11 พ.ย. 2019 เวลา 11:42 • ธุรกิจ
" แจ็คหม่า หมาหรือเสือ "
บทความวิเคราะห์..
ผลได้หรือผลเสีย เมื่อแจ็คหม่าเขย่าโลก
คำเตือน : บทความนี้ยาวมาก ใจไม่ถึงห้ามอ่าน
 
: แต่อยากให้อ่านเถอะ เพราะบทความนี้ใช้นิ้วมือหัวแม่โป้งซ้ายพิมพ์จากมือถือทั้งหมด
รอบปีที่แล้วผมเคยแสดงมุมมองถึงทิศทางของสินค้าเกษตรไทย
ผมตั้งข้อสังเกตุว่าในปัจจุบันมีผู้สนใจหันมาทำอาชีพเกษตรกรกันมากขึ้น
มีคนจากหลากหลายอาชีพหันมาทำเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริม
ตลอดทั้งคนรุ่นใหม่ที่หน่ายเหนื่อยกับลักษณะงานที่ซ้ำซากจำเจจำกัดในระเบียบหรือกรอบเวลาขององค์กร
จึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยวด้วยความมุ่งมั่นมาเป็นนายตัวเอง
จ้างตัวเองเอง เหนื่อยเอง เสี่ยงเอง นักเลงพอ..
ขอแค่แลกให้ได้มาซึ่งความสบายใจและความสุขตามอัติภาพ
จึงเกิดเป็นปรากฎการณ์ไปทุกหย่อมหญ้า
มีการปลูกพืชผักนานาชนิด มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจนานาสายพันธุ์
จนผมเผลอคิดไปว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ผลผลิตทางการเกษตรจะล้นตลาดเหมือนยางพาราราคาสามโลฯร้อย , ข้าวกิโลฯห้าบาท , ปาล์มน้ำมันกิโลฯละสองบาท หรือสินค้าอื่นๆ
มันจะเป็นธรรมดามากสำหรับกลไกตลาดเมื่อสินค้าอะไรก็แล้วแต่หากอุปสงค์มีจำนวนมากขึ้น นั่นย่อมแสดงว่าอุปทานก็ควรต้องมากขึ้นตามไปด้วย
แต่ในทางตรงกันข้ามมันจะผิดปรกติทันทีหากอุปทานมากขึ้นแต่อุปสงค์ยังเท่าเดิม
ใครละทีนี้ที่จะซวย !
ก็คงไม่พ้นเกษตรกรตาดำๆผู้วาดฝันไว้สวยงามแต่ต้องนอนเอาเท้าก่ายหน้าผากทุกค่ำคืน
หรือครั้นจะไปอาศัยภาครัฐหาตลาดต่างประเทศให้
แต่เราจะคาดหวังอะไรได้เมื่อคนเป็นพ่อค้ามาจากหัวหน้ายาม
ในครั้งนั้นผมจึงฟันธงขาดไปสองท่อนอย่างมั่นใจว่าภายใน ๓ - ๕ ปี ผลิตผลทางการเกษตรจะล้นตลาดและทำให้ราคาตกอย่างแน่นอน
นั่นคือการวิเคราะห์จากมันสมองของคนเขลาที่มีภูมิปัญญาเท่าหางอึ่ง
เพราะมาวันนี้เห็นทีผมควรต้องทบทวนความคิดตัวเองใหม่
- ต่อการมาของ แจ็ค หม่า -
ในรอบปีที่ผ่านถ้าใครได้ติดตามข่าวสารเหตุบ้านการเมืองก็คงพอเห็นข่าวหนึ่งผ่านตาบ้าง
ข่าวปฐมฤกษ์การซื้อขายราชาผลไม้อย่างทุเรียนในรูปแบบกลุ่มธุรกิจกับรัฐบาล หรือ B2G ( Business to Gorverment )
ระหว่างกลุ่มธุรกิจอาลีบาบา ของ แจ็ค หม่า เจ้าพ่อแห่งวงการ e commerce กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ซึ่งทำในนามรัฐบาล
ซึ่งแม้ความเป็นจริงการซื้อขายครั้งนี้จะยังไม่ใช่การซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการโดยตรง หรือ C2C ( Custumer to Custumer ) ตามแนวทางลักษณะธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบาวางเอาไว้
แต่กระนัันทุเรียน ๘๐,๐๐๐ ลูก ก็หายวับไปกับตาด้วยมูลค่ากว่า ๘๐ ล้านบาทภายใน ๑ นาที
ห้างสรรพสินค้าบางแห่งขายทั้งเดือนยังทำเงินได้ไม่มากขนาดนี้
