15 พ.ย. 2019 เวลา 08:48 • การศึกษา
“ซื้อของมาแล้วพบความชำรุดบกพร่อง ผู้ซื้อสามารถทำอะไรได้บ้าง ?”
ในการซื้อขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ราคาถูกหรือราคาแพง สิ่งที่ผู้ผลิตหรือผู้ขายควรจะต้องใส่ใจในรายละเอียดมากที่สุดก็คือ คุณภาพของสินค้า
หากโฆษณาคุณสมบัติของสินค้าไว้อย่างไร เมื่อสินค้าไปถึงผู้บริโภคหรือผู้ซื้อก็ต้องมีคุณสมบัติและสามารถใช้งานได้ตามนั้น
pixabay
ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หากสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่โฆษณาไว้ ผู้ขายก็มีหน้าที่รับผิดชอบในสินค้าดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการรับเปลี่ยนสินค้าหรือคืนเงินก็ตาม
สำหรับผู้ซื้อก็มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบสินค้าในขณะซื้อขายหรือในขณะส่งมอบให้ละเอียดถี่ถ้วน
หากพบความชำรุดบกพร่องในขณะซื้อขาย หรือส่งมอบสินค้าแล้วแต่ไม่ทักท้วง หรือเซ็นยินยอมรับสินค้าไป ก็คงไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดชอบได้อีก
pixabay
ส่วนการที่ผู้ซื้อจะเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น
ผู้ซื้อจะต้องแสดงให้เห็นว่าเพราะความชำรุดบกพร่องดังกล่าวทำให้สินค้านั้นต้องเสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมที่จะใช้งานหรือใช้ประโยชน์ตามปกติ หรือไม่สามารถใช้งานตามสัญญาได้
และในกรณีที่ยังไม่ได้ชำระค่าสินค้า ผู้ซื้อสามารถยึดหน่วงค่าสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะได้รับการเยียวยาแก้ไข
pixabay
มีคดีที่น่าสนในอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้ผู้ซื้อหันมาตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง และไม่ปล่อยปละละเลยจนไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดชอบความเสียหายได้
มิหนำซ้ำยังถูกผู้ขายฟ้องเรียกค่าสินค้าอีกด้วย
คดีนี้ ผู้ขายเป็นโจทก์ฟ้องผู้ซื้อเป็นจำเลยว่า จำเลยซื้อปลาป่นจากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นน้ำหนักจำนวน 838,680 กิโลกรัม ราคา 8,535,194 บาท และจำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์แล้วจำนวน 8,064,823 บาท คงค้างชำระอีกจำนวน 470,371 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยซื้อปลาป่นจากโจทก์จำนวน 838,680 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,535,194 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ทั้งปลาป่นที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีสิ่งอื่นเจือปนลงไปด้วย ทำให้คุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ผสมอาหารเลี้ยงไก่
pixabay
จำเลยได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลย และโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยได้รับปลาป่นที่มีขนไก่ปลอมปนแล้วจำเลยยังสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์ต่อไปอีก 30 คันรถบรรทุกและได้ชำระราคาปลาป่นที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ในคราวหลังดังกล่าวให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว
pixabay
การที่จำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าปลาป่นที่ส่งมาโดยผิดไปจากข้อตกลงนั้นถือเป็นการผิดวิสัยของการค้าขาย
เพราะหากปลาป่นของโจทก์มีขนไก่ปลอมปนอยู่จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ไก่ของจำเลยหรือทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติแล้ว จำเลยย่อมจะโต้แย้งทักท้วงและไม่ยอมสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์อีก
แสดงว่าแม้ปลาป่นของโจทก์จะมีขนไก่ปลอมปนอยู่บ้างก็น่าจะเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
pixabay
การที่ปลาป่นมีขนไก่ปลอมปนอยู่จึงไม่ถึงกับถือได้ว่าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติในอันที่โจทก์ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อจำเลยผู้ซื้อ
จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้ และต้องรับผิดชำระราคาปลาป่นที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6976/2542)
สรุปคือ...
1) ผู้ซื้อตั้งใจจะไม่ชำระราคาสินค้า เพราะเห็นว่าสินค้าที่สั่งมีความชำรุดบกพร่อง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ
2) แต่ผู้ซื้อกลับไม่ได้แจ้งให้ผู้ขายได้รับทราบถึงความชำรุดบกพร่องดังกล่าว ซึ่งผิดวิสัยของคนทำการค้าขาย และยังสั่งซื้อสินค้าเพิ่มอีก
3) ผู้ซื้อไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นทำให้ผู้ซื้อเสื่อมประโยชน์อย่างไร
4) ผู้ซื้อจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงค่าสินค้าได้ จึง ต้องชำระค่าสินค้าที่ค้างชำระให้แก่ผู้ขาย
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา