11 พ.ย. 2019 เวลา 13:10 • ความคิดเห็น
วิชาเรื่องสั้น 101 แบบมือสมัครเล่น : 2
หลังจากตอนที่แล้ว เราคุยกันถึงปัจจัยสำคัญที่สุดของเรื่องสั้นในความคิดของแอด นั่นคือ โครงเรื่อง แก่นเรื่อง พล๊อต หรือจะเรียกอะไรก็ตามสะดวก แต่ของให้เข้าใจว่า คือวัตถุประสงค์ของเรื่องที่เราจะเล่านั้นเอง ว่าเรากำลังเล่าถึงเรื่องราวอะไร เพื่อให้คนอ่านเมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจตามนั้น
ตอนต่อไปที่กำลังจะกล่าวถึงคือเรื่องเทคนิคในการเขียนเรื่องสั้นของเราให้มีความสนุก และคนอ่านมีอารมณ์ร่วมกับคนเขียนไปด้วย สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งที่เราคงขาดไม่ได้คือ
2. พื้นหลัง
พื้นหลังในที่นี้คือส่วนประกอบทุกสิ่งอันที่เราใส่เข้าไปในเรื่อง เพื่อขับดันบรรยากาศในแก่นเรื่องของเราให้คมชัด มีมิติ และสมจริงจนผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่เราเขียน
พื้นหลังที่สำคัญอันแรกคือ ตัวละครและลักษณะภายนอกและภายใน
ซึ่งสิ่งนี้จะสำคัญมากในกรณีที่เรื่องราวของเราอาจต้องอาศัยลักษณะทางกายภาพของตัวละคร หรือแก่นเรื่องต้องอาศัยลักษณะภายในของตัวละคร ลองมาดูตัวอย่างกัน
สมมุติเริ่องราวของเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้น และตัวเอกของเราต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องใช้ร่างกาย การแสดงการบรรยายทางกายภาพคงต้องมีผลต้องความน่าเชื่อถือในเรื่องที่เราเขียน หรือลักษณะที่อยู่ภายใน เช่น บุคลิกภาพ นิสัย และการแสดงออกที่สื่อถึงความคิดที่ซ่อนอยู่ข้างใน จะส่งผลต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น เช่น
เฟยหง ชายพิการขาลีบเล็กไปหนึ่งข้างแต่กำเนิด ร่างกายผ่ายผอมดูอมโรค อยู่ดี ๆ จะแบกกระถางเหล็กหนักพันชั่ง โดยที่เราไม่ปูพื้นอะไรไว้เลยก็ออกจะดูไม่สมจริงเกินไป
หรือ ริเอะ สาวน้อยผู้มีความกดดันจากวัยเยาว์ จนโตมาพร้อมแรงกดดันมหาศาล จนวันหนึ่งพอสติขาดสะบั้น เธอจึงลุกขึ้นมาเชือดเพื่อนที่ bully เธอมาตลอดหลายปี แบบนี้ถึงจะค่อยดูสมเหตุสมผล เป็นลักษณะภายในตัวละครที่เราพยายามสร้างขึ้นให้เสริมให้เนื้อเรื่องมีความสมเหตุสมผล จนคนอ่านเชื่อสนิทใจ
พื้นหลังอันต่อไปคือ สถานที่และบรรยากาศที่โอบล้อมเหตุการณ์ที่เรากำลังเล่า หากบรรยากาศที่เราพยายามสร้างสามารถส่งเสริมให้เรื่องราวเราสมจริง และเสริมความรู้สึกต่าง ๆ ของตัวละครให้แจ่มจัด ซึ่งบางทีบรรยากาศจะช่วยได้มากในการสร้างเรื่องราวของเราให้มีความลึกได้มาก เช่น
"มวลอากาศเย็นภายนอกกลั่นตัวกันเป็นฝ้าหนาที่กระจกข้างหน้าต่าง ผมมองเห็นเพียงแสงไฟสีแดงพล่ามัวที่ส่องสว่างจากแถวรถติดที่ยาวเหยียดด้านนอกนั่น อากาศในร้านนั้นอุ่นสบาย แต่หัวใจผมกลับเย็นยะเยือกยิ่งกว่าลมหนาวที่พัดมาข้างนอกนั่น เพราะทุกห้องหัวใจมันว่างเปล่า บานประตูถูกเปิดแง้มไว้ตั้งแต่คุณเดินจากไป และมันไม่เคยถูกปิดลงอีกเลย" บรรยากาศช่วยเสริมความรู้สึกอ้างว้างของตัวละครให้ดูเหงาและเศร้าขึ้นไปอีก แบบนี้เป็นต้น