ภาพประกอบได้รับอนุญาตจาก พี่สาว เก็บตะวัน ไว้ที่ปลายฟ้า เจ้าของสวนสี่ดาว , เขาคิชฌกูช จันทบุรี
มันจึงส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง
- ที่มาที่ไป -
ข่าวการร่วมมือทางธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมาระหว่างกลุ่มอาลีบาบากับรัฐบาลมาเลเซียทำเอาสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ Asean
หลายประเทศตีอกชกตัวตั้งคำถามต่อตัวเองว่าประเทศตรูไม่ดีอย่างไรทำไมเขาไม่แลมา
รวมถึงประเทศไทยด้วย
เพราะการร่วมมือระหว่างอาลีบาบากับมาเลเซียคือการสร้าง Hub หรือศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า ๗๐,๐๐๐ ล้าน ( แม้เงินลงทุนส่วนใหญ่รัฐบาลมาเลเซียจะใจป๋าควักกระเป๋าเปย์เอง )
ซึ่งความร่วมมือนี้จะส่งผลดีมหาศาลต่อมาเลเซีย เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นด้านการจ้างงาน ด้านขนส่งหรือโลจิสติกส์ ภาษี หรืออื่นๆ
ถึงขนาดว่าประชาชนบางประเทศอิจฉาแล้วกลับมาด่ากันเองว่าทำไมเขาไม่เลือกเรา
และนั่นก็เป็นเพียงความจริงที่เรารับรู้แค่บางส่วนที่กลุ่มธุรกิจอาลีบาบาลงทุน
1
เรารู้ด้านเดียวว่าอาลีบาบาลงทุนในมาเลเซียแล้วตั้งคำถามต่อรัฐบาลพร้อมก่นด่าว่าเป็นเหตุให้แจ็ค หม่า ไม่แม้แต่จะชายตา
เพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
จึงทำให้การเมืองขาดความน่าเชื่อถือ
จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
จึงส่งผลให้แจ็ค หม่า เลือกมาเลฯ แทนที่จะเลือกเรา
ใช่แล้วครับ นั่นคือคือเหตุผลที่ถูกต้องที่อาลีบาบาไม่เลือกเรา
แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาไม่เลือก ( ระดับแจ็ค หม่า ถ้าไม่เห็นไทยในสายตาก็หมาแล้ว )
เพราะในอีกด้านที่เราไม่รับรู้ก็คือ ในขณะที่แจ็ค หม่า เซ็นสัญญากับมาเลเซีย ขณะเดียวกันเขาก็กำลังจูบปากกับรัฐบาลไทย
โดยการรับปากว่าจะมาสร้างศูนย์ E Commerce ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) ด้วย
นั่นจึงเป็นที่มาของเงินลงทุนกว่า ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท ตามลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership จำนวน ๔ ฉบับ ได้แก่
๑) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงาน EEC และ Alibaba .com Singapore e-Commerce Private Limited
๒) ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่างสำนักงาน EEC กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited
1
๓) ความร่วมมือด้านการพัฒนา SMEs และบุคลากรด้านดิจิทัลระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School
๔) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท Zhejiang Fliggy Network Technology Company Limited เช่น การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองและสินค้าชุมชน
แค่นี้ยังไม่พอ
พ่อมดแจ็ค หม่า  ยังโปรยยาหอมอีกกว่า ๑๕,๐๐๐ ล้านบาทหรือสัญญา ๓ ปีในการซื้อขายทุเรียนไทยดีลเดียวกันกับที่เขาดีดนิ้วร่ายเวทมนต์เนรมิตให้ราชาผลไม้หายไปในพริบตากว่า ๘๐,๐๐๐ ลูกภายใน ๑ นาทีนั่นเอง
