16 พ.ย. 2019 เวลา 04:34 • ข่าว
ให้เด็กเล็กใช้ชีวิตติดหน้าจอมากไป กระทบถึงพัฒนาการทางสมอง
มีงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาจากโรงพยาบาลเด็ก Cincinnati ที่เมือง Cincinnati รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาผลกระทบของหน้าจอต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือว่าแท็บเล็ต ต่อพัฒนาการของสมองเด็กอายุ 3-5 ปี แล้วพบว่าการปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับหน้าจอเหล่านี้นานเกินไปโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วยจะมีพัฒนาการในส่วนของเนื้อสมองขาว (White matter) ต่ำกว่าปกติ
2
เนื้อเยื่อสมองของเราแบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกหุ้มอยู่ภายนอก เห็นเป็นเนื้อสีเทา เรียกว่า Gray Matter ส่วนภายในเห็นเป็นเนื้อเยื่อสีขาวเรียกว่า White Matter
1
wongkarnpat.com
เนื้อเยื่อสีเทาหรือบริเวณที่อยู่ภายนอกประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท (Neuron), ใยส่งกระแสประสาท (axon), ใยรับกระแสประสาท (dendrite), เซลล์ค้ำจุนระบบประสาท (glial cell) และหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก ในขณะที่เนื้อเยื่อสีขาวมีเพียงเซลล์ค้ำจุนระบบประสาทและใยส่งกระแสประสาทเท่านั้น แต่ถึงแม้เนื้อเยื่อสีขาวจะไม่มีเซลล์ประสาท ก็ยังมีความสำคัญเพราะหน้าที่หลักคือการส่งกระแสประสาทระหว่างเนื้อเยื่อสีเทา เปรียบเสมือนสายเคเบิ้ลที่คอยนำส่งข้อมูล เชื่อมต่อระหว่างเนื่อเยื่อเทาส่วนต่างๆในสมอง
เมื่อเด็กแรกเกิดคลอดออกมาจากท้องแม่สมองจะยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่จะค่อยๆพัฒนาและสร้างเซลล์ประสาทไปเรื่อยๆจนถึงอายุประมาณ 5 ขวบ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้กล่าวถึงผลกระทบของหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อสมาธิของเด็กอยู่บ้าง ว่าทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น มีอาการของออทิสติกเทียม
งานวิจัยนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจำนวนชั่วโมงในการใช้ดูหน้าจอกับโครงสร้างสมองส่วนของเนื้อเยื่อขาวที่เกี่ยวพันกับความสามารถในการรับรู้ ความสามารถด้านการอ่านการเขียน และความสามารถด้านภาษา
เก็บข้อมูลในกลุ่มเด็กอายุ 3-5 ปีทั้งหมด 47 คน โดยเด็ก 47 คนนี้จะต้องผ่านเงื่อนไขหลายข้อ เช่น จะต้องเป็นเด็กที่อยู่ในครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ ไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน ไม่เคยทำ MRI อยู่ใครอบครัวที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารมาโดยตลอด ทั้งนี้คนในครอบครัวจะต้องไม่มีประวัติพัฒนาการทางสมองช้าหรือมีปัญหาด้านการพูด
ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้จะต้องกรอกแบบสอบถาม ที่เรียกว่า ScreenQ ซึ่งนำชุดคำถามจากสมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกา The American Academy of Pediatrics (AAP) มาปรับใช้ เนื้อหาของแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
- การเข้าถึงหน้าจอ
- ความบ่อยของการใช้
- เนื้อหาที่ดู
- ความสนใจต่อเนื้อหาหรือต่อผู้ปกครอง
ซึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้มาแปรผลร่วมกับภาพจากการสแกนสมองเพื่อดูโครงสร้างสมองในส่วนเนื้อเยื่อขาวว่ามีการพัฒนาเป็นอย่างไร แล้วสรุปผลการทดลองอีกครั้ง
ผลจากแบบสอบถามพบว่าค่ากลางของอายุเด็กที่เริ่มดูหน้าจอคือ 18 เดือน หรือ 1.5 ขวบ ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมงต่อวัน เด็ก 28 คน (60%) มีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง และเด็ก 19 คน (41%) มีโทรทัศน์ตั้งอยู่ในห้องนอน
ต่อไปคือการเก็บภาพสแกนสมองด้วยวิธี Diffusion Tensor Imaging (DTI) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการดูความสมบูรณ์ของปริมาณเนื้อเยื่อขาวในสมอง
Hutton JS, Dudley J, Horowitz-Kraus T, DeWitt T, Holland SK. Associations Between Screen-Based Media Use and Brain White Matter Integrity in Preschool-Aged Children. JAMA Pediatr.
สีน้ำเงินแสดงถึงสมองส่วนเนื้อเยื่อขาว ส่วนแถบสีด้านขวาแสดงค่าตัวเลขความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อ ยิ่งมีสีน้ำเงินเข้ม แสดงว่าค่าความสมบูรณ์มีน้อย (ค่าติดลบ)
ผลการทดลองพบว่า ยิ่งค่าตัวเลขจากแบบสอบถาม ScreenQ สูง (บ่งบอกถึงจำนวนชั่วโมงในการใช้หน้าจอมาก) จะมีการพัฒนาความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อขาวต่ำ ซึ่งสองค่านี้สัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
Hutton JS, Dudley J, Horowitz-Kraus T, DeWitt T, Holland SK. Associations Between Screen-Based Media Use and Brain White Matter Integrity in Preschool-Aged Children. JAMA Pediatr.
ภาพสแกนนี้แสดงให้เห็นถึงส่วนต่างๆของสมองในเนื้อเยื่อเทา 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถ 3 ด้าน
* สีขาว : ความสามารถในการรับรู้และสื่อสารทางภาษา
* สีเบจ : ความสามารถในการมองเห็นภาพ
* สีน้ำตาล : ความสามารถในการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ
ส่วนสีน้ำเงินแสดงถึงเนื้อเยื่อขาวที่เชื่อมต่อเนื้อเยื่อเทาสามส่วนนี้
1
ซึ่งให้ผลการทดลองเช่นเดิม ว่าบริเวณที่เห็นเป็นสีน้ำเงินแสดงถึงค่าความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อขาวที่น้อย เทียบกับจำนวนชั่วโมงที่เด็กใช้หน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งสองค่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ
1
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น พบว่าหน้าจอนั้นสามารถติดตามพวกเราไปได้ทุกที่ทุกเวลา หนึ่งในนักวิจัยบอกว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าในครอบครัวที่ลูกใช้หน้าจอมาก มีโอกาสสูงที่จะมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เองก็ติดหน้าจอเช่นกัน
สมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกาแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กเล็กดูหน้าจอเกินวันละ 1 ชั่วโมง เพราะสามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็ก เช่น ความสามารถทางด้านภาษาต่ำ อาจจะพูดน้อย ไม่ค่อยพูด นอนไม่หลับ การรับรู้ช้า และยังลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย
งานวิจัย :
อ้างอิง :
โฆษณา