15 พ.ย. 2019 เวลา 09:00 • สุขภาพ
คุณรู้ไหม...“ภาวะฉุกเฉิน”คืออะไร?
“ภาวะฉุกเฉิน”ไม่ใช่สิ่งที่นิยามโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัว...
และ”ห้องฉุกเฉิน”ก็ไม่ใช่ห้องที่ใครก็ตามที่ต้องการได้รับการตรวจที่รวดเร็วไปใช้บริการด้วยเช่นกัน...
ปัจจุบันยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่า"คำว่าฉุกเฉินนั้น...แปลว่าอะไร” และด้วยความวิตกกังวล จึงคิดว่าอาการส่วนใหญ่คืออาการที่ต้องรีบได้รับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุดเสมอ
เมื่อไม่เข้าใจ ก็เลยเกิดความไม่พอใจต่อโรงพยาบาล และเมื่อไม่พอใจ บางคนก็อาจหยิบเอาโทรศัพท์ขึ้นมาแอบถ่ายแล้วโพสลงสื่อโซเชี่ยลต่างๆเลยทันที
นอกจากนี้ บางคนอาจพอเข้าใจว่าภาวะฉุกเฉินคืออะไร แต่ด้วยความที่ไม่อยากรอคิวตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยทั่วไปนานๆ ก็เลยมาเวลาดึกๆเสียเลย คนไข้น้อยลง แถมได้เข้าห้องฉุกเฉินอีกต่างหาก
ด้วยเหตุผลต่างๆนานา ทำให้ปัจจุบันห้องฉุกเฉินในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ฉุกเฉิน”ทางกาย”จริงๆเพียง 40% เท่านั้น ส่วนอีก 60% นั้นอาจเรียกว่าฉุกเฉิน”ทางใจ”เสียมากกว่า
สิ่งที่น่ากังวลก็คือ...
60% ที่ว่านี้กำลังสูบเวลา แรงงาน และกำลังกายที่หมอควรเอาไปใช้ดูแลผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆโดยที่ไม่รู้ตัว
ภาวะฉุกเฉิน คือภาวะเจ็บป่วยกระทันหันที่ถ้าไม่รีบให้การรักษา ผู้ป่วยสามารถที่จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือแม้รอดชีวิตได้ ก็อาจมีความทุพพลภาพที่อวัยวะสำคัญต่างๆติดตัวระยะยาวได้
เอาล่ะ หมอขอยกตัวอย่างภาวะฉุกเฉินที่สำคัญให้ดูเป็นตัวอย่างเสียหน่อยแล้วกัน...
1. อาการหมดสติ หรือความรู้สึกตัวน้อยลงอย่างชัดเจน
ผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้ หมอต้องรีบหาสาเหตุอย่างเร่งด่วนเลยล่ะครับ เพราะถ้าผู้ป่วยยิ่งเป็นมากขึ้น อาจมีภาวะหยุดหายใจและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่นๆตามมาได้ และหลายๆครั้งก็จำเป็นต้องรีบใส่ท่อช่วยหายใจป้องกันเอาไว้ก่อนด้วยเช่นกัน
2. อาการเจ็บแน่นหน้าอกเฉียบพลัน
โดยปกติเมื่อได้ยินอาการนี้ ภาวะแรกที่หมอต้องคิดก่อนเลยก็คือ”โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ภาวะนี้เปรียบเสมือนหัวใจกำลังจมน้ำ ถ้าไม่รีบฉุดมันขึ้นมา กล้ามเนื้อหัวใจก็จะตายไปมากขึ้นเรื่อยๆ
3. ปากเบี้ยวแขนขาอ่อนแรง
โรคนี้คือโรคเส้นเลือดในสมองครับ ซึ่งมีทั้ง”ตีบ”และ”แตก” และเช่นเดียวกัน ภาวะนี้เปรียบเสมือนสมองที่กำลังจมน้ำ ถ้าไม่รีบฉุดมันขึ้นมา เนื้อสมองก็จะตายไปมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ป่วยก็จะมีความพิการมากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาที่สูญเสียไป
4. ชักเกร็งกระตุก
ยิ่งปล่อยผู้ป่วยให้ชักนานมากขึ้นเท่าไร สมองก็ยิ่งเสียหายมากขึ้นเท่านั้น
5. ปวดท้องรุนแรง
โดยคำว่า”รุนแรง”ในที่นี้ หมายถึงอาการสุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อุดตัน ลำไส้ทะลุ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น อาการเหล่านี้ถ้าไม่รีบรักษา จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างการติดเชื้อทั่วทั้งช่องท้องตามมาได้
6. เจ็บท้องคลอด
อาการนี้ หมอต้องรีบประเมิณทารกและมารดาอย่างเร่งด่วน
7. บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น รถชน จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ สิ่งแปลกปลอดอุดกั้นทางเดินหายใจ สัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้น ซึ่งอุบัติเหตุแต่ละสถานการณ์ก็จะมีความฉุกเฉินที่แตกต่างกันไป
อาการเหล่านี้คือภาวะฉุกเฉินอย่างแท้จริง ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะ ณ เวลานั้น “เวลา”คือสิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอาการฉุกเฉินยิบย่อยอื่นๆอีกเช่นกัน แต่แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการเหล่านี้ ก็สามารถมาห้องฉุกเฉินได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าอยู่ในช่วงที่ห้องตรวจโรคทั่วไปปิดบริการแล้ว ซึ่งถ้าหมอประเมิณแล้วเห็นว่าไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องใจเย็น และรอรับการรักษาในลำดับท้ายๆเสมอ ยกเว้นเสียแต่ว่าเวลานั้นไม่มีคนไข้ฉุกเฉินอยู่เลย
สำหรับคนที่อยากได้ความรู้เพิ่มเติม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ทำหนังสืออ่านง่ายน่ารักๆออกมาด้วยเช่น ตามLinkนี้เลย➡️
นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการฉุกเฉินมาโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที ถ้าในห้องฉุกเฉินขณะนั้นมีผู้ป่วยคนอื่นๆที่มีความฉุกเฉินเช่นเดียวกัน หมอก็ต้องจัดอันดับความฉุกเฉิน เพื่อช่วยชีวิตผุ้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากที่สุดก่อนเสมอ
ดังนั้น...
เวลาที่คุณเสียสละระหว่างรอหมอตรวจนั้น มันคือเวลาที่มีค่ามากในห้องฉุกเฉิน
เวลานั้นอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยในตอนนั้นได้มากมายโดยที่คุณไม่รู้ตัว...
เวลานั้นอาจช่วยให้ผู้ป่วยคนอื่นได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านโดยไม่มีทุพพลภาพใดๆ...
และเวลานั้นอาจช่วยให้ครอบครัวหนึ่งไม่ต้องสูญเสียคนที่รักไป...
สุดท้ายนี้ ถ้าคุณอยากเข้าใจห้องฉุกเฉินมากขึ้น ใครที่ยังไม่ได้ดูละครของหมอเป้ง ก็อย่าลืมกลับไปดูกันด้วยนะครับ😆
▶️Healthstory - เรื่องสุขภาพ ง่ายนิดเดียว
อย่าลืมกดLike&Shareด้วยนะครับ^^
▶️ติดตามเรื่องราวสุขภาพดีๆจากปากหมออีกได้ที่
โฆษณา