9 พ.ย. 2019 เวลา 12:06 • การเกษตร
เมื่อวานเล่าเรื่องขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศ วันนี้เลยอยากเล่าแบบไม่อาศัยเพศบ้าง
การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศคือการนำเอาส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ลำต้น ยอด ราก ใบ หัว หน่อ ฯลฯ ไปเพิ่มจำนวนด้วยเทคนิคต่างๆ ให้กลายเป็นต้นใหม่ต้นเล็กๆ ที่มีทั้งยอดและราก แล้วนำไปปลูกได้ต่อไป
ต่างจากแบบอาศัยเพศ ที่ไม่ต้องง้อเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้หรือสเปอร์ม ที่จะเข้าไปผสมกับไข่ในรังไข่ของดอกตัวเมีย
แค่มีชิ้นส่วนของพืชที่เหมาะสมต่อการนำไปทำให้เกิดรากเกิดต้นใหม่ได้ในสภาพแวดล้อมที่จัดให้ก็เพียงพอ ดังนั้นต้นใหม่ที่ได้จะเหมือนต้นแม่ 100% เค้าจึงเรียกว่า โคลน (clone) ไม่กลายพันธุ์หรือผิดเพี้ยนไปจากต้นแม่
เทคนิคการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศที่ว่าและคนทั่วไปอาจได้ยินผ่านหูมาบ้าง เช่น การตอนกิ่ง การตัดชำ การติดตา การเสียบยอด ฯลฯ
แต่วันนี้ขอเลือกการตัดชำหรือการปักชำ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Cutting Propagation
cutting แปลว่าการตัด เทคนิคนี้จึงทำได้ง่ายๆ โดยตัดเอาชิ้นส่วนซึ่งขอแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1) กิ่ง 2) ใบ 3) ราก แล้วนำไปชำในวัสดุที่ชื้น เหมาะแก่การกระตุ้นการออกรากได้
คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็ทำได้ โดยเฉพาะกับพืชที่ออกรากง่าย เช่น ฤาษีผสม มักเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีจุดกำเนิดรากตามธรรมชาติอยู่แล้วภายในกิ่ง เพียงแค่ตัดและปักจิ้มลงดิน คอยรดน้ำให้พอชื้นแต่ไม่แฉะก็ออกรากได้แล้ว
วันนี้ขอยกตัวอย่างการตัดชำกิ่งหรือลำต้นของหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ (mulberry)
หม่อนพันธุ์ลูกยาวสีแดงพร้อมเก็บกิน รสชาติอมเปรี้ยวเพราะยังไม่สุกจัด
หม่อน เป็นไม้ผลที่มีในบ้านเรา ปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่าย ทนทานแข็งแรงดี ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน
เกษตรกรบางราย หรือวิสาหกิจชุมชนบางแห่งก็รวมกลุ่มเพื่อปลูกหม่อนและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ออกมาอย่างหลากหลาย เช่น น้ำคั้น แยม เป็นต้น
หม่อนขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ที่กินแล้วดีต่อสุขภาพ เพราะมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูง ค่อยขยายความทีหลัง
สำหรับใครที่อาจไปเจอต้นหม่อนหรือได้กิ่งมา ก็ลองมาปักชำดู
แต่ในความง่าย ก็มีหลักการบางอย่างที่สำคัญ
อย่างแรกเลยคือความอ่อนแก่ของกิ่ง กิ่งที่ใช้ในการตัดชำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) กิ่งอ่อน 2) กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน 3) กิ่งแก่
กิ่งหม่อน 1 กิ่ง อายุไม่เท่ากันทั้งกิ่ง เรียงความแก่สุดจากโคนไปยังอ่อนสุดคือปลายกิ่ง
เรียงจากซ้ายไปขวา กิ่งแก่ กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน กิ่งอ่อน
