12 พ.ย. 2019 เวลา 13:14 • ไลฟ์สไตล์
ทิฎฐิ 62 ความคิดเห็น : สิ่งที่น่าเรียนรู้
เนื่องด้วยภูมิปัญญาอันน้อยนิดของ
ผม นั้นสุดที่จะเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมดนี้ ในระยะเวลาอันสั้นได้ จึงต้องใช้วิธีค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่ามีการเผยแพร่: 30 มิ.ย. 2557 15:44   โดย: สามารถ มังสัง ซึ่งนำมาจากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนโดย อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ การเปรียบความคิดเห็น 62 ประการกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
ผมเองเห็นว่าอ่านเข้าใจได้ง่าย อันจะทำให้ได้ทราบถึง ทิฎฐิทั้ง 62 ประการ ที่ทำให้ไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ ขอผู้อ่านและผู้ฝึกปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้รู้และระมัดระวัง อาการต่างๆด้วยครับ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความคิดเห็นหรือทิฐิ 62 ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้นไว้ในพรหมชาลสูตร ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรคมีเนื้อความโดยย่อดังนี้
“ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความคิดเห็น 62 ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นของสิ่งต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร (ปุพพันตกัปปิกะ) 18 ประเภทกับที่มีความเห็นปรารภเบื้องปลายของสิ่งต่างๆ ว่าจะลงท้ายหรือจบลงอย่างไร (อปรันตกัปปิกะ) 44 ประเภท รวมเป็น 62 ดังต่อไปนี้
ความเห็นปรารภเบื้องต้น 18
ความเห็นปรารภเบื้องต้นหรือปุพพันตกัปปิกะ 18 ประการนั้น แบ่งออกเป็น 5 หมวดคือ เห็นว่า (ทุกอย่าง) เที่ยง หรือที่เรียกว่า สัสสตวาทะ มี 4 เห็นว่าบางอย่างเที่ยงหรือ เอกัจจสัสสติกะเห็นว่า บางอย่างไม่เที่ยงหรือ เอกัจจอสัสสติกะมี 4 เห็นว่ามีที่สุด และไม่มีที่สุด หรืออัพพนันติกะมี 4 พูดซัดส่ายไม่ตายตัวเหมือนปลาไหลหรืออมราวิกเขปิกะมี 4 เห็นว่าสิ่งต่างๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ หรืออธิจจสมุปปันนะรวมเป็น 18 ดังมีรายละเอียดในแต่ละหมวดดังต่อไปนี้
1. เห็นว่าเที่ยงหรือสัสสตวาทะ 4 คือ
1.1 เห็นว่าตัวตนหรืออัตตา และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติเดียวถึงแสนชาติ
1.2 เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้เป็นกัปป์ๆ ตั้งแต่กัปป์เดียวถึง 10 กัปป์
1.3 เห็นว่าตัวตนและโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้มากกัปป์ตั้งแต่ 10 กัปป์ถึง 40 กัปป์
1.4 นักเดา เดาเอาตามความคาดคะเนว่าโลกเที่ยง
2. เห็นว่าบางอย่างเที่ยง (เอกัจจสัสสนิกะ) บางอย่างไม่เที่ยง (เอ กัจจอสัสสติกะ) 4
2.1 เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างไม่เที่ยง
2.2 เห็นว่าเทวดาอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะเล่นสนุกสนาน (ขิฑฑาปิเทสิกา) ไม่เที่ยง
2.3 เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะคิดร้ายผู้อื่น (มโนปิเทสกา) ไม่เที่ยง
2.4 นักเดา เดาตามความคาดคะเนว่าตัวตนฝ่ายกายไม่เที่ยง ตัวตนฝ่ายจิตเที่ยง
3. เห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด (อันตานันติกะ) 4
3.1 เห็นว่าโลกมีที่สุด
3.2 เห็นว่าโลกไม่มีที่สุด
3.3 เห็นว่าโลกมีที่สุด เฉพาะด้านบนกับด้านล่าง หรือด้านกลางหรือด้านขวางไม่มีที่สุด
3.4 นักเดา เดาตามการคาดคะเนว่า โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่
4. พูดซัดส่ายไม่ตายตัวเหมือนปลาไหล (อมราวิกเขปิกะ)
4.1 เกรงว่าจะพูดปด จึงพูดปฏิเสธว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ มิใช่ (อะไร) ก็ไม่ใช่
4.2 เกรงว่าจะยึดถือ จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 4.1
4.3 เกรงว่าจะถูกซักถาม จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 4.1
4.4 เพราะโง่เขลา จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ 4.1
5. เห็นว่าสิ่งต่างๆ มีขึ้นเองไม่มีเหตุ (อธิจจสมุปปันนะ) 
5.1 เห็นว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเอง ไม่มีเหตุเพราะเคยเกิดเป็นอสัญญีสัตว์
5.2 นักเดา เดาเอาตามความคาดคะเนว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุ
ความเห็นปรารภเบื้องปลาย
ความเห็นปรารภเบื้องปลาย 44 แบ่งออกเป็น 5 หมวด ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เห็นว่ามีสัญญาหรือสัญญีวาทะ มี 16
1.1 ตนมีรูป
1.2 ตนไม่มีรูป
1.3 ตนทั้งมีรูป ทั้งไม่มีรูป
1.4 คนมีรูปก็ไม่ใช่ ไม่มีรูปก็ไม่ใช่
1.5 ตนมีที่สุด
1.6 ตนไม่มีที่สุด
1.7 ตนทั้งมีที่สุด ทั้งไม่มีที่สุด
