11 พ.ย. 2019 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย x ลงทุนแมน
8 ข้อเท็จจริง ปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย
งานศึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้น่าสนใจ
ทำให้เราได้รู้พฤติกรรม การใช้จ่าย การออม
และปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย
ซึ่งผลของการศึกษา สามารถสรุปได้เป็น 8 ข้อเท็จจริงดังนี้
ข้อเท็จจริงที่ 1 : ความเปราะบางของครัวเรือนกระจุกตัวมากขึ้นในครัวเรือนที่มีหนี้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้มีความเปราะบางลดลงต่อเนื่อง
สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้โน้มลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 51 ในปี 2560 แต่ระดับหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (ที่มีหนี้) กลับเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนว่าหนี้ที่สูงกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนหรือผู้กู้รายเดิม
ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่า “การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้รายเดิม และมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ที่มาจากการขยายตัวของผู้กู้รายใหม่”
ส่งผลให้ความเปราะบางกระจุกตัวมากขึ้นในครัวเรือนที่มีหนี้ โดยสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของครัวเรือนที่ไม่มีหนี้โน้มลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 2 : ภาระหนี้และรายจ่ายไม่จำเป็น คือปัญหาหลักที่ทำให้ครัวเรือนไทยมีรายรับไม่พอรายจ่าย
คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการเป็นหนี้คือ ปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายจนทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้มี ความรุนแรงขนาดไหน?
มีครัวเรือนประมาณกว่าร้อยละ 10 ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยที่มีรายรับไม่พอรายจ่ายจำเป็น แต่เมื่อนับรวมรายจ่ายไม่จำเป็นเข้าไปด้วย จะทำให้สัดส่วนครัวเรือนที่มีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 และหากเพิ่มภาระหนี้เข้าไปในรายจ่ายด้วยก็จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวสำหรับครัวเรือนที่มีหนี้ ปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 60
1
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าหากนับเฉพาะรายจ่ายจำเป็น สัดส่วนครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงินแทบจะไม่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีหนี้และไม่มีหนี้ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มจะเริ่มมีมากขึ้น หากนับรวมรายจ่ายไม่จำเป็น และยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อนับรวมรายจ่ายด้านภาระหนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการปลดภาระหนี้ โดยหากทำได้สำเร็จจะทำให้สัดส่วนครัวเรือนไทยที่มีปัญหาทางการเงินลดลงอย่างมาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 3 : รายได้ที่ผันผวนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ครัวเรือนก่อหนี้สิน แต่เป็นรายได้ที่มั่นคงที่ทำให้
เข้าถึงบริการทางการเงิน (ก่อหนี้) ได้ดีขึ้น
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ครัวเรือนอาจต้องก่อหนี้คือ การที่ครัวเรือนมีรายได้ผันผวนจนไม่สามารถประเมินรายได้ในอนาคตได้ดีเท่าที่ควร และอาจสร้างปัญหาในการบริหารเงินจนนำไปสู่การก่อหนี้
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหนี้และไม่มีหนี้ หรือกลุ่มที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาทางการเงิน
สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ครัวเรือนไทย ไม่ได้มีปัญหาด้านรายได้ที่ผันผวนเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรไปสู่การเป็นลูกจ้างในภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว
2
นอกจากนี้ การที่ภาคครัวเรือนมีแหล่งรายรับที่มั่นคงมากขึ้นส่งผลให้ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมักจะให้เครดิตกับผู้กู้ที่มีรายได้มั่นคงมากกว่า ดังนั้นถือได้ว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มั่นคงเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้สิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 4 : ยิ่งครัวเรือนมีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงขึ้น ก็จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่อัตราการออมจะ ลดลง สะท้อนถึงการขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย
การศึกษานี้พบว่า หลังจากคุมลักษณะและปัจจัยต่างๆ ของครัวเรือนให้คงที่ ครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงๆ จะมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาระหนี้) สูงขึ้นตามไปด้วย และมีอัตราการออมที่ลดลง เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้ผันผวน
