15 พ.ย. 2019 เวลา 11:29 • ธุรกิจ
ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากำลังวิกฤติ
รู้หรือไม่ว่าธุรกิจที่เคยเฟื่องฟูอย่าง “สถาบันกวดวิชา” กำลังเข้าข่ายวิกฤติถึงขั้นคิดจะขาย จะปิดสาขา (ทำยังกะแบงค์) กันเลยทีเดียว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราจะเล่าให้ฟัง
ธุรกิจสถาบันกวดวิชาหรือที่เรียกง่ายๆว่า “ติวเตอร์” นั้น มีมูลค่าตลาดรวมกันประมาณ 10,000 ล้านบาท
ตอนสมัยฮอตฮิตนะ จำกันได้มั้ยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไปเข้าแถวรอคิวสมัครให้ลูกหลานกันข้ามคืนเลยทีเดียวนะ เหมือนที่สมัยนี้พวกเธอไปต่อแถวเข้าคิวซื้อไอโฟน กินอาหารร้านเปิดใหม่
เมื่อฮอตฮิตขนาดนั้น แน่นอนเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบย่อมมหาศาลตามไฟด้วย แถมเพิ่งจะมาเก็บภาษีกันเมื่อกรกฎาคม 2558 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้วเองนะ ที่ผ่านมาธุรกิจนี่น่าจะ “อู้ฟู่” มาก
3
โดยแบรนด์ใหญ่เนี่ยนะ เค้ามีรายได้กันปีละหลายร้อยล้านบาท โดย 3 อันดับแรกของโรงเรียนกวดวิชาที่มีรายได้สูงสุด (จดทะเบียนบริษัท) มีดังนี้
1. วี บาย เดอะ เบรน จำกัด รายได้ 496.7 ล้านบาท
2. ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด รายได้ 479.9 ล้านบาท
3. เอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด รายได้ 336.0 ล้านบาท
สถาบันกวดวิชาท็อปๆของไทย
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจที่เฟื่องฟูขนาดนี้...?
ปัจจุบันธุรกิจสถาบันกวดวิชาให้สัมภาษณ์ว่า “ยอดนักเรียนใหม่ลดลงต่อเนื่อง” โดยจำนวนนักเรียนลดลงไปกว่า 15-20%
แบรนด์ใหญ่ๆเริ่มคิดขายกิจการ รายกลาง “เลิกกิจการ” ไปพักนึงแล้ว รายย่อยออกไปเปิด “สถาบันเถื่อน” หนีภาษีกันจ้าละหวั่น
เหมือนทุกๆธุรกิจแหละ มันมักจะมีอะไรใหม่ๆเข้ามา “Disrupt” ผู้เล่นหน้าเดิมที่กำลัง “เอ็นจอย” เม็ดเงินที่ตุงกระเป๋า โดยเหตุปัจจัยหลักๆมีดังนี้
1. จำนวนประชากรลดลง
2. การพัฒนาของ Gig Economy และ การเถลิงราชของฟรีแลนซ์
3. Platform ให้คนสร้างและกระจายคอนเทนต์ของตัวเองได้สะดวกโยธิน
1. จำนวนประชากรลดลง
ชัดเจนมากว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต่างๆกำลังเผชิญหน้ากับอัตรานักเรียนใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเพราะจำนวนประชากรที่ลดลง โดยไทยมีอัตราการเกิดใหม่ของประชากรอยู่ที่ 1.5% เท่านั้นในปี 2018 น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ (1.3%) จากทั้งหมด 10 ประเทศในอาเซียน (อันดับ 1 ฟิลิปปินส์ 2.9% หรือเกือบ 2 เท่าของไทย)
Credit: UNFPA
แต่ที่เหมือนกันทุกประเทศในภูมิภาคนี้คือ “แนวโน้มลดลงหรือเท่าเดิม” กันทุกประเทศ
Credit: The ASEAN Post
เรื่องนี้มันเป็นประเด็นระดับโลก คงทำอะไรกับมันค่อนข้างยาก ในเมื่อพวกเราทุกคนดูจะยุ่งกับการสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะ สร้างตัวตนของเรา จนกระทั่งกว่าจะแต่งงาน กว่าจะพร้อมมีลูกก็ช้ากันแล้ว แถมพอมีลูกยาก ค่าใช้จ่ายก็มหาศาลอีก มิพักเอ่ยถึงค่าใช้จ่ายหลังลูกคลอดอีก...
ทีนี้ พอนักเรียนเริ่มลดลง การแข่งขันแย่งชิงที่นั่งในมหาวิทยาลัยก็เริ่มไม่เข้มข้นเหมือนอดีต (แถมยังมีการเพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชนอีก เดี๋ยวนี้จะเรียนหมอไม่ต้อง จุฬา ศิริราช รามา แล้วก็ได้นะ)
2. การพัฒนาของ Gig Economy และ การเถลิงราชของฟรีแลนซ์
Gig Economy
เคยได้ยินว่าคำว่า Gig Economy หรือ กิ๊ก อีโคโนมี กันบ้างมั้ย...?