1.8 ตนมีที่สุด ก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่
1.9 ตนมีสัญญา (ความจำได้หมายรู้) เป็นอันเดียวกัน
1.10 ตนมีสัญญาต่างกัน
1.11 ตนมีสัญญาเล็กน้อย
1.12 ตนมีสัญญาหาประมาณมิได้
1.13 ตนมีสุขโดยส่วนเดียว
1.14 ตนมีทุกข์โดยส่วนเดียว
1.15 ตนมีทั้งสุขทั้งทุกข์
1.16 ตนไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
ตนทั้ง 16 ประเภทนี้ตายไปแล้ว ก็มีสัญญาคือ จำได้หมายรู้ทั้งสิ้น
2. เห็นว่าไม่มีสัญญา (อสัญญีวาทะ) 8
เห็นว่า ตั้งแต่ข้อ 1-8 ข้างต้นคือ ตนมีรูปจนถึงตนมีที่สุด ก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ ทั้ง 8 ประเภทนี้ตายไปแล้ว ก็ไม่มีสัญญาคือไม่มีความจำได้หมายรู้
3. เห็นว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ) 8
เห็นว่าตั้งแต่ข้อ 1-8 ข้างต้นคือ ตนมีรูปจนถึงตนมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ 8 ประเภทนี้ตายไปแล้ว มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ 8 ประเภทนี้ตายไปแล้ว มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
ทั้งสามหมวดนี้รวมเรียกว่า อุทธมาฆทปิกา แปลว่าพวกที่มีความเห็นเกี่ยวกับสภาพเมื่อตายแล้วจะเป็นอย่างไร
4. เห็นว่าขาดสูญ (อุจเฉทวาทะ) 7
4.1 ตนที่เป็นของมนุษย์และสัตว์
4.2 ตนที่เป็นของทิพย์มีรูปกินอาหารหยาบ
4.3 ตนที่เป็นของทิพย์มีรูปสำเร็จจากไป
4.4 ตนที่เป็นอากาสานัญจายตนะ
4.5 ตนที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ
4.6 ตนที่เป็นอากิญจัญญายตนะ
4.7 ตนที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ 7 ประเภทที่เมื่อตายไปแล้วก็ขาดสูญไม่เกิดอีก
5. เห็นสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน (ทิฏฐิธัมมานิพาน) 5
5.1 เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยกามคุณ 5 เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน
5.2, 5.3, 5.4, 5.5 เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยฌานแต่ละข้อจากฌานที่ 1-4 เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน
จากพระไตรปิฎกฉบับประชาชนโดย อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ การเปรียบความคิดเห็น 62 ประการกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
เมื่อนำความคิดเห็น 62 ประการซึ่งเป็นของสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิในยุคนั้นมาเปรียบเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ค้นพบด้วยพระองค์เอง หรือที่เรียกว่า ได้ตรัสรู้เองจะพบว่ามีข้อแตกต่างในด้านเนื้อหาในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
1. ในประเด็นสิ่งทั้งหลายเที่ยงไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า สังขารคือสิ่งที่เกิดจากการมีปัจจัยปรุงแต่งไม่เที่ยง คือลักษณะ 3 ประการอันได้แก่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ในประเด็นไม่เที่ยงจะเห็นได้จากการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป และในที่สุดก็แตกดับ
2. ในประเด็นโลกมีที่สุดไม่มีที่สุด พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนในเรื่องนี้และได้เคยตรัสกับผู้ที่มาถามเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องอจินไตยคือไม่อยู่ในวิสัยที่ปุถุชนคนสามัญจะพึงนำมาขบคิด และถ้าคิดแล้วทำให้มีส่วนแห่งการเป็นคนบ้า โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้จะรู้ก็ไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้จึงไม่สอน
3. ในประเด็นพูดซัดส่าย ไม่ตายตัวเหมือนปลาไหล พระพุทธเจ้าไม่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ในการตอบปัญหา แต่ได้ใช้หลัก 3 ประการคือ
1. ยืนยันจริงหรือไม่จริงแบบกระต่ายขาเดียว
2. ทรงถามย้อนให้ผู้ถามตอบแล้วยืนยันสิ่งที่เขาตอบว่าผิดหรือถูก
3. ตอบด้วยการไม่ตอบ หรือด้วยการนิ่งเป็นการปฏิเสธเมื่อเห็นว่าตอบไปแล้วผู้ถามไม่ได้อะไร
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าตถาคตคือ ทำได้ตามที่พูด และพูดได้ตามที่ทำ ไม่พูดอย่างทำอย่าง
4. ในประเด็นที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุจะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุไม่ได้
5. ประเด็นที่ว่า สภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าได้ปฏิเสธข้อที่ว่า การเพียบพร้อมด้วยกามคุณ 5 ว่าเป็นนิพพาน แต่ได้ตรัสว่าการทำลายกิเลสให้หมดไปเป็นนิพพาน
ส่วนในประเด็นที่เหลือทรงถือว่าเป็นอจินไตย ในทำนองเดียวกับกับข้อโลกมีที่สุด ไม่มีที่สุด
อันข้อความเหล่านี้ได้มีการตัดต่อไปบางส่วน หากผิดพลาดประการใด ขออโหสิกรรมด้วย เพื่อให้ผลบุญนี้เป็นทางสู่พระนิพพานสาธุ
โฆษณา