10 พ.ย. 2019 เวลา 02:40 • ธุรกิจ

สรุประบบรางในอนาคต ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย

ถ้าถามว่า ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบในเรื่องใดมากที่สุด
“ทำเล” จะเป็นหนึ่งในคำตอบนั้น
ด้วยการที่ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ล้อมรอบด้วยกลุ่มประเทศ CLMV
ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 170 ล้านคน
เมื่อรวมกับประชากรไทยอีก 69 ล้านคน จะทำให้มีประชากรบนผืนแผ่นดินบริเวณนี้มากถึง 239 ล้านคน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากบนโลกนี้
1
การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งทางราง
แล้วระบบราง จะเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า การขนส่งสินค้าทางราง มีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งสินค้าทางถนนถึง 2 เท่า
จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ในปี 2560
ต้นทุนการขนส่งทางถนน อยู่ที่ 2.12 บาท/ตัน/กิโลเมตร
ต้นทุนการขนส่งทางราง อยู่ที่ 0.95 บาท/ตัน/กิโลเมตร
2
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางรางกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
สาเหตุหลักคือ รางรถไฟไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด
และรางรถไฟที่มีกว่าร้อยละ 90 ล้วนเป็น “ทางเดี่ยว”
คำว่าทางเดี่ยวหมายความว่า หากมีรถไฟ 2 ขบวน วิ่งมาคนละทิศทางกัน
ทั้ง 2 ขบวน จะสวนทางกันไม่ได้ ต้องจอดรอให้อีกขบวนไปก่อน
และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การขนส่งสินค้าทางรางใช้ระยะเวลานานกว่าการขนส่งทางถนน และทำให้ได้รับความนิยมน้อยกว่า
การขนส่งผู้โดยสารทางรางก็ใช้เวลานานเช่นกัน และทำให้ผู้โดยสารเลือกเดินทางด้วยเส้นทางอื่น
ทั้งทางถนน และอากาศ
แต่หลังจากนี้ การขนส่งระบบรางมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ซึ่งประกอบไปด้วย
รถไฟทางคู่
Cr. ประชาชาติธุรกิจ
หากมีเส้นทางรถไฟ 2 ทางคู่ขนานกัน ก็จะทำให้รถไฟสามารถสวนทางกันได้
และการขนส่งทั้งคนและสินค้าจะลดระยะเวลาลงไปมาก
ขณะนี้มีโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565
โดยมีการสร้างสถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นศูนย์กลางขนส่งทางรางของประเทศไทย
สายเหนือ จากบางซื่อ ถึงสถานีปากน้ำโพ นครสวรรค์
สายอีสาน จากบางซื่อ ถึงสถานีขอนแก่น
สายใต้ จากบางซื่อ ถึงสถานีชุมพร
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จะแล้วเสร็จภายในปี 2570
สายเหนือ ต่อไปจนถึงสถานีเชียงใหม่
และมีสายใหม่ แยกจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ ถึงสถานีเชียงของ จ.เชียงราย
ซึ่งรองรับการขนส่งทั้งคนและสินค้า เชื่อมต่อกับจีน พม่า และลาว
สายอีสาน ถึงสถานีหนองคาย เชื่อมต่อกับทางรถไฟจากลาว
สายใต้ ถึงสถานีปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ซึ่งรองรับการขนส่งเชื่อมกับมาเลเซีย
หากทั้ง 2 เฟสแล้วเสร็จ จะส่งผลให้การขนส่งทั้งคนและสินค้ามีการพัฒนามากขึ้น
ภายในประเทศ โรงงานสามารถส่งสินค้าผ่านทางรถไฟให้ลูกค้าในภูมิภาคต่างๆ ด้วยต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า
และระหว่างประเทศ สินค้าจากจีน สามารถขนส่งมาให้ลูกค้าในไทยผ่านทางรถไฟ ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการขนส่งทางรถ หรือทางเรือ
เช่นเดียวกับที่สินค้าในไทย สามารถขนส่งออกไปขายที่ลาว พม่า หรือมาเลเซียได้
นอกจากรถไฟทางคู่ ยังมีอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ “รถไฟความเร็วสูง”
Cr. Great Ecology
ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง
ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566
เส้นทางที่ 1 บางซื่อ - นครราชสีมา (โคราช)
ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะช่วยเรื่องการเดินทางของคนในภาคอีสานมายังกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งการค้า และการท่องเที่ยว ระหว่าง 2 ภูมิภาคได้
1
โดยแผนระยะยาวของเส้นทางนี้ จะเชื่อมไปถึง จ.หนองคาย เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟจากจีนที่เชื่อมผ่านมายังประเทศลาว
เส้นทางที่ 2 รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกรุงเทพฯ มีปริมาณมากจนทำให้สนามบินหลักทั้ง 2 แห่ง
คือ ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีจำนวนผู้ใช้บริการเกินขีดจำกัดมานานแล้ว
สนามบินอู่ตะเภาจึงช่วยรองรับปริมาณการใช้งานนี้ และแบ่งเบาผู้โดยสารบางส่วนที่ต้องการเดินทางไปยังเมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น พัทยา ระยอง
Cr. Thairath
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวมานาน
ททท. คาดว่าในปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทยถึง 40 ล้านคน
และคาดว่าจะเพิ่มถึง 79 ล้านคนในอีก 11 ปีข้างหน้า
3
นอกจากการท่องเที่ยว
เส้นทางนี้ยังเป็นที่ตั้งของแหล่งนิคมอุตสาหกรรม
รวมถึงโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการใหม่
การมีรถไฟความเร็วสูง จะทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขต EEC กับกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น
2
มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า รายได้จากค่าโดยสาร ค่าขนส่ง จะคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่?
สำหรับโครงการพัฒนาระบบราง การจะคิดกำไรจากค่าตั๋วโดยสาร และค่าขนส่งเพียงอย่างเดียว โดยคาดหวังให้คุ้มทุนนั้นเป็นไปได้ยาก
แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่า เมื่อมีเส้นทางขนส่งที่ดี ย่อมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ เกิดการจ้างงาน เกิดโรงงานอุตสาหกรรม เกิดเมืองใหม่ เกิดภาคบริการท่องเที่ยว และนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ซึ่งผลดีทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะสะท้อนออกมาทางอ้อม ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายได้ค่าโดยสาร
2
คงต้องดูกันต่อไปว่า หากโครงการรถไฟทั้งหมดแล้วเสร็จ จะช่วยพลิกโฉมการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด
“ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง”
ทุกคนล้วนคุ้นเคยกันดีว่าหมายถึงอะไร
ไม่แน่ว่า เราอาจจะไม่ได้ใช้ประโยคนี้อีกต่อไปแล้ว ก็เป็นได้..
โฆษณา