9 พ.ย. 2019 เวลา 11:18 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
การโคจรของชี่
ชี่แต่ละประเภท นอกจากจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันแล้ว ชี่ยังจะมีลักษณะการโคจรที่แตกต่างกันอีกด้วย
1.การโคจรของจิงชี่หรือลมปราณของเส้นลมปราณหลัก (經氣)
จิงชี่จะเป็นชี่ที่กระทำต่อเส้นลมปราณที่ชี่โคจรอยู่โดยเฉพาะ เส้นทางการโคจรของจิงชี่จะเริ่มต้นออก (所出) ที่จุดพุ (井穴) ไหลเอื่อย (所溜) ที่จุดธาร (滎穴) เติมใส่ที่ (所注) จุดเติม (輸穴) ไหลยาวดุจสายน้ำ (所行) ที่จุดสาย (經穴) และไหลรวมดุจสาคร (所入) ที่จุดรวม (合穴) จากนั้นจิงชี่จะเดินตามเส้นลมปราณและไหลเข้าสู่อวัยวะภายในที่เชื่อมโยง ดังนั้น ทิศทางการเดินของชี่ของเส้นลมปราณ ล้วนเริ่มต้นจากปลายเล็บของแขนขาแล้วไหลเข้าสู่อวัยวะภายในทั้งสิ้น
ในซู่เวิ่น (素問•血氣形志篇) จึงกล่าวว่า “เส้นไท่หยางมักจะเลือดมากชี่น้อย เส้นเส้าหยางมักจะเลือดน้อยชี่มาก เส้นหยางหมิงมักจะเลือดมากชี่มาก เส้นเส้าอินมักจะเลือดน้อยชี่มาก เส้นเจวี๋ยอินมักจะเลือดมากชี่น้อย เส้นไท่อินมักจะเลือดน้อยชี่มาก” ด้วยเพราะเหตุนี้ การที่เส้นอินและเส้นหยางมีความสัมพันธ์เชิงนอกในเป็นคู่ จึงทำให้เลือดและชี่ (เลือดและลม) เกิดการกระจายและเข้าสู่ภาวะความสมดุล ดังนั้น เส้นไท่หยางจึงเลือดมากชี่น้อย ส่วนเส้นเส้าอินจึงเลือดน้อยชี่มาก เส้นเส้าหยางจึงเลือดน้อยชี่มาก ส่วนเส้นเจวี๋ยอินจึงเลือดมากชี่น้อย และเส้นหยางหมิงที่มีลักษณะเลือดมากชี่มาก จึงเป็นสาเหตุของคำกล่าวที่ว่า เลือดลมล้วนเกิดจากเส้นหยางหมิงนั่นเอง
และด้วยเพราะลักษณะของเลือดและชี่ของแต่เส้นลมปราณมีความแตกต่าง ในการประยุกต์การรักษาจึงไม่ให้ฝังเข็มที่เส้นลมปราณที่ชี่น้อยให้มากเกินไป เพื่อป้องกันมิให้เอวี๋ยนชี่ของเส้นลมปราณพร่องมากเกินไปนั่นเอง ส่วนเส้นลมปราณที่เลือดน้อย จึงไม่นิยมให้รมยามากจนเกินไป ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ทำร้ายเลือดอินมากเกินไปนั่นเอง
2.การโคจรของลั่วชี่หรือพลังเส้นเชื่อม (絡氣)
พลังเส้นเชื่อมหรือลั่วชี่ (絡氣) ก็คือพลังลมปราณของเส้นเชื่อมนั่นเอง เส้นเชื่อมมีทั้งหมด 15 เส้น เป็นเส้นลมปราณที่เชื่อมต่อเส้นลมปราณหลักที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในเข้าไว้ด้วยกัน
1
ประกอบด้วย เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นปอดจากจุดเลี่ยเชวีย (LU7) ไปที่เส้นลำไส้ใหญ่ เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นลำไส้ใหญ่จากจุดเพียนลี่ (LI6) ไปที่เส้นปอด
