10 พ.ย. 2019 เวลา 07:21
ถมทะเล 3,000 ไร่ สร้างโรงกลั่น “เอ็กซอนโมบิล” โจทย์เลือกยาก เงินแสนล้าน หรือ สิ่งแวดล้อม
เป็นประเด็นมาสักพักใหญ่ๆ แล้วจากการที่ บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐ ต้องการขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นเพิ่มเติมในพื้นที่ของแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่เริ่มมีความหนาแน่นแล้ว โดยมีเงื่อนไขก็คือ โรงงานปิโตรเคมีในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากตัวโรงกลั่นเดิม และต้องมีการถมทะเลบริเวณแหลมฉบังไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ หรือถมลึกออกไปจากชายฝั่งราว 8-13 เมตร ซึ่งนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องให้คำตอบแก่เอ็กซอนโมบิลว่า จะทำ หรือ ไม่ทำ โดยมีเงินลงทุนเดิมพันมากกว่า 3.3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
1
**ทำไมถึง เอ็กซอนโมบิล ถึงเลือกไทย?**
พื้นที่แหลมฉบัง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักมากที่สุด และสำคัญที่สุดของประเทศ รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบังยังเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาคที่ในแต่ละปีมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก มหาศาล ติดอันดับท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 20 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และท่าเรือแหลมฉบังก็กำลังขยายพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อให้สอบคล้องกับการพัฒนาในอนาคต รองรับ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่จะมีการหลั่งไหลของโรงงานอุตสาหกรรมหลากประเภทเข้ามาตั้งในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งเอ็กซอนโมบิล ก็มีโรงกลั่นของตัวเองอยู่ที่นี่ และเป็นโรงกลั่นที่ขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงติด 1 ใน 3 ของโลกที่เอ็กซอนโมบิลเข้าไปลงทุน แต่เมื่อพื้นที่โรงกลั่นเดิมเริ่มแอดอัดคับแคบ ทำให้ต้องมีการขยายพื้นที่เพิ่ม ซึ่งการที่จะให้ไปลงทุนยังประเทศใหม่ ที่ไม่ได้มีการวางรากฐานมาก่อนแบบที่ศรีราชา นับว่าเป็นเรื่องที่ยากและใช้งบประมาณสูงมาก เช่น จีน หรือเวียดนาม เพราะจะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมดนั่นเอง
โรงกลั่นของ ExxonMobil ที่ อ.ศรีราชา
หากเกิดการลงทุนที่เป็นไปตามที่เอ็กซอนโมบิลต้องการ จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งวัตถุดิบน้ำมันดิบนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโครเคมีโดยตรงไม่ต้องผ่านการกลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน หรือดีเซลก่อน ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปออกมาเกินความต้องการใช้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตได้จะเป็นพวกโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษ เพื่อรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยปัจจุบันโรงงานปิโตรเคมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถนำน้ำมันดิบมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีเพียงที่สิงคโปร์แห่งเดียวในโลก โดยเอ็กซอนโมบิลได้เข้าไปลงทุนเมือง 5 ปีก่อน และมีความต้องการลงทุนในไทย ซึ่งจะกลายเป็นแห่งที่ 2 ของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย (S-Curve) ที่ต้องการใช้วัสดุคุณภาพพิเศษ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการวัสดุที่น้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุด้านการเกษตรในกลุ่มแผ่นฟิล์มที่ใช้ในการทำโรงเรือนหรือคลุมแปลงเพาะปลูก บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
ทั้งนี้ การผลิตวัตถุดิบดังกล่าวจะช่วยดึงอุตสาหกรรมชั้นสูงเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น เพราะมีวัตถุดิบต้นน้ำคุณภาพสูงที่มีราคาถูกมีความครบวงจรในห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากเนื่องจากโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษเหล่านี้ไทยต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปป้อนอุตสาหกรรมชั้นสูงภายในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย
อีกทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการปิโตรเคมีพบว่าจะมีอัตราการเติบโตขึ้นถึง 40% ในช่วงจากปี 2559 – 2583 ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ขณะนี้ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปกลับมีความต้องการที่ลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่การใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะเติบโตใกล้เคียงการการเติบโตของจีดีพีโลก ซึ่งการใช้น้ำมันเติบโตต่ำกว่าจีดีพีต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีรถยนต์ในปัจจุบันประหยัดน้ำมันมากขึ้น และยังมีเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นน้อย ดังนั้น เอ็กซอนโมบิล จึงสนใจเข้ามาลงทุนโรงงานปิโตรเคมีในไทยเพื่อป้อนให้ตลาดไทยและในภูมิภาคนี้