มันคือการหารายได้จากการทำงานแบบไม่มีองค์กรหรือต้นสังกัดแบบตายตัว หรือการเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพแบบคนรุ่นก่อน (Gen X, Baby Boomer)
1
เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้คนทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ให้ใครก็ได้ โดยใช้ Internet หรือ Platform หางานอิสระเข้ามาช่วยอีกต่างหาก ก็เลยเกิดแรงงานพันธุ์ใหม่หรือที่เรียกกันว่า “ฟรีแลนซ์” ยกตัวอย่างกันง่ายๆเช่น คนขับรถ Grab Car หรือ application หางานสำหรับ Freelance ทั่วโลกเช่น fiverr
App หางานของ Freelance
Game Caster (คนที่เล่นเกมส์ให้ดูทาง Youtube) / YouTuber รับรีวิวสินค้าและบริการต่างๆ / พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และอีกสารพัดอาชีพอิสระ เหล่านี้ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ก็สามารถหารายได้จาก Platform เหล่านี้ได้
หรือแม้กระทั่งใครหลายๆคนที่กำลังเขียนลง Blockdit อยู่...ก็เช่นกัน
อ้าว...ท่านสุลต่าน แล้วมันเกี่ยวอะไรกับธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาละครัช...?
เกี่ยวสิเจ้า เคยไปร้านกาแฟแล้วหาที่นั่งไม่ได้มั้ยละ เพราะนั่งติวหนังสือกันทั้งร้านเลย เดี่ยวบ้าง กลุ่มบ้าง บางทีเราไปร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด เรายังหาที่นั่งไม่ได้เลย เพราะติวหนังสือกันสลอนร้านไก่ทอดเลยทีเดียว (พ่อแม่นั่งโต๊ะนึง ลูกกับติวเตอร์นั่งโต๊ะนึง)
Credit: Post Today
นั่นหมายถึงการมีนักเรียนเข้าไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาน้อยลงไปอีก เพราะเดี๋ยวนี้เค้าก็นิยม “ตัวตัวกันมั้ยน้อง” เพื่อให้ “บรรลุพระธรรม” วิชาที่เรียนกันอยู่
1
แล้วก็เริ่มมีติวเตอร์ที่เค้ารับติวกันเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ได้เลย ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ไม่ต้องฝ่ารถติดไปตอกบัตรแต่เช้า แต่รายได้ดี เป็นใครจะไม่เอา (แถมเผลอๆภาษีก็ไม่ต้องจ่ายเหมือนไปสังกัดโรงเรียนกวดวิชาน่ะสิ)
เพราะงั้น Gig Economy ส่งผลกระทบทั้ง 2 ด้าน ด้านแรกคือทำให้ Supply ของติวเตอร์เพิ่มขึ้น และด้านที่สองคือ ทำให้เด็กยุคใหม่ ไม่ต้องศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ก็หาเงินใช้ได้
3. Platform ให้คนสร้างและกระจายคอนเทนต์ของตัวเองได้สะดวกโยธิน
ใครๆก็ลุกขึ้นมามี “สถานีออกอากาศ” เรื่องราวที่ตัวเองสร้างขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ขอแค่มี “อินเตอร์เน็ต” และ “กล้องมือถือ” ที่ถ่ายวิดีโอได้
ลองนึกภาพเด็กนักเรียนด้วยกัน ติวกันเองผ่านทาง Live สดทาง Facebook หรือ อัดคลิปลง YouTube สิ
Credit: PPTV
พวกเราทุกคนก็ย่อมต้องมีใครซักคนในห้องที่มันเป็นตัว “ปล่อยของ” ใช่มั้ยล่ะ ทั้งการบ้าน ทั้งชีทเลคเชอร์ ทั้งเปิดห้องติวก่อนสอบ แล้วถ้าวันนี้ พวกเค้าเหล่านั้นก็สามารถสร้างช่องทางในการติวเพื่อนนักเรียนกันได้แบบ “สด” แล้วน่ะสิ
โดยไม่ต้องสร้างสาขาโรงเรียนแถวสยาม หรือตามใจกลางเมืองหรือหน้าโรงเรียน
ต้นทุนคนละเรื่อง...
...
คำถามที่น่าคิดต่อคือ ไม่ใช่แค่ว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะยังมีอนาคตหรือไม่ แต่แม้กระทั่ง สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เราเองก็ยังคิดไม่ออกหรอกนะ เพราะยังมองไม่เห็นว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน
แต่ถ้าใครมองเห็นก่อนละก็...คนนั้นน่าจะ “รวย” ในยุคที่กำลังจะมาถึงนี้นะ
#สุลต่านตกอับ
Source:
โฆษณา