13 พ.ย. 2019 เวลา 12:56 • ไลฟ์สไตล์
ทิฎฐิ ๖๒/๒
สุขใจธรรมนะครับ
หากผู้อ่านท่านใดเกิดอ่อนล้า
ขอให้พักก่อนซักครู่ รักษาสุขภาพด้วยครับ
เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔ 
[๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง จึงบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ?
๕. (๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้กลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้น สิ้นกาลยืดยาวช้านาน เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสัน ความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจาก ชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหม เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเองสัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว และกำลังเป็น สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าเราได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลัง ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้แลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดา ของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า พวกเราได้เห็นพระพรหมผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นมีอายุยืนกว่า มีผิวพรรณกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้วก็ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว บรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น พระพรหมผู้เจริญใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้นเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้ 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.
[๓๒] ๖. (๒) อนึ่ง ในฐานะที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม จึงพากันจุติจากชั้นนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็น เครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพวกเทวดาผู้มิใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา
เมื่อพวกนั้นไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา สติย่อมไม่หลงลืม เพราะสติไม่หลงลืม พวกเหล่านั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผัน เป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ หมกมุ่น อยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเส และการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกเรานั้นพากันหมกมุ่น อยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเส และการเล่นหัวจนเกินเวลา สติย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้นเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.
[๓๓] ๗. (๓) อนึ่ง ในฐานะที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่ามโนปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นมักเพ่งโทษกันและกัน เกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันเกินควร ย่อมคิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกายลำบากใจ พากันจุติจากชั้นนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบ เนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพวกเทวดาผู้มิใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร ก็ไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน แล้วก็ไม่ลำบากกาย ไม่ลำบากใจ พวกนั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราได้เป็นพวกมโนปโทสิกะ มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร ก็คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน ก็พากันลำบากกาย ลำบากใจ พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.
[๓๔] ๘. (๔) อนึ่ง ในฐานะที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่าง ไม่เที่ยง?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด กล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรียกว่าจักษุก็ดี โสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี นี้ได้ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอัน แปรผันเป็นธรรมดา ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือใจหรือวิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น มีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จะบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ บุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ทราบความเกิดขึ้น ความดับไป คุณและโทษของเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงทราบความดับเฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ.
อันข้อความเหล่านี้ได้มีการตัดต่อไป. บางส่วน หากผิดพลาดประการใด ขออโหสิกรรมด้วย เพื่อให้ผลบุญนี้เป็นทางสู่พระนิพพานสาธุ
โฆษณา