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นหัวใจจากจุดทงหลี่ (HT5) ไปที่เส้นลำไส้เล็ก เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นลำไส้เล็กจากจุดจือเจิ้ง (SI7) ไปที่เส้นหัวใจ
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นเยื่อหุ้มหัวใจจากจุดเน่ยกวน (PC6) ไปที่เส้นซันเจียว เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นซันเจียวจากจุดว่ายกวน (TE5) ไปที่เส้นเยื่อหุ้มหัวใจ
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นตับจากจุดหลีโกว (LR5) ไปที่เส้นถุงน้ำดี เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นถุงน้ำดีจากจุดกวงหมิง (GB37) ไปที่เส้นตับ
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นไตจากจุดต้าจง (KI4) ไปที่เส้นกระเพาะปัสสาวะ เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นกระเพาะปัสสาวะจากจุดเฟยหยาง (BL58) ไปที่เส้นไต
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นกระเพาะอาหารจากจุดเฟิงหลง (ST40) ไปที่เส้นม้าม เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นม้ามจากจุดกงซุน (SP4) ไปที่เส้นกระเพาะอาหาร
เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นตูม่ายจากจุดฉางเฉียง (GV1) ไปที่เส้นเยิ่นม่าย เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นเยิ่นม่ายจากจุดจิวเหว่ย (CV15) ไปที่เส้นตูม่าย เส้นเชื่อมใหญ่ที่เชื่อมออกจากเส้นม้ามคือจุดต้าเปา (SP21)
เส้นลั่วม่ายหรือเส้นเชื่อมจะไม่ใช่เส้นทางหลักของพลังลมปราณ หากแต่เป็นเส้นลมปราณแขนงที่ลมปราณจะไหลผ่านไปยังเส้นลมปราณอีกเส้นหนึ่ง โดยเส้นลมปราณที่มีการเชื่อมกันทั้งสองนี้จะมีความสัมพันธ์แบบนอกใน (表裡關係) ความสัมพันธ์แบบนอกในจะเป็นความสัมพันธ์ของสองอวัยวะที่มีความสัมพันธ์ของธาตุที่เหมือนกัน มีเส้นลมปราณที่เชื่อมถึงกัน และมีลักษณะของเส้นลมปราณที่เส้นหนึ่งอยู่นอก (หยาง) และอีกเส้นหนึ่งอยู่ใน (อิน) ที่สัมพันธ์กัน
แม้นเส้นเชื่อมจะไม่ใช่เส้นหลัก แต่เนื่องจากเป็นการเชื่อมในลักษณะที่มีความสัมพันธ์แบบนอกใน จึงทำให้มีบทบาทในการเชื่อมต่อการทำงานของเส้นลมปราณทั้งสองอย่างสำคัญยิ่ง ในตำราหนันจิง (難經•二十三難) กล่าวว่า “เส้นเชื่อมทั้งสิบห้า ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากเส้นดั้งเดิม เชื่อมต่อเป็นวงเวียนแบบปลายเปิด และทำการหล่อเลี้ยงกันไปมา”
ประโยคนี้ได้อธิบายว่า พลังลมปราณของเส้นเชื่อมจะมาจากเส้นลมปราณหลัก โดยจะเริ่มจากจุดฝังเข็มของเส้นลมปราณที่อยู่ส่วนนอก แยกออกไปเชื่อมกับเส้นลมปราณที่อยู่ส่วนใน จากนั้นก็จะแยกออกจากจุดฝังเข็มของเส้นลมปราณที่อยู่ส่วนใน ไปเชื่อมกับเส้นลมปราณที่อยู่ส่วนนอก การเชื่อมกันดังนี้จะมีลักษณะเป็นวงเวียนปลายเปิดที่จะหมุนเวียนหล่อเลี้ยงกันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