แต่แม้การลงทุนระหว่างอาลีบาบากับไทย จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนกับที่ลงทุนกับมาเลเซีย
แต่นั้นผลได้ของไทยก็จะไม่ยิ่งหย่อนน้อยไปกว่าเสือเหลืองจอมลอบกัดอย่างแน่นวล
ภาพประกอบได้รับอนุญาตจาก พี่สาว เก็บตะวัน ไว้ที่ปลายฟ้า เจ้าของสวนสี่ดาว , เขาคิชฌกูช จันทบุรี
- ประเทศไทยได้อะไร -
มีผู้หวงแหนผลประโยชน์ชาติออกมาให้ทัศนะหลายๆมุมมองต่อกรณีสัญญาอัปยศที่รัฐบาลเปิดช่องให้พ่อค้าหน้าเหลี่ยม
ทั้งประชาชนธรรมดา นักวิชาการ นักวิชาเกรียนอย่างผู้เขียน ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันมันส์หยด
โลกสวยหน่อยก็วาดฝันไว้ " เขารวยแล้วเขามาช่วยเรา "
โลกเทาๆก็ตั้งท่าดูท่าทีอย่างมีเหลี่ยมเชิง
ส่วนพวกโลกมืดสนิทก็คิดมุมเดียว มันเข้ามาตักตวงประเทศ " พ่อค้าตาเหล่รึจะเท่าทันพ่อค้าหน้าเหลี่ยม "
ก็ว่ากันไปตามนานาทัศนะจากหลากหลายผู้รู้ของประชากรไทยแลนด์ดินแดนดราม่า
แต่สำหรับผู้เขียนจะออกแนวโลกสวยๆหน่อยก็เลยมองว่า
จะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
- ผลดีอย่างไร ได้ประโยชน์อย่างไร -
- ด้านภูมิศาสตร์
ถ้าเราติดปีกแล้วบินขึ้นไปบนฟ้าในระยะความสูงสัก ๒๐๐ - ๓๐๐ กิโลเมตรแล้วมองลงมา
เราจะเห็นว่าทำเลที่ตั้งของประเทศสารขัณฑ์อันเป็นที่รักของเราอยู่จุดกึ่งกลางของภูมิภาคอาเซียนพอดี
เราคือประตูเชื่อมผ่านระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคกับมหาสมุทรอินเดีย
เราคือทางผ่าน เราคือหัวใจ
คือเมื่อเรามองขึ้นไปทางเหนือเรา อย่างลาว พม่า กัมพูชา เขมรหรือพี่ใหญ่อย่างจีนแผ่นดินใหญ่ จะพบว่ามีสิ่งมีชีวิตที่ต้องกินต้องใช้กว่า ๑,๖๐๐ ล้านคน
หรือจะส่งสายตาลงมาต่ำทางตอนใต้อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯ ก็จะพบว่ามีประชากรอีกเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านคนดิ้นรนอยู่
เมื่อโลกปัจจุบันแต่ละประเทศต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต่างต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่อกันและกันไม่มีประเทศไหนที่โดดเดี่ยวตัวเองได้แล้วจะอยู่รอด
นั่นย่อมแสดงว่าประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคต้องเป็นจุดเชื่อมต่อหรือทางผ่านของการกระจายสินค้า
แม้ว่าอาลีบาบาจะตั้งศูนย์สินค้าอยู่มาเลเซีย
แต่ศูนย์ E Commerce หรือศูนย์ข้อมูลดิจิตอลจะตั้งอยู่ที่ไทย
นัยยะแรกที่เราจะได้ประโยชน์จากสัญญา ๔ ข้อระหว่างอาลีบาบากับประเทศคือ เราจะเป็นศูนย์ฝึกบุคคลากรทางดิจิตอลที่มีคุณภาพ และมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้โดยเฉพาะ
นัยยะต่อมาเมื่อเราได้บุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการค้าขายผ่านระบบดิจิตอล การกระจายความรู้สู่ฐานรากมันจะไปไหนถ้าไม่ใช่ประชาชนชาวไทย