**รัฐบาลยึกยัก ส่งผลแผนลงทุนยืดเยื้อ เวียดนาม - จีน พร้อมปาดหน้าเค้ก**
สำหรับการถมทะเลเพื่อสร้างโรงงานนั้น กลายเป็นประเด็นที่สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถถมทะเลเพิ่มได้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อสอ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด เพราะพื้นที่ 3,000ไร่ นั่นก็ไม่ใช่น้อยๆ ซึ่งพื้นที่ถมทะเลที่เล็งไว้ก็คือ บริเวณเขาบ่อยาด้านใต้ ที่เป็นพื้นที่โขดหินทำให้ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ชายหาดบริเวณอื่นและปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ ถ้ามีการถมทะเลโครงการนี้ก็น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2027 เพราะการถมทะเลจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง-3 ปี และต้องก่อสร้างโรงงานอีก 2 ปีครึ่ง - 3 ปีเช่นกัน
โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่ต้องมีการถมทะเลเพิ่ม
ก่อหน้านี้ นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานบริหารโครงการอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด กล่าวว่า เอ็กซอนโมบิล ได้เข้ามาประสานงานกับรัฐบาลไทยมากว่า 2 ปี ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสนใจและสนับสนุนโครงการนี้ แต่ติดอุปสรรคในเรื่องการหาที่ดินตั้งโรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2563 ว่าจะให้ถมทะเลสร้างโรงงานได้หรือไม่ เพราะเงื่อนเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน
ทั้งนี้ หากยังยืดเยื้อต่อไปจะกระทบแผนการลงทุนของเอ็นซอนโมบิลอาจจะพิจารณาไปตั้งที่จีนหรือเวียดนาม เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องหาที่ดินตั้งโรงงาน ซึ่งแม้ว่าจะมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงกว่า เพราะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ยุทธศาสตร์การลงทุนของเอ็กซอนโมบิลไม่สะดุดสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ
สำหรับการถมทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย เพราะที่ผ่านมาก็มีการถมทะเลที่มาบตาพุด และแหลมฉบัง เพื่อขยายพื้นที่ท่าเรือมานานแล้ว ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทางกลุ่มเอ็กซอน โมบิล ยืนยันว่าจะลงทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมี บนเงื่อนไขที่ต้องอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ที่ศรีราชา เพื่อนำวัตถุดิบจากโรงกลั่นป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมี โดยมีการขีดเส้นตายว่า หากรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดพื้นที่ 1 พันไร่ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะต้องย้ายการลทุนไปประเทศเวียดนามหรือจีนแทน เนื่องจากในช่วงต้นปี 2563 จะมีการทบทวนแผนการลงทุนของกลุ่มเอ็กซอนโมบิลทั่วโลก หากไทยไม่มีความชัดเจนในการจัดหาพื้นที่ โดยเฉพาะการถมทะเลที่อยู่บริเวณท่าเรือของเอสโซ่ ก็จำเป็นต้องตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่นต่อไป
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ต้องถมทะเลเพิ่ม
“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจด้วยการพิจารณาจากความพร้อมและระยะเวลา เรายังไม่ได้ตัดสินใจ 100% ว่าจะมาตั้งโรงงานนี้ที่ประเทศไทย เพราะไทยยังติดปัญหาเรื่องสถานที่ก่อสร้างซึ่งยืดเยื้อมาถึง 2 ปีแล้ว เรามองไปที่จีนและเวียดนามด้วย โดยจีนก็มีความพร้อมระดับหนึ่ง ดังนั้นเราอาจมีการตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาความเป็นไปได้” ดร.อดิศักดิ์กล่าว
ขณะที่ท่าทีของ กนอ. โดยนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำการศึกษาพื้นที่การถมทะเล ตลอดบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด 3,000 ไร่แล้ว เพื่อรองรับโครงการลงทุนต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 ไร่ เตรียมจะแบ่งให้โครงการปิโตรเคมีของบริษัทเอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น ผลการศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
ทางเอ็กซอนเองก็มองว่า ก่อนหน้านี้ที่เคยมีการเข้ามาดำเนินการติดต่อกับหน่วยงานรัฐเรื่องการลงทุนเพิ่มเติมเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะกับ กนอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในเรื่องนี้ และเพิ่งได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการถมทะเลในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยจะใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน และต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)
1
บรรยากาศท่าเรือที่มีลักษณะการถมทะเล
ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จทันตามที่กลุ่มเอ็กซอนโมบิล กำหนดไว้ ประกอบกับพื้นที่บนฝั่งบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ ได้ถูกใช้ประโยชน์จนเต็มศักยภาพแล้ว การจะหาพื้นที่ขนาดใหญ่ตามที่กลุ่มเอ็กซอนโมบิลต้องการนั้น จึงเป็นเรื่องยาก
และหากการดำเนินการล่าช้า เงิน 3.3 แสนล้านอาจหายไปในพริบตา แล้วไปลงที่เพื่อนบ้านของเราแทน
สถานีบริการน้ำมัน ESSO ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยคุ้นเคย ภายใต้การผลิตของ ExxonMobil
**นักสิ่งแวดล้อม - ชาวบ้าน ตบเท้าดัดค้านถมทะเลเพิ่ม หวั่นสิ่งแวดล้อมพินาศ**
ในมุมของคนในพื้นที่อย่างชาวบ้าน และชาวประมง ต่างมีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณอ่าวอุดม เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่อยู่เยื้องๆ กับแหลมฉบังนับเป็นแนวปะการังที่สมบูรณ์ การถมทะเล 3,000 ไร่ นั้นก็อาจจะกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง วิถีประมงพื้นบ้านท้องถิ่น ซึ่งเคยเกิดขึ้นจากการถมทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ปี 2532 ที่ชาวบ้านและนักวิชากรบอกว่า ได้ทำลายระบบนิเวศ สถานที่ทำกิน สัตว์น้ำวัยอ่อน และแนวปะการังชายฝั่งจะสูญหาย รวมทั้งมีผลกระทบตามมาอีกมากมายมหาศาล ทั้งในช่วงก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง เช่น ตะกอนเลน ที่พัดไปทับถมในพื้นที่ๆ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและวางไข่ของสัตว์น้ำ รวมทั้งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดระยอง
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า โครงการถมทะเลขนาด 3,000 ไร่ ในพื้นที่แหลมฉบัง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงการก่อสร้างการถมทะเลจะทำให้เกิดความขุ่นและปริมาณตะกอนแขวนลอยในน้ำสูงขึ้น ส่งผลต่อการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชและกระทบต่อการหายใจของสัตว์น้ำในวงกว้างและกระทบต่อระบบนิเวศน้ำทะเลไกลถึง 10 กม. อีกทั้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์และชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่ริมทะเลอาจถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยพื้นที่ถมที่ยื่นออกไปในทะเลจะขัดขวางการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของทราย อาจทำให้พื้นที่บ้านบางละมุง นาเกลือ และพัทยา บริเวณที่อยู่ติดกับทะเลถูกกัดเซาะมากขึ้น จากเดิมบริเวณอ่าวอุดม มีอัตราการถูกกัดเซาะเฉลี่ยปีละ 3 เมตร และอาจส่งผลกระทบต่อ พื้นที่ชุมชนบ้านแหลมฉบัง จำนวน 28 ไร่ ซึ่งถือเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะตะกอนแขวนลอยจำนวนมากเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ป่าชายเลนตายได้ง่าย
ผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง
และผลกระทบ อาจลุกลามไปถึงชายหาดเมืองพัทยาและนาจอมเทียน ที่จะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงที่มีการพัฒนาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ปี 2532 ที่มีการสร้างท่าเรือแหลงฉบังขึ้นยื่นออกไปในทะเล 5 กม. ผลกระทบที่ตามมาคือ กระแสนำถูกเปลี่ยนทิศทาง เพราะมีสิ่งปลูกสร้างไปขวางทางเดินน้ำ เกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลระยองรุนแรง กว่า 20 กม. ทำให้หาดทรายทอง และหาดแสงจันทร์ หรือหาดพีเอ็มวาย ถูกกัดเซาะจนไม่มีสภาพเป็นชายหาดอีกต่อไป
หาดวงพระจันทร์ จ.ระยอง ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง จากการสร้างท่าเรือมาบตาพุด ตามที่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอ้าง
อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นการบ้านที่หนัก ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ว่าจะเลือกว่าจะทำอย่างไร ระหว่าง เม็ดเงินมหาศาลจากการลงทุนในครั้งนี้ ที่หลายประเทศต่างโหยการและต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ ถึงขึ้นเสนอตัวเพื่อเข้าแย่งชิงให้กลุ่มทุนสนใจไปลงทุนในประเทศตัวเอง ที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุน และหากชักช้าเงินมหาศาลที่จะสร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศอาจหลุดมือไป หรือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ อย่างที่เคยมีบทเรียนจากโครงการในอดีต ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้
โฆษณา