3.การโคจรของอิ๋งชี่ (營氣)
อิ๋งชี่จะเป็นลมปราณที่เกิดจากสารอาหารละเอียดที่ได้จากการกินดื่มของร่างกาย อิ๋งชี่จะมีลักษณะการโคจรที่เป็นวัฏจักรตามเวลาของพระอาทิตย์ที่ขึ้นลงในหนึ่งวัน คนรุ่นหลังจึงเรียกลักษณะการโคจรของอิ๋งชี่ว่านาฬิกาชีวิต
นาฬิกาชีวิตหมายถึงวัฏจักรการหมุนเวียนแห่งอิ๋งชี่ที่จะโคจรไปตามอวัยวะต่าง ๆ ตามจังหวะเวลาในแต่ละวัน
ในตำราแพทย์จีนได้ระบุว่า ในช่วงเวลาหนึ่งวัน อิ๋งชี่จะเริ่มต้นหมุนเวียนจากปอดในช่วงเวลา 3:00~5:00 เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ในช่วงเวลา 5:00~7:00 เข้าสู่กระเพาะอาหารในช่วงเวลา 7:00~9:00 เข้าสู่ม้ามในช่วงเวลา 9:00~11:00 เข้าสู่หัวใจในช่วงเวลา 11:00~13:00 เข้าสู่ลำไส้เล็กในช่วงเวลา 13:00~15:00 เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะในช่วงเวลา 15:00~17:00 เข้าสู่ไตในช่วงเวลา 17:00~19:00 เข้าสู่เยื่อหุ้มหัวใจในช่วงเวลา 19:00~21:00 เข้าสู่ซันเจียวในช่วงเวลา 21:00~23:00 เข้าสู่ถุงน้ำดีในช่วงเวลา 23:00~1:00 และเข้าสู่ตับในช่วงเวลา 1:00~3:00
จากนั้นอิ๋งชี่ของร่างกายก็จะหมุนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป จังหวะเวลาที่อิ๋งชี่โคจรไปในอวัยวะใด ในจังหวะเวลานั้นเป็นเวลาที่อิ๋งชี่จะไปบรรจบกับจิงชี่หรือพลังเส้นลมปราณของอวัยวะนั้นพอดี ดังนั้น ช่วงเวลาที่อิ๋งชี่ได้หมุนเวียนถึง อวัยวะและเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องก็จะมีพลังที่กระชุ่มกระชวยมากเป็นพิเศษ
การโคจรของอิ๋งชี่จะดำเนินการพร้อมกันทั้งซ้ายและขวา ใช้เวลาหนึ่งวันกับอีกหนึ่งคืนในการหมุนเวียนไปทั่งร่างกาย ในหนึ่งอวัยวะจะใช้เวลาสองชั่วโมง ส่วนทิศทางการหมุนเวียนของอิ๋งชี่นี้ จะเริ่มจากเส้นสามอินมือ (เส้นปอด เส้นหัวใจ เส้นเยื่อหุ้มหัวใจ) ที่อกไปที่มือ เส้นสามหยางมือ (เส้นลำไส้ใหญ่ เส้นลำไส้เล็ก เส้นซันเจียว) ที่มือไปที่หัว เส้นสามหยางขา (เส้นกระเพาะอาหาร เส้นกระเพาะปัสสาวะ เส้นถุงน้ำดี) ที่หัวไปที่ขา เส้นสามอินขา (เส้นม้าม เส้นไต เส้นตับ) ที่ขาไปที่ท้องและอก เส้นทุกเส้นจะไปพร้อมกันทั้งซ้ายขวา ชายและหญิงก็จะดำเนินอยู่เช่นนี้ไม่ต่างกัน
รูปที่ 5.6 กราฟแสดงการหมุนเวียนและการเชื่อมต่อของอิ๋งชี่ในตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