นัยยะสุดท้าย เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในระบบ จะหยิบจับฉวยอะไรมาขายก็น่าจะทำเงินได้
ผลประโยชน์จากการที่ประเทศตั้งอยู่จุดกึ่งกลางภูมิภาคมากมายไม่สามารถประเมินค่าได้
ผลประโยชน์ด้านภาษี ด้านโลจิสติกส์ ด้านการจ้างงานมันจะหนีไปไหน
ผลประโยชน์ด้านการเดินทาง ด้านการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศนับวันมีแต่จะเพิ่มทวีคูณ
นี่ยังไม่อวดอ้างด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นเหมือนทำเลทองอีกนะ
รู้ใช่ไหมว่าประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งสิ้น
ไม่มีรอยเลื่อนใหญ่ของแผ่นเปลือกโลก ไม่ต้องกังวลเรื่องแผ่นดินไหว
มีประเทศเพื่อนบ้านตั้งอยู่รายรอบ เป็นกำแพงต้านพายุฝนหรือวาตะภัยได้เป็นอย่างดี
ภูมิศาสตร์แบบนี้ทำให้ประเทศไทยแลดูคล้ายเป็นเหมืองทองที่ใครต่อใครต่างก็อยากมาขุดมาลงทุน
- ด้านสินค้าและบริการ -
มีความกังวลต่อการมาของแจ็ค หม่า ว่าเราจะเป็นแค่ประเทศช่องทางในการส่งผ่านสินค้าของจีนแดงลงสู่ภูมิภาคอาเซียน
ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก
สินค้าจากจีนแดงจะทะลักเข้ามาจนล้น
จะทำให้เราขาดดุลการค้าจากจีน สินค้าจีนจะกลืนกินสินค้าไทย
นั่นเป็นความกังวลต่อประเทศใน " มิติที่ตื้นนัก "
คุณรู้ไหมว่าสินค้าไทย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ตีตรา Made in Thailand เป็นแบรนด์ระดับไหน
เราไม่ใช่จีนแดงที่จะผลิตสินค้าออกมาขายได้ในวงแคบเฉพาะแต่ภูมิภาคหรืออย่างมากแค่ระดับทวีป ( อ้างถึงความเชื่อเก่าๆ )
แต่ชื่อเสียงของสินค้าไทยดังไกลไปในระดับโลก
ถ้าคุณอยากรู้ว่าเป็นความจริงแท้มากน้อยแค่ไหน
หรือคนเขียนก็แค่เกรียนไปอย่างคนบ้านนอกไม่รู้ข้อมูลจริง
ก็อยากลองให้ค้นหารีวิวสินค้าไทยของคนต่างประเทศในโลกออนไลน์ดู
แล้วจะพบว่าสินค้าเราอยู่ในระดับ " พรีเมี่ยม "
เรามีของดีอยู่ในมือ มั่นใจว่าสินค้าจีนยัง " คนละชั้น "
ยกตัวอย่างง่ายๆกลุ่มประเทศ CLMV ( กัมพูชา , ลาว , เขมร , พม่า ) เขาจะยอมรับว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าคุณภาพสูง เขาจะยอมจ่ายให้ได้มาก่อนแม้ในราคาที่แพงกว่าซึ่งผลิตภัณฑ์ของคนไทยเสมอ
หรือแม้แต่ประเทศพี่ใหญ่อย่างจีนเจ้าของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ แต่เมื่อมีโอกาสได้ซื้อสินค้าไทย ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่านั่นเป็นคนกำลังเลือกซื้อสินค้ารึว่าห่าลงกันแน่
ดังนั้นต่อกรณีความกลัวว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาจนล้น แต่ถ้าคิดไปไกลว่าทางทิศเหนือและทิศใต้มีจำนวนคนที่รอสินค้าคุณภาพของประเทศเรากว่า ๒,๐๐๐ ล้านคน
จึงควรกังวลถึงปริมาณสินค้าของตัวเราเองที่จะทะลักออก ว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของคนเป็นพันล้านคนได้หรือไม่
ถ้าจะให้พูดโก้ๆก็.. เรามีของดีอยู่ในมือ เราจึงปฏิเสธสินค้าเขาได้ แต่เขาไม่สามารถปฏิเสธสินค้าของเราได้..