แล้วกิ่งแบบไหนเหมาะกับการตัดชำหม่อนมากที่สุด
คำตอบคือกิ่งแก่ ให้สังเกตจากภาพกิ่ง 3 แบบด้านบน เวลาเราเตรียมกิ่งตัดชำ กิ่งแต่ละแบบเหลือใบไม่เหมือนกัน
กิ่งแก่ ไม่ต้องเหลือใบไว้ เพราะมีอาหารสะสมอยู่เยอะในกิ่ง
กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน และกิ่งอ่อน ต้องเหลือใบไว้ เพื่อให้พอสำหรับสร้างอาหารจากแสงและกระตุ้นการออกราก แต่ก็ต้องไม่เหลือมาเกินไปจนกิ่งตายเพราะใบคายน้ำออกหมด
ตัดกิ่งแก่ขนาดสักประมาณ 1 ฟุต หรือเท่ากับไม่บรรทัด ให้ตัดกิ่งเฉียงเหนือข้อ อย่าตัดตรงข้อ รากจะออกยากหรือไม่ออกเลย กรีดที่โคนกิ่งให้เป็นรอยตามแนวยาวของกิ่งสัก 1 นิ้วให้รอบกิ่ง ทำเพื่อเพิ่มพื้นที่ออกราก
นำไปปักชำในวัสดุชำ ที่หาง่ายในบ้านเราก็ ถ่านแกลบและทราย อัตราส่วน 1:1 แต่หาไม่ได้ก็ดินปลูกถุงที่มีขายทั่วไปก็ได้
ปักเอียง 45 องศา ตามหลักการ หรือปักตรง ๆ แบบบ้านๆ ก็ได้ ออกรากเช่นเดียวกัน
หลังปักชำ คอยให้น้ำ อย่างสม่ำเสมอ แค่ไหน? ชื้นแต่ไม่แฉะ ทำเกษตร ต้องสังเกต กะๆ เอา แต่ต้องสังเกตให้เห็นว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง
ในแง่คนที่อยากจะทำกิ่งพันธุ์หม่อนขายอย่างจริงจัง อาจต้องลงทุนสร้างสภาพแวดล้อมของการปักชำสักนิด
สร้างกระบะชำ อาจมีหรือไม่มีการคลุมตาข่ายพลาสติกที่เรียกว่า ซาแรน (saran) ก็ได้ ติดระบบน้ำแบบพ่นฝอย เพิ่มการติด timer ไว้ตั้งเวลาเปิดปิดเช้าเย็น แน่นอนว่าลงทุนขนาดนี้ ผลตอบแทนก็ต้องได้มากกว่าทำแบบในกระถางหรือภาชนะเล็กๆ ที่มี 4-5 กิ่ง
กิ่งหม่อนปักชำในกระบะติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย
ไฮไลท์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือฮอร์โมนเร่งราก มีการใช้อย่างเป็นการค้าในต่างประเทศ บ้านเรานำเข้ามาใช้ตามเคย มีหลายแบบ แต่แบบที่เหมาะแก่การตัดชำคือเป็นผง
ฮอร์โมนเร่งรากนี้คือสารเคมีสังเคราะห์ในกลุ่มของออกซิน (auxin) ขอวิชาการนิด เพราะตรงนี้สำคัญ ไม่ต้องการมั่ว
ในพืชมีฮอร์โมนออกซินอยู่แล้ว สร้างเองได้โดยธรรมชาติ แต่ที่ใช้ๆ กันอยู่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ส่วนใหญ่
ข้อดีคือให้ผลแน่นอน ข้อเสียคือแพงเพราะนำเข้า และยุ่งยากในการเตรียม ต้องมีความรู้เรื่องการคำนวณสารออกฤทธิ์และการเตรียมสาร
มีขายอยู่บ้างตามท้องตลาดบ้านเรา นำเข้ามาและติดฉลากภาษาไทย
ฮอร์โมนเร่งรากทำเองโดยผสมสารสังเคราะห์ออกซินกับแป้งดินสอพอง
ทำไมจึงต้องใช้ฮอร์โมนเร่งราก คำตอบคือ ออกรากเร็ว ทำให้ได้รากเยอะ รากสม่ำเสมอ
ในแง่การค้า ตรงนี้สำคัญ เพราะช่วยย่นรอบการผลิตกิ่งพันธุ์ให้สั้นลง กิ่งพันธุ์มีคุณภาพดี รากเยอะ สม่ำเสมอ
กิ่งแก่หม่อนที่ออกรากหลังปักชำประมาณ 1 เดือน ใช้ฮอร์โมนเร่งรากก่อนชำ
นำกิ่งชำหม่อนที่ออกรากแล้วมาปลูกลงถุง 6-8 นิ้ว อีกครั้ง ให้ต้นตั้งตัวได้ ประมาณ 1 เดือน ก็ขายได้ราคาอย่างต่ำ 50 บาทต่อกิ่ง
จากกระบะชำภาพบน (1 เมตร x 3 เมตร) หากเราขำได้ 100 กิ่ง คิดง่ายๆ ได้เงินต่อ 1 รอบ 5000 บาท ยังไม่หักต้นทุน
หากมีสัก 5 กระบะ 5000 x 5 = 25,000 ก็เป็นไปได้ไม่ยาก เป็นรายได้เสริมจากงานประจำ ที่ใช้หลัก passive income เช่นเคย
🙏
โฆษณา