9 พ.ย. 2019 เวลา 11:46 • สุขภาพ
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
 
คือข้าวสายพันธุ์ดีที่สุดในโลกไหม
คำตอบอยู่ในบทความนี้..
ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรประมาณ ๗,๗๐๐ ล้านคน
โดยกว่าร้อยละ ๖๐ หรือราวๆ ๔,๕๐๐ ล้านคน เป็นประชากรของทวีปเอเชีย
ซึ่งในภูมิภาคนี้จะบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
นั่นจึงแสดงว่าประชากรกว่าครึ่งค่อนโลกบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมประชากรจากทวีปอื่นเช่น อเมริกาใต้ แอฟริกา อเมริกาหรือแม้แต่ยุโรป
ซึ่งก็มีประชากรกลุ่มหนึ่งบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเช่นกัน
ดังนั้นในแง่ที่เป็นปัจจัยด้านอาหารเพื่อการดำรงอยู่และดำเนินไปของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ จึงสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ข้าวคือธัญพืชที่สำคัญที่สุด
ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ ข้าวสายพันธุ์ดีที่ที่สุดในโลก
แต่ในโลกใบนี้มีสายพันธุ์ข้าวกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด ซึ่งมีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งเพาะปลูกกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก
แต่จะมีข้าวสักกี่ชนิด ที่เป็นข้าวสายพันธุ์ดีที่คนนิยมนำมาบริโภค วันนี้แมวพิมพ์จะเหลาให้ฟัง
ความจริงมีอยู่ว่า แม้ข้าวจะเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทุกภูมิภาคของโลก
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าวทุกชนิดจะมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การนำมาบริโภคได้ทั้งหมด
เพราะปัจจัยสำคัญด้านถิ่นฐานกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นสภาพของดิน ฟ้า อากาศ อุณหภูมิหรือปัจจัยอื่นๆ
ก็ล้วนมีผลต่อคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์ในด้านรสชาติหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ในอันจะมีผลต่อความนิยมที่คนจะนำมาบริโภค
ซึ่งสภาพดินฟ้าอากาศ หรือสภาพภูมิพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งกำเนิดข้าวสายพันธุ์ดีและให้คุณสมบัติที่ดีต่อการนำมาบริโภค จะได้แก่ภูมิภาคแถวทวีปเอเชีย
นั่นเพราะทวีปเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในรอบ ๑ ปี
มีพายุหรือมรสุมที่นำพาฝนมาสร้างความชุ่มฉ่ำให้ดินอุดมสมบูรณ์ มีอากาศแบบร้อนชื้นแต่อบอ้าวซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวสายพันธุ์ดีเป็นอย่างมาก
โดยจะเห็นได้จากกลุ่มประเทศที่ผลิตข้าวเพื่อบริโภคและส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เวียตนามและก็ไทย เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย
ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปหรือภูมิภาคเดียวกัน ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศคล้ายๆกันทั้งนั้น
ดังนั้นเมื่อกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างก็อยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบในด้านมีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเป็นฐานผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก
หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่าคือกลุ่มประเทศที่กุมชะตาชาวโลกด้านอาหารก็ไม่เกินไปนัก
จึงทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้แทนที่จะจับมือกันแต่กลับแข่งขันในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดเพื่อหวังผลต่อการส่งออกให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างประเทศอินเดียก็เคลมว่า ข้าวสายพันธุ์ดีที่สุดต้องเป็นข้าวพันธุ์ บาสมาติ ของตัวเองเท่านั้น
ซึ่งเมื่อแขกเปิดมาอย่างนี้ มีหรือพี่ไทยจะยอม
เพราะไทยแลนด์แดนสยามเมืองยิ้มแห่งนี้ ก็มีข้าวสายพันธุ์ดีที่เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวโลกมาช้านาน
จนชาวโลกต่างเล่าขานว่ามีสายพันธุ์ข้าวอันเป็นตำนานที่ยังยืนหนึ่งมาตลอดทุกยุคทุกสมัยว่า..
ต่อให้มีข้าวสายพันธุ์ดีมาจากอาณาจักรไหน
ข้าวสายพันธุ์ไทยยี่ห้อ " หอมมะลิ " จากทุ่งกุลาร้องไห้ ก็ยืนหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร ในปฐพีนี่นี้ จงเป็นพยาน..
หอมมะลิ ขาวเหมือนดอกมะลิ กลิ่นหอมเหมือนใบเตย กำลังแทงรวง
และซึ่งพี่ไทยได้กล่าวอ้างไว้แบบนี้ มีหรือประเทศผู้น้องอย่างเคลมพูเชีย เอ๊ย กัมพูชา จะยอม
พร้อมกับส่งคำถามแบบมั่นๆและไม่แคร์แก่พี่แขกและพี่ไทยว่า..ช้าก่อน..เด็จพี่ทั้งสอง
ถ้ายังบ่เคยลิ้มลองข้าวสายพันธุ์
"  ผกาลำดวนกับมาลีอังกอร์ " ของน้องยา
ก็ขออย่าพึ่งออกตัวแรงไปเยี่ยงนั้น.. เพราะประเดี๋ยวมันจะได้อาย
ซึ่งนั่น..จึงกลายเป็นความท้าทายว่าเวทีแห่งผู้ชนะไม่ควรมีเบอร์หนึ่งสองคน !
จึงจำเป็นต้องหาเหตุผลและสนามเพื่อประลองให้ได้มาซึ่งผู้ชนะที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว
จึงเกิดเวทีประกวดข้าวโลกขึ้น
ซึ่งอนุญาตให้ผู้กล้าไม่ว่าหน้าไหน ถ้ามั่นใจว่าตัวเองคือของจริงก็สามารถส่งข้าวสายพันธุ์อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศตัวเองเข้าร่วมชิงชัยได้
โดยมีกติง่ายๆคือ
๑.มีการตั้งคณะกรรมการจากหลายๆประเทศมานั่งล้อมวงเพื่อตัดสินว่าข้าวประเทศใดจะได้ชัยชนะไปครอง
๒.มีวิธีการทดสอบ โดยการนำข้าวแต่ละสายพันธุ์ของแต่ละประเทศที่ส่งเข้าประกวดไปหุง นึ่ง หรือต้ม ซึ่งจะไม่บอกชนิดว่าเป็นข้าวสายพันธุ์ไหนของประเทศใด จากนั้นตักใส่ภาชนะไว้ แล้วให้คณะกรรมการลิ้มรองชิมรสชาติ
โดยมีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนน ๕ ด้านดังนี้
๒.๑ กลิ่น
๒.๒ รสชาติ
๒.๓ ความเหนียวนุ่ม
๒.๔ ความชื้นและ..
๒.๕ รูปร่างลักษณะ
ซึ่งจากข้อมูลที่มีการเริ่มประกวดตั้งแต่ครั้งแรกในปี ๒๕๕๒ ปรากฎผลผู้ชนะดังนี้
ครั้งที่ ๑ ปี ๒๕๕๒ ผู้ชนะได้แก่
         ข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ประเทศไทย
ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๕๓ ผู้ชนะได้แก่
          ข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ประเทศไทย
ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๕๔ ผู้ชนะได้แก่
          ข้าวสายพันธุ์ ปอซาน ประเทศเมียนม่า
ครั้งที่ ๔ ปี ๒๕๕๕ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ ผกาลำดวน ประเทศกัมพูชา
ครั้งที่ ๕ ปี ๒๕๕๖ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ ผกาลำดวน ประเทศกัมพูชา
ครั้งที่ ๖ ปี ๒๕๕๗ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ ผกาลำดวน ประเทศกัมพูชา และข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ประเทศไทย
ครั้งที่ ๗ ปี ๒๕๕๘ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ แคลิฟอร์เนีย โรส ประเทศสหรัฐอเมริกา
ครั้งที่ ๘  ปี ๒๕๕๙ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ประเทศไทย
ครั้งที่ ๙  ปี ๒๕๖๐ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ประเทศไทย
ครั้งที่ ๑๐  ปี ๒๕๖๑ ผู้ชนะได้แก่
           ข้าวสายพันธุ์ มาลี อังกอร์ ประเทศกัมพูชา
เมื่อผลออกมาเช่นนี้ จึงสามารถสรุปผลง่ายๆตามสายตาที่เห็นว่าผู้ชนะเบอร์หนึ่งซึ่งมีเบอร์สองจี้ตูดมาติดๆคือ
ข้าวสายพันธุ์ หอมมะลิ ของประเทศไทย คว้าชัยไป ๕ ครั้ง
ส่วนอันดับสองคือ น้องเคลมพูเชีย คว้าชัยมาได้ ๔ ครั้ง
โดยใน ๑ ครั้ง คือการประกวดครั้งที่ ๖ ปี ๒๕๕๗ เป็นการยืนหนึ่งทั้งสองประเทศคือทั้งพี่ไทยและน้องกัมพูชา ได้ชัยชนะร่วมกัน
ดังนั้นจากสถิติการประกวดย้อนหลัง ๑๐ ปีหรือ ๑๐ ครั้ง คงพอทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพของข้าวโดยเฉพาะประเทศไทยและประเทศกัมพูชา มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกันมาก
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าวสายพันธุ์ของประเทศอื่นนอกจากนี้จะมีคุณภาพที่ยังห่างจากข้าวหอมมะลิหรือข้าวสายพันธุ์อังกอร์แต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ปอซาน ของเมียนม่า
ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์แคลิฟอเนีย ของอเมริกา
หรือของประเทศอื่นก็ล้วนน่าจับตา เพราะต่างก็มีทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพดีในทุกๆปี
จะมีที่ค่อนข้างน่าแปลกและน่าสนใจมากตรงที่ทำไมข้าวสายพันธุ์เลื่องชื่อของประเทศที่เป็นเบอร์หนึ่งด้านการส่งออกข้าวของโลก
คือข้าวสายพันธุ์ " บาสมาติ ' ของประเทศอินเดีย ถึงได้เงียบหายไปอย่างไรไม่รู้
และในบทความต่อไป จะเขียนถึงคู่แข่งที่น่ากลัวด้านการส่งออกและด้านรสชาติ รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของข้าวสายพันธุ์ดีที่ทั่วโลกนิยมบริโภคมากที่สุด
หอมมะลิทุ่งกุลา ข้าวพันธุ์ดีที่สุดในโลก
❤ กดไลค์ กดแชร์
❤ กดติดตาม ให้เพจแมวพิมพ์ด้วยนะครับ
โฆษณา