เพราะสินค้าเราขายง่าย และขายได้ทั่วโลกนั่นเอง
จะมีก็แต่แค่คนไทยตาดำๆเท่านั้นแหละ ที่ไม่เห็นคุณค่าสินค้าตัวเอง
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลไม้ทองคำเกรดพรีเมี่ยมเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน
- ด้านคุณภาพของคนไทย -
ไทยแลนด์แดนสมายล์ หรือชื่อเดิมประเทศสยาม หรือที่คนรู้จักกันทั้งโลกให้สมญานามว่า สยามเมืองยิ้ม
ฉายานี้ได้มาไม่ใช่เพราะใครอุปโลกขึ้น
หากเป็นเพราะคุณลักษณะคนไทยเป็นคน ยิ้มง่าย อัธยาศัยดีแต่จริงใจ จึงเป็นที่รักใคร่ของคนเกือบทั้งโลก
ซึ่งลักษณะนิสัยใจคอของคนไทยที่เป็นนี้ย่อมส่งผลดีภาพลักษณ์ของประเทศ
ปัจจัยพื้นฐานของคุณภาพคนย่อมส่งผลดึงดูดนักท่องเที่ยว
เมื่อมีนักท่องเที่ยวนั่นย่อมมีเงินสะพัด และเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวจะไหลเข้ากระเป๋าพ่อแม่พี่น้องโดยตรง
คุณลักษณะคนไทยเป็นคน ยิ้มง่าย อัธยาศัยดีแต่จริงใจ จึงเป็นที่รักใคร่ของคนเกือบทั้งโลก
- การมาของอาลีบาบา -
เราฝืนกระแสโลกไม่ได้หรอก โลกแค่เหวี่ยงกำลังเล็กๆก็ส่งผลกระทบต่อประชากรทั้งโลกแล้ว
เราแค่คนตัวน้อยตัวนิดก็คิดเองว่าจะทวนกระแสหรือไหลไปตามโลก
ต่อการถือกำเนิดของอินเตอร์เน็ต
ก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนยิ่งกว่าแผ่นดินไหวไปทั้งโลก
การติดต่อสื่อสาร การดำเนินการทางธุรกิจได้ย่อโลกมาให้เล็กแค่กำมือ
ในวันก่อนถ้าเราอยากจะส่งข้อความถึงคนไกล อาจจะใช้เวลานานเป็นแรมเดือนกว่าจดหมายฉบับน้อยจะเคลื่อนถึง
แต่สมัยนี้เราใช้เวลาแค่เศษเสี้ยววินาทีทั้งภาพและเสียงของคนไกลก็มากองอยู่ตรงหน้า
" และต่อการมาของอาลีบาบาก็เช่นกัน "
ถ้าเราอยากได้สินค้าสักชิ้นที่อยู่แดนไกล เราก็อาจหาซื้อสินค้าชิ้นนั้นตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าตัวแทนจำหน่าย
ซึ่งเป็นรูปแบบการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ B2C ( Business to Custumer ) โดนผ่านพ่อค้าคนกลาง
ยกตัวอย่างง่ายๆการซื้อขายทุเรียนผ่าน " ล้ง "
ล้งไปตกเขียวใช้เศษเงินเป็นเหยื่อล่อ พอทุเรียนสุกพร้อมขายก็เก็บเรียบทั้งสวน
ข้อดีของการซื้อขายลักษณะนี้คือ
- ผู้ประกอบการจะขายของได้คราวละทีละมากๆ
- ไม่มีความเสี่ยงเรื่อง Stock loss หรือสินค้าเน่าเสีย
- ไม่ต้องกังวลว่าต้องหาตลาด
- ไม่ต้องมีหน้าร้าน
- ไม่ต้องจ้างคนงาน
ส่วนข้อเสียมีเพียงข้อเดียวแต่ส่งผลกระทบหนักคือ
คุณจะโดนล้งกดราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินแล้วโดนกระโดดกระทืบซ้ำอีก
และคุณจะต้องกลายเป็นใบ้ไปจนกว่าคุณจะมีสินค้าในรอบใหม่ ซึ่งนั่นจะทำให้ปากคุณปิดสนิทคุณจะไม่มีสิทธ์เสียงเรียกร้องอะไรได้เลย
และการขายในคราวต่อไปคุณก็จะเจอรูปแบบเดิม..