สำหรับจุดที่ทำการเชื่อมต่อคือ อิ๋งชี่จะเริ่มออกจากปอดที่อก และแยกออกจากจุดเลี่ยเชวีย (LU7) ของเส้นปอดไปเชื่อมกับจุดซังหยาง (LI1) ของเส้นลำไส้ใหญ่ที่มือ จากนั้นอิ๋งชี่จะเดินตามเส้นลำไส้ใหญ่ที่มือไปหัว และแยกออกจากจุดอิ๋งเซียง (LI20) และเชื่อมกับจุดเฉิงชี่ของเส้นกระเพาะอาหาร (ST1) ที่หัว และอิ๋งชี่ที่เส้นกระเพาะอาหารที่หัวจะเดินไปตามเส้นกระเพาะอาหารลงขา และออกจากจุดเฟิงหลง (ST40) ไปเชื่อมกับจุดอิ่นป๋าย (SP1) ของเส้นม้ามที่ขา
ต่อมาอิ๋งชี่จะเดินจากเส้นม้ามที่ขาขาขึ้นสู่อกและเชื่อมเขากับหัวใจที่อก ครั้นแล้วอิ๋งชี่ที่หัวใจจะเดินไปตามเส้นหัวใจและออกจากจุดทงหลี่ (HT5) ไปเชื่อมกับเส้นลำไส้เล็กที่จุดเส้าเจ๋อ (SI1) ที่มือ ต่อมาอิ๋งชี่ที่เส้นลำไส้เล็กที่มือจะเดินไปตามเส้นลำไส้เล็กขึ้นสู่หัว และออกจากจุดทิงกง (SI19) ไปเชื่อมกับเส้นกระเพาะปัสสาวะที่จุดจิงหมิง (BL1) ที่หัว จากนั้นเส้นกระเพาะปัสสาวะที่หัวจะเดินไปตามเส้นกระเพาะปัสสาวะลงล่างที่ขา และออกจากจุดเฟยหยาง (BL58) ไปเชื่อมกับจุดหย่งเฉวียน (KI1) ของเส้นไตที่ขา ต่อมาอิ๋งชี่ที่เส้นไตจะเดินขึ้นบนไปที่อกและเชื่อมกับเยื่อหุ้มหัวใจที่อก ครั้นแล้วอิ๋งชี่ที่เยื่อหุ้มหัวใจจะเดินตามเส้นเยื่อหุ้มหัวใจไปที่มือแล้วออกจากจุดเน่ยกวน (PC6) ไปเชื่อมกับเส้นเส้นซันเจียวที่จุดกวนชง (TE1) ที่มือ ต่อมาอิ๋งชี่ที่เส้นซันเจียวที่มือจะเดินไปที่หัว และออกจากจุดเอ่อเหมิน (TE21) ไปเชื่อมกับเส้นถุงน้ำดีที่จุดถงจื่อเหลียว (GB1) ที่หัว จากนั้นอิ๋งชี่ที่เส้นถุงน้ำดีที่หัวจะเดินตามเส้นถุงน้ำดีลงล่างไปที่ขา และออกจากจุดกวงหมิง (GB37) ไปเชื่อมกับเส้นตับที่จุดต้าตุน (LR1) ที่ขา ครั้นแล้วอิ๋งชี่ที่เส้นตับจะเดินขึ้นบนไปที่อกและเชื่อมกับปอดที่อก นี่คือการหมุนเวียนของอิ๋งชี่ในตลอดเวา 24 ชั่วโมง และจากนั้นอิ๋งชี่ก็จะหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปอยู่ทุกวัน
4.การโคจรของเว่ยชี่ (衛氣)
เว่ย (衛) มีความหมายว่าปกป้อง ลักษณะหน้าที่ของเว่ยชี่จึงเป็นการปรับอุณหภูมิร่างกาย หล่อเลี้ยงผิวหนัง ปกป้องพิษร้ายจากภายนอก เส้นทางของเว่ยชี่จะไม่ยึดตามลำดับการโคจรของอิ๋งชี่แต่อย่างใด หากจะมีการสลับแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืน ในเวลากลางวัน เว่ยชี่จะเดินในเส้นลมปราณหยางหกเส้นเป็นจำนวน 25 รอบ มีจุดเริ่มต้นที่ดวงตา ขณะเดียวกันจะแยกเดินส่วนผิวของเส้นลมปราณหยางหกเส้น เพื่อหล่อเลี้ยงช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อ ครั้นเข้าสู่กลางคืน เว่ยชี่จะเดินเข้าอวัยวะภายใน 25 รอบ ดังนั้นเว่ยชี่จะเริ่มที่ดวงตาในเวลากลางวัน ดังนั้นเมื่อเปิดตาก็จะตื่น และเว่ยชี่จะเข้าสู่ภายในในเวลากลางคืน ดังนั้นเมื่อปิดตาก็จะหลับ
โฆษณา