณีมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่ประชากรกว่า 3 ล้านคนจะใช้งานในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ม้ายังถูกใช้ในฐานะ "ผู้นำเที่ยว" สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศ หากคุณลองได้ดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จะพบบว่าทริปขี่ม้าเที่ยวเมืองมองโกลเป็นกิจกรรมที่นิยมอย่างมากในทุกวันนี้
"พวกเราชาวมองโกลเคารพม้า มันเป็นเพื่อนของเรา ทั้งกลางวันและกลางคืน มันคือความสุขและความภาคภูมิใจของเหล่าคนเลี้ยงสัตว์ที่มองโกเลีย เราเชื่อว่าเราจะไม่มีอะไรเลยหากปราศจากซึ่งม้าเหล่านี้" คนท้องถิ่นจากเมือง อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของประเทศ ให้สัมภาษณ์กับนักเขียนจากเว็บไซต์ amnh.org
เมื่อความสวยงามของประเทศและเรื่องราวเกี่ยวกับคนและม้าทุกเล่าแบบปากต่อปาก ทุกวันนี้ มองโกเลีย มีงานเเข่งม้าที่คนรักม้าทั่วโลกฝันอยากจะมาเยือนสักครั้ง โดยมีชื่องานว่า "มองโกล ดาร์บี" ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2009
"มองโกล ดาร์บี" ไม่ใช่การแข่งม้าแบบปกติทั่วไป แต่คือการแข่งที่โหดมากที่สุดที่หนึ่ง นักแข่งจะต้องอยู่บนหลังม้าและขี่ม้าผ่านเส้นทางม้านำสารในอดีตของมองโกล รวมระยะทาง 1,000 กิโลเมตร
ทอม มอร์แกน คือผู้ก่อตั้งการแข่งขัน มองโกล ดาร์บี เขาเล่าให้กับ BBC ฟังว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากม้านำสารในอดีตของ เจงกิสข่าน และเผยถึงสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวมองโกเลียคือ ไม่ว่าจะเป็นการขี่ม้าไปรบ หรือขี่ม้านำสาร สิ่งสำคัญที่สุดคือ "คนกับม้า" ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน
"คนที่ดูแลม้าดีกว่า มักทำผลงานได้ดีกว่าคนที่มุ่งแต่จะเอาชนะ ม้าบางตัวก็คึกคะนองกว่าตัวอื่น และผมคิดว่า อารมณ์ของผู้ขี่ กับอารมณ์ของม้าควรไปทางเดียวกันด้วย" ทอม มอร์แกน กล่าว
เรื่องราวทั้งหมดแสดงให้เห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าทำไม "มองโกล" จึงเป็นเผ่าพันธุ์ที่ควบคุมม้าหรือขี่ม้าได้เก่งที่สุดในโลก ในทุกขั้นตอนของการเลี้ยงแทบจะปล่อยตามธรรมชาติไม่มีการบังคับเฆี่ยนตี นอกจากนี้เมื่อม้ายอมให้พวกเขาขี่แล้ว พวกเขายังมองมันในฐานะเพื่อน ไม่ใช่พาหนะที่จะพาพวกเขาไปไหนก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ และสิ่งสำคัญที่สุดคือพรสวรรค์ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นนั่นคือการ "รู้กันกับม้า" แม้ว่าจะพูดกันคนละภาษก็ตาม
ไม่ว่าจะสู้รบ, ส่งสินค้า, แบกหาม หรือ ท่องเที่ยว พวกเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งนั้น ต้องยอมรับว่าชาวมองโกลคือมนุษย์กลุ่มที่เกิดมาเพื่ออยู่กับม้า...อย่างแท้จริง
หากคุณสนใจเรื่องของขี่ม้ามากขึ้นแล้ว อย่าลืมติดตาม แข่งขันกีฬาขี่ม้ารายการ Princess’ s Cup Thailand 2019 ภายใต้สโลแกน “Keep Working, Riding Happy with 2 Hearts, Feeling for Feeling” ณ สนามกีฬาขี่ม้า กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า กทม.ระหว่างวันที่ 19 - 24 พฤศจิกายนนี้ และการแข่งขันขี่ม้าชิงแชมป์เอเชีย หรือ FEI Asian Championship 2019 ที่พัทยา, จังหวัดชลบุรี วันที่ 1 - 8 ธันวาคมนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับเอเชีย ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ขี่ม้านานาชาติ หรือ FEI ด้วย
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา