14 พ.ย. 2019 เวลา 23:30 • ธุรกิจ
อวสานโลก...ของ LIBOR 📉📈
LIBOR
อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference rate) สำหรับการทำธุรกรรมในตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่นอกราชอาณาจักรหรือประเทศ(Eurodollar Markets) ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายมายาวนานกว่า 49 ปี ตั้งแต่ปี 1970 โดยทั่วไปดอกเบี้ยอ้างอิงตัวนี้ ถูกใช้ในสัญญาอนุพันธ์ (Derivatives) เช่น IRS (Interest rate swaps), FX options, and FRA (Forward rate agreement) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้มีชื่อว่า “LIBOR” (London Interbank Offered Rate) หรือ “ICE LIBOR” (Intercontinental Exchange LIBOR) โดยล่าสุดนั้นได้มีมติเห็นชอบที่จะยุติการใช้อ้างอิงนี้อย่างถาวรหลังจากปี 2021 ก่อนอื่น
อะไรคือ LIBOR?
LIBOR นั้นคืออัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร ที่เป็นการกู้ยืมของธนาคารที่อยู่ London หากเป็น Europe ก็มีชื่อเฉพาะคือ EURIBOR ส่วนของไทยก็จะเป็น BIBOR (Bangkok Interbank Offered Rate) แต่ด้วยความที่ตลาดเราสภาพคล่องต่ำและยังเล็ก นโยบายการเงินของ BOT จึงใช้ REPO-1 Day (Repurchase Agreement) แทนเพราะมีสภาพคล่องสูงกว่ามาก โดยปกตินั้นธนาคารกลางของแต่ล่ะประเทศนั้นจะมีเกณฑ์ที่ว่าในแต่ล่ะวันธนาคารพาณิชย์ต้องมีเงินขั้นต่ำเก็บไว้สำรองจากเงินฝากทั้งหมดเป็นกี่ % เพื่อป้องกันเวลาการเกิด Bank run หรือคนแห่ถอนเงิน เราเรียกนโยบายนี้ว่า Reserve Requirement (RR) สมมุติว่าวันนี้ธนาคาร A มีเงินไม่พอตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนด ธนาคาร A ก็สามารถไปยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์อื่น เช่น ธนาคาร B แต่ธนาคาร B ต้องมีเงินคงเหลือเกินเกณฑ์ และจึงให้ A ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย LIBOR หากอยู่ที่ London ซึ่งจะเป็นการกู้ยืมระยะสั้น ตั้งแต่ 1 วัน จนถึง 6 เดือน แต่ส่วนใหญ่แค่ชั่วคืน (overnight loan) ตามสถิติปัจจุบัน มีสินทรัพย์ และอนุพันธ์ที่ผูกกับ LIBOR เป็นมูลค่าอย่างน้อย 350 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการยุติครั้งนี้อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากไม่มีการเตรียมพร้อม
เหตุใดจึงยุติ? และจะใช้อะไรแทน?
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 ที่พบคดีอาชญากรรมหลายครั้งโดยธนาคาร Barclays ซึ่งเผยให้เห็นว่ามีการร่วมกันโกง และทุจริตโดยธนาคารสมาชิกของ British Bankers’ Association ที่ได้ตั้งใจและทำให้อัตราดอกเบี้ย LIBOR นั้นขึ้นหรือลงแบบผิดนัยยะ เพื่อผลประโยชน์กำไรจากการเทรดของธนาคารเหล่านั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงเลิกใช้ LIBOR แล้วหันมาใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ปลอดภัยความเสี่ยงด้านเครดิต คือ Risk-free reference rates (RFRs) แต่ก็มีความท้าทายที่ว่าปกติ RFRs มีแค่ระยะสั้นแบบข้ามคืน แต่ LIBOR มีตั้งแตาข้ามคืนจนถึง 1 ปี ซึ่งนี้อาจจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ต้องมีการแก้ไขและเพิ่มเติม
การยุติครั้งนี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องหาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ที่จะมาทดแทน LIBOR และต้องมีสภาพคล่องที่สูงเท่าๆกับ LIBOR ด้วย อีกทั้งสัญญา LIBOR ที่คงค้างจะเปลี่ยนยังไงให้เรทเท่าเดิม นี้จึงเป็นความท้าทายของธนาคารทั่วโลกที่กำลังเผชิญในอีก 2 ปีนี้
โฆษณา