ซึ่งการสร้างบรรยากาศให้สมจริงนี่เอง ที่เป็นการบ้านหนักของคนเขียน ซึ่งหากเราเคารพคนอ่าน เราต้องทำการบ้านให้ดี ถ้าเราเขียนโดยใช้ประสบการณ์ที่เรามีโดยตรงย่อมดีที่สุด แต่ถ้าไม่ใช่ เราต้องทำการบ้านที่หนักขึ้นและหนักขึ้น อย่าดูถูกคนอ่าน และให้คิดเสมอว่าคนอ่านฉลาดกว่าคนเขียน และเขาจะทำการบ้านต่อจากงานของเราเสมอ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเรื่องสั้นเรื่อง แสงสุดท้ายที่ใต้น้ำ มาเป็นอย่างวิธีการทำงานในเรื่องพื้นหลังนี้
แน่นอนว่าเราเริ่มต้นกันทีละขั้น
เริ่มจาก แก่นเรื่องก่อน ผมอยากจะเล่าเรื่องสาหตุของโรคระบาดที่เกิดขึ้นจากเชื้อที่ติดต่อกันในอดีต ซึ่งสาเหตุเกิดจากระบบปรับอากาศในโรงแรมที่จัดงานของทหารผ่านศึก
แก่นเรื่องมีแค่นั้น
แต่เราจะเล่าให้มีเรื่องราวอย่างไร ผมจึงต้องค้นคว้าประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อความสมจริงของเรื่อง เริ่มจาก
- โรงแรมจริงที่เกิดเหตุการณ์ระบาดและติดเชื้อที่ปรากฏในเรื่อง
- ระยะเวลาของเหตุการณ์ที่เกิด เพื่อเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ทิ้งระเบิดที่ pearl habour ซึ่งช่วยให้คนอ่านนึกภาพสงครามในตอนนั้นได้ง่ายขึ้น
- เหตุการณ์ต่าง ๆ และ time line ของเหตุการณ์ในขณะเกิดการทิ้งระเบิดที่ pearl habour
- หาตำแหน่งของเรือรบทุกลำที่จอดใน pearl habour เพื่อจะได้เลือกจุดที่เป็นตำแหน่งของเรื่องราวของเรา
- ตัวละครของเราจะทำอะไรบนนั้นได้บ้าง เราจึงต้องศึกษาลักษณะและยุทธโธปกรณ์ที่มีอยู่บนเรือด้วย ไม่ใช่ว่าบนเรือไม่มีปืนต่อสู้อากาศยาน แต่เราดันเขียนว่าตัวละครเรายิงเครื่องบินตก นั่นไม่สมจริงเอาเสียเลย คือการดูถูกคนอ่านอย่างแรง
- เราต้องศึกษาอาการของโรคที่เราต้องเขียนถึง อาการแสดง ระยะของโรค และระยะฟักตัวของโรค เพื่อให้เส้นเวลาในเรื่อง ไม่เพี้ยนจนไม่น่าเชื่อถือ
- และต้องทำการบ้านอีกหลายเรื่อง เพื่อให้เรื่องที่เขียนสมจริงที่สุด
ซึ่งนั่นจะส่งผลทันทีที่คนอ่านเชื่อ และจะยิ่งเชื่อเมื่อคนอ่านหยิบเอาเรื่องของเราไปค้นคว้าต่อ และพบว่ามันมีความจริงเกิดขึ้นอย่างนั้นจริง ๆ นั่นคือรางวัลโบนัสสำหรับคนเขียน
สุดท้าย คงไม่มีรางวัลใดที่จะดีไปกว่าความสุขของคนอ่านที่รู้สึกอินไปกับเรื่องราวที่เรากำลังถ่ายทอด อย่างสมจริงเป็นที่สุด ซึ่งนั่นต้องผ่านการทำงานเบื้องหลังอย่างหนักหน่วง
ผมเชื่อว่าถ้าเราเคารพคนอ่าน คนอ่านจะสัมผัสได้ และเขาจะเคารพคนเขียนเช่นกัน
ดังนั้นการสร้างพื้นหลังของเรื่อง จึงสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะการสร้างความสมจริง หากว่าเราอ้างอิงสถานที่ หรือเรื่องจริงในการเขียน ยิ่งต้องทำการบ้านให้มากขึ้น
งานจะสบายกว่าหากเป็นงานเขียนเชิงจินตนาการ หรือแนวแฟนตาซี ที่จะเขียนให้ล้ำกว่าความจริงเท่าไหร่ก็ได้ แต่จะยากตรงที่จะเขียนอย่างไรให้คนอ่านเห็นภาพ ในเมื่อคนอ่านไม่เคยเห็นมัน หรือสัมผัสมันมาก่อน
ดังนั้นการเขียนโดยผูกกับเรื่องจริง คนที่มีตัวตนจริง สถานที่ที่มีอยู่จริง คนเขียนต้องทำการบ้านเยอะ ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของงานเขียนของเราครับ
ก็ขอจบหัวข้อเรื่อง พื้นหลัง ของงานเขียนเพียงเท่านี้ก่อน หากท่านอยากแลกเปลี่ยนอะไร เชิญที่คอมเม้นได้เลย แอดยินดีอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ไปกับทุกคนด้วยเช่นกันครับ รออยู่นะทุกคน ^_^
โฆษณา