" เว้นเสียแต่คุณจะเปลี่ยนวิธี "
- เปลี่ยนแมวหง่าวผู้หลับไหลให้กลายเป็นเสือ -
ในชั้นแรกต่อการมาของอาลีบาบา เชื่อว่าหลายคนคงมองในมุมไม่ดีนัก
แต่ก็ถือว่าเป็นปรกติของสัญชาติญาณคนที่จะมองสิ่งกระทบใหม่ในแง่ร้ายเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง
ก็ไม่ถูกไปทั้งหมดและก็ไม่ผิดจนเกินไปนัก..
ถ้าเรารู้จักมองอย่างระแวดระวัง ทั้งหยั่งเชิงตั้งรับทั้งสับขาหลอกเพื่อรุกไล่
แต่มันจะผิดไปทั้งหมดถ้าเราไม่เปิดใจ
ต่อการมาของเทคโนโลยี่ใหม่ๆ เราไม่อาจหลีกหนีไหนได้หรอก
มันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
เรามีสิทธิ์จะคิดว่าแจ็ค หม่า สร้างอาลีบาบามาเพื่อกอบโกยโลก
แต่ก็ไม่น่าเกลียดนักถ้าเราจะรู้จักแสวงหาประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ของแจ็ค หม่า เฉกเช่นเดียวกัน
การมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไปอาจเป็นการปิดโอกาสของเราแต่ฝ่ายเดียว..
ทั้งที่การพัฒนาไปของเทคโนโลยี่ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเลย
แค่เรารู้จักจัดสรรความเสี่ยงก็น่าจะ win - win ได้ทั้งสองฝ่าย
เพราะการมาของอาลีบาบาจะมาแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางออกไปทั้งระบบ
เหลือบ ริ้น ไร้ ที่ดูดเนื้อดูดเลือดเราระหว่างทางจะถูกตัดตอนให้หายไป
มันจะไม่เลวร้ายเลยถ้าเรามองแค่ว่าคืออีกช่องทางหนึ่งของการส่งสินค้าเราไปถึงมือผู้บริโภค
เราแค่มีทางเลือกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง แล้วก็เทียบเคียงดูว่าช่องทางไหนเกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด
ถ้าพ่อค้าคนกลางกดราคาผลิตผลจนไม่คุ้มหยาดเหงื่อแรงงาน
เราก็ยังมีช่องทางออนไลน์เพื่อใช้ต่อรองกับมันได้เฉกเช่นเดียวกัน
แม้ว่าเขาจะมองว่าเราไม่สำคัญแต่เราก็ไม่เห็นต้องแคร์
เราขายผ่านล้งได้ ผ่านทางออนไลน์ได้ จะหาบขายเองก็ได้สิทธ์เป็นของเรา
- เกษตรกรควรรับมืออย่างไร -
แทบไม่มีอะไรให้ต้องกังวล จะมีแต่ผลดี ผลเสียจะไม่มี
ดังที่ได้เขียนไปการเข้ามาของอาลีบาบาก็เป็นแค่อีกช่องทางของการขายสินค้าของเราเท่านั้น
ซึ่งในชีวิตปัจจุบันเราก็มีส่วนเกี่ยวพันกับการซื้อขายของออนไลน์ไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว
Shoppee นั่นก็เป็นของการีน่า ส่วนอาลีบาบาก็เทคโอเวอร์ Lazada ไปซะตั้งนาน
เห็นไหมทั้งสินค้าและเงินตรามันปลิวว่อนลอยในอากาศรอบตัวเรา
โอกาสใครมี สมองใครดี มือใครยาวก็สาวได้ก่อน
ที่สำคัญแม้ปฐมฤกษ์ใบเบิกทางระหว่างอาลีบาบากับไทยในเบื้องต้นจะเป็นแค่ทุเรียน
แต่ข้าวซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่สุดและมีปริมาณมากที่สุดของเกษตรกร..
ก็ถูกวางแนวทางการขายผ่านอาลีบาบาไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๑ ที่เพิ่งผ่านมา
ข้าวหอมมะลิ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมของสินค้าทางการเกษตรไทย
ดังนั้นไม่ว่าผลิตผลทางการเกษตรชนิดใดๆก็น่าส่งขายได้ไม่ต่างจากทุเรียน
จงใช้ประโยชน์จากข้อดีที่คนต่างประเทศที่เขาศรัทธาในสินค้าเรา
จงใช้ประโยชน์จากข้อดีของเทคโนโลยี่มากกว่าจะก่นด่าทั้งที่ถ้าเราจะอยู่เฉยๆ..มันก็ไม่สร้างความเสียหายอะไรให้
จงใช้ประโยชน์จากข้อดีของทำเลที่ตั้งเราในการเป็นช่องทางส่งผ่านสินค้าเราให้ถึงเขา
จงใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์เราที่เป็นเหมือนทำเลทองปลูกพืชผักอะไรก็เจริญเติบโตได้และอีกทั้งให้คุณภาพดี
และเชื่อเถอะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแถบมรสุมอย่างประเทศเรา มีแต่ข้อดีที่ไม่มีใครเหมือน
ทุเรียนอาจมีแหล่งกำเนิดที่อินโดนีเซีย
แต่เมื่อพวกมันพากันหอบลูกจูงหลานอพยบมาอยู่ไทย..ก็ได้คุณภาพดีอย่างไม่มีประเทศไหนเทียบเคียง
อีกทั้งเรายังสามารถตัดแต่งและพัฒนาสายพันธุ์ทุกชนิดผัก-ผลไม้ให้เข้าได้กับลักษณะภูมิศาสตร์จนไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้เท่าเรา
ที่สำคัญที่สุด..
เมื่อเรามีของที่มีคุณภาพ เราต้องรู้จักรักษาคุณภาพ
พร้อมสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ แพ็คเก็จจิ้งให้ดูดีมีราคา..
แล้วพัฒนาตัวเองให้เป็น Start up ในโลกแห่งเทคโนโลยี่
แค่นี่เราก็สามารถถ่ายรูปทุเรียนในสวนที่ยังติดอยู่บนต้น..
แล้วโพสต์ขายถึงคนไกลให้ไปถึงได้แม้ขั้วโลกเหนือ
เข้าตำราของแจ็ค หม่า ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรขายสินค้าแบบ C2C
เครดิตรูปภาพทั้งหมด : ได้รับอนุญาตจาก
พี่สาว " เก็บตะวัน ไว้ที่ปลายฟ้า "
ซึ่งเป็นเจ้าของ " สวนสี่ดาว "
อำเภอเขาคิชฌกูช จังหวัดจันทบุรี
พี่สาว " เก็บตะวัน ไว้ที่ปลายฟ้า " เจ้าของสวนสี่ดาว , เขาคิชฌกูช จันทบุรี
😿 กดไลค์ กดแชร์ หรือกดติดตาม
😿 เพื่อเป็นกำลังใจให้แมวด้วยนะครับ
ด้วยจิตมิตรภาพ
^_ ^ แมวพิมพ์ ~
๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
โฆษณา