ผลลัพธ์ดังกล่าว อาจชี้ให้เห็นถึงความชะล่าใจของครัวเรือนที่มีรายได้มั่นคงสูง จึงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายน้อยกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ผันผวน
โดยเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงต่ำกว่าร้อยละ 20 แล้ว ครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงเกินกว่าร้อยละ 80 จะมีรายจ่ายสูงกว่า ประมาณร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ขณะที่อัตราการออมจะต่ำกว่าประมาณร้อยละ 2.0 ต่อเดือนอย่างมีนัยทางสถิติ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 5 : ครัวเรือนรุ่นหลังๆ (Gen Y) มีการใช้จ่ายมากกว่ารุ่นก่อนๆ ค่อนข้างมาก
จากข้อเท็จจริงที่ 2 ซึ่งพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้กว่าร้อยละ 60 อาจประสบปัญหารายรับไม่พอรายจ่าย กลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างจากครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงินอย่างชัดเจน
โดยการศึกษานี้ได้ตั้งคำถามว่า หากคุมลักษณะและปัจจัยต่างๆ ของครัวเรือน เช่น รายได้ อาชีพและทำเลที่อยู่อาศัยให้คงที่แล้ว การใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปีหลังๆ คือ ปี 2556 - 2560 จะแตกต่างกับปี 2554 หรือไม่ และแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไร
ซึ่งพบว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีอายุเฉลี่ย 0 - 30 ปี หรือกลุ่ม Gen Y ที่เห็นการใช้จ่ายเร่งขึ้นสูงในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เทียบกับปี 2554 ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีอายุเฉลี่ย 31 - 50 ปี ก็มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า
ในทางกลับกัน กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงิน จะมีการใช้จ่ายลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า ครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่ระวังการใช้จ่ายมักจะประสบปัญหาทางการเงิน ขณะที่ครัวเรือนที่มีหนี้และมีวินัยในการใช้จ่ายก็จะไม่มีปัญหาทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 6 : เทคโนโลยีทำให้ครัวเรือนขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย
เทคโนโลยีโดยเฉพาะโลก online นอกจากจะสร้างประโยชน์และความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอโฆษณาที่เข้าถึงความสนใจเฉพาะบุคคลของผู้บริโภคได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การเข้ามาของ social media ช่วยส่งเสริมความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ ซึ่งกระตุ้นให้เกิด ความอยากอวด อยากได้ อยากเที่ยว อยากแชร์ ตามกลุ่มเพื่อนๆ มากขึ้น
สำหรับการศึกษานี้พบว่า หลังจากที่คุมลักษณะและปัจจัยต่างๆ ของครัวเรือนให้คงที่แล้ว การใช้ internet มีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ
โดยค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นตามสัดส่วนของสมาชิกในครัวเรือนที่มีการใช้ internet โดยครัวเรือนที่มีสัดส่วนการใช้ internet สูงๆ จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 27 เทียบกับครัวเรือนที่ไม่ได้ใช้ internet
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าแม้จะคุมปัจจัยหลายๆ อย่างให้คงที่แล้ว ครัวเรือนที่ซื้อของผ่าน online shopping จะมีการใช้จ่ายมากกว่าครัวเรือนที่ซื้อของในช่องทาง offline โดยเฉพาะในหมวดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนบุคคลที่เห็นการใช้จ่ายสูงกว่าถึงร้อยละ 39
ข้อเท็จจริงนี้มีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงในข้อที่ 5 ที่ชี้ว่า Gen Y มีแนวโน้มขาดความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นหลังเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่าและเข้าถึงเร็วกว่าคนรุ่นก่อนๆ
มองไปข้างหน้า เทคโนโลยีต่างๆ ที่สร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่ายและการก่อหนี้ รวมถึงการเข้ามา ของฟินเทค (Financial Technology) จะยิ่งทำให้ปัญหาการขาดวินัยทางการเงินและการก่อหนี้ของคนรุ่นหลังๆ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
จึงสามารถกล่าวได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่ง เป็นการต่อสู้กับเทคโนโลยีที่ทำให้ครัวเรือนขาดวินัยทางการเงิน จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้ภาคครัวเรือนใช้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าทันและเหมาะสม
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 7 : การเพิ่มรายได้เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะขาดประสิทธิผลหากครัวเรือนไม่ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย
อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ การเพิ่มรายได้จะทำให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องมากขึ้นและสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้หรือไม่
การศึกษานี้ได้ทำการทดสอบว่า หากครัวเรือนที่มีหนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น 1 บาท ครัวเรือนจะนำไปใช้จ่ายเท่าไร อย่างไร (ตามหลักคิดของ marginal propensity to consume)
โดยแบ่งการใช้เงินออกเป็น 3 แบบด้วยกันคือ 1) นำไปจ่ายภาระหนี้ 2) นำไปใช้จ่าย และ 3) นำไปเก็บออม
ทั้งนี้ หากครัวเรือนนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปชำระหนี้ เช่น นำเงินมาชำระหนี้บัตรเครดิตและลดการพึ่งพาการจ่ายขั้นต่ำ ที่ทำให้เงินต้นลดได้ช้า ครัวเรือนก็จะมีโอกาสสูงที่จะสามารถปลดหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า หลังจากที่ได้คุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาทางการเงินจะนำรายได้ส่วนใหญ่ไปใช้จ่าย โดยเฉพาะ Gen Y ที่จะนำเงินไปใช้จ่ายถึงประมาณ 3 ใน 4 และนำไปจ่ายภาระหนี้ในส่วนที่เหลือ ขณะเดียวกันครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงินจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บออมไว้อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเงินที่เพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่การเพิ่มรายได้ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ไม่เช่นนั้นครัวเรือนก็จะยังมีปัญหาทางการเงินและไม่มีเงินเก็บออมอย่างเหมาะสม เพราะพฤติกรรมเดิมๆ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม อีกทั้งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยมาตรการต่างๆ จะขาดประสิทธิผลหากภาคครัวเรือนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อเท็จจริงที่ 8 : ครัวเรือนไทยมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ หากปรับ พฤติกรรมการใช้จ่าย
ข้อเท็จจริงที่ 2 และ 3 ของงานศึกษานี้ชี้ว่า ครัวเรือนไทยจำนวนมากมีศักยภาพในการปรับตัว และสามารถสร้างฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ หากครัวเรือนปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและมีการวางแผนทางการเงินที่ดี เนื่องจาก
1
(1) ครัวเรือนทุกกลุ่มมีสัดส่วนรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ซึ่งควรจะส่งผลดีต่อการคาดการณ์รายได้ต่อเดือนและการบริหารการเงินภายในครัวเรือน
(2) ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนมีรายรับไม่พอรายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายไม่จำเป็น และส่วนใหญ่มาจากภาระหนี้ที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนปรับลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็นและนำเงินที่เหลือไปชาระหนี้ (ลดภาระหนี้) เพื่อลดเงินต้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็จะสามารถสร้างฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นแต่สามารถทำได้
ทั้งนี้ งานศึกษาพบว่าหากให้ครัวเรือนไทยที่มีหนี้ลดรายจ่ายไม่จำเป็นลงร้อยละ 20 ก็จะทำให้สัดส่วนครัวเรือน ที่มีปัญหาทางการเงินลดลงประมาณร้อยละ 5 และตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมากขึ้นอีกหากครัวเรือนนำเงินส่วนต่างนี้ไปชำระหนี้
คำถามที่น่าสนใจคือ ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาโดยเฉลี่ยแล้วควรจะลดค่าใช้จ่ายเท่าไร จึงจะทำให้พวกเขาไม่มีปัญหาทางการเงิน?
ผลการศึกษาพบว่า การท่องเที่ยวเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาควรลด โดยต้องลดลงถึงร้อยละ 83 จากปริมาณการใช้จ่ายปัจจุบัน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย
รองลงมาคือ หมวดเสื้อผ้า ซึ่งครัวเรือนควรลดการใช้จ่ายถึงร้อยละ 73 ส่วนค่าอาหารนอกบ้าน และของใช้ส่วนบุคคลก็ควรลดลงร้อยละ 58 และ 54 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายอื่นๆ ที่ควรปรับลด การใช้จ่ายเพื่อสร้างวินัยและลดความเสี่ยงทางการเงินในครัวเรือน เช่น ค่าเหล้าและค่าหวยที่ควรลดลง ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน..
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถอ่านงานศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Oct2019.aspx
โดย
ดร.สรา ชื่นโชคสันต์
นางสาวภาวนิศร์ ชัววัลลี
นายวิริยะ ดำรงค์ศิริ
หมายเหตุ
- งานศึกษานี้ ใช้วิธีการประมวลผลจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 - 2560 ประกอบกับการประมวลผลด้วยการคุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ (Econometric Model)
- บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
1
โฆษณา