15 พ.ย. 2019 เวลา 14:05 • กีฬา
พล็อตระดับเทพ : "อเบเบ บิกิล่า" นักวิ่งเท้าเปล่าที่พิชิตโอลิมปิกด้วยความ "เท่" เหลือเชื่อ
ภาพยนตร์ระดับแมสๆ ทั่วไปจะมีพล็อตเรื่องไหนเท่ไปกว่าการที่พระเอกของเรื่องมาจากจุดต่ำที่สุดและสู้ฝ่าฟันจนถึงขั้นทำให้โลกตะลึงในตอนจบ ... แต่มันจะเท่กว่าไหมถ้าเกิดมีคนจริงๆ ที่ทำสิ่งซึ่ง "เรียล" ยิ่งกว่าพระเอกที่อยู่ในหนัง
นี่คือการเขียนบทจากพระเจ้าที่เกิดขึ้นจริงกับกับ อเบเบ บิกิล่า นักวิ่งชาวเอธิโอเปีย ที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกปี 1960 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการไม่รู้เนื้อรู้ตัวและไหลไปตามกระแสแห่งโชคชะตาแบบงงๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรมันก็ดูเหมือนบังเอิญและเป็นใจให้เขาเกิดมาเพื่อยิ่งใหญ่เสมอ
ติดตามเรื่องราวที่ยิ่งกว่าพระเอกหนังเรื่องใดในโลกที่เกิดขึ้นกับเหรียญทองแห่งความทรงจำของชาวเอธิโอเปียได้ที่นี่ ...
ฉากเปิดตัวพระเอก
แดดจ้าส่องลงม้าท้าทายมนุษย์ที่เมืองเมนดิด้า ประเทศเอธิโอเปีย ละอองแสงฉายลงมาราวสปอตไลท์ใส่ตัวเด็กน้อยคนหนึ่งที่ชื่อว่า อเบเบ บิกิล่า เด็กชายที่คิดว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นคนเลี้ยงแกะตามอาชีพหลักของครบครัว
การทำงานหนักทุกเมื่อเชื่อวันแต่ไม่เห็นว่าชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างจะดีขึ้นทำให้ อเบเบ ในวัย 15 ปี เริ่มเพ่งพินิจถึงสิ่งที่ตัวเองทำว่ามันดีที่สุดแล้วหรือ การเลี้ยงแกะในทุ่งกว้างที่แสนสบายแต่กลับยังต้องอดมื้อกินมื้อแบบนี้?
ว่าแล้วเขาก็เริ่มได้ความคิดว่า มันจะต้องมีอาชีพที่มั่นคงกว่านี้และใช้สิ่งที่มีต่อยอดให้ได้ ... นั่นคือพละกำลังของเขาเอง
อเบเบ ต้องเลี้ยงแกะทั้งวัน เดินต้อนแกะจากเช้าจนค่ำ นั่นจึงทำให้ร่างกายเขาแข็งแกร่งโดยไม่รู้ตัว และเมื่ออายุได้ 16 ปี เขาเข้าไปทดสอบเพื่อสมัครเป็นทหารในสังกัดกองทัพ เอธิโอเปีย ซึ่งสุดท้ายร่างกายที่สะสมพลังมาเนิ่นนานก็ทำให้เขาได้สังกัดในหน่วยรักษาความปลอดภัยส่วนตัวของราชวงศ์เอธิโอเปียเลยทีเดียว
ความยินดีกับหน้าที่การงานและการเงินที่ดีขึ้นไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเขามากนัก แต่ก่อนเขาอาจจะเดินต้อนฝูงแกะ แต่หลังจากได้งานนี้เขาต้องเดินเท้าจากบ้านไปทำงานในเมือง แอดดิส อบาบา ที่เป็นเมืองหลวงของเอธิโอเปีย เป็นระยะเวลากว่า 20 กิโลเมตรในทุกๆ วัน จนกระทั่งสิ่งที่เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติไม่ได้ยากเย็นอะไรก็ไปกระทบสายตาใครคนหนึ่งเข้า
4
เนื่องด้วยการแข่งขันโอลิมปิกในยุคสัก 50-70 ปีก่อนนั้นเป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ ไม่ได้เปิดช่องให้นักกีฬาอาชีพเข้าไปล่ารางวัลอยู่แล้ว ดังนั้นชาติที่ไม่ได้มีอำนาจและทรัพยากรมนุษย์มากมายหลายๆ ประเทศ รวมถึง เอธิโอเปีย จึงต้องส่งกลุ่มคนที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไปแข่งขัน ซึ่งนั่นก็คือทหาร ดังนั้นเองราชวงศ์เอธิโอเปียจึงได้จ้าง ออนนี่ นิสคาเน่น อดีตนักวิ่งทีมชาติฟินแลนด์ มาทำงานภายใต้ตำแหน่ง "แมวมอง" คอยสอดส่องหาทหารที่มีศักยภาพพอที่จะไปแข่งขันในเวทีระดับโลกในฐานะตัวแทนของประเทศได้
หน้าที่ของ นิสคาเน่น คือการหานักกีฬาทีมกรีฑาไปแข่งในโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเขาได้เตรียมในส่วนของทีมวิ่งระยะไกลได้ครบทุกตำแหน่งแล้ว แต่ดวงของ อเบเบ มันเป็นดวงระดับพระเอกของเรื่อง ต่อให้ทุกอย่างได้ถูกตัดสินไว้ก่อนแล้วก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มแข่งไม่กี่วัน นักวิ่งที่โค้ช นิสคาเน่น วางตัวไว้ให้เป็นตัวชูโรงที่มีชื่อว่า วามี่ บิราตู กลับต้องถอนตัวฉุกเฉินจากอาการป่วยหนัก (ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคอะไร) จนถึงขั้นไม่สามารถไปแข่งได้ โค้ช นินคาเน่น จึงเรียกตัวสำรองอย่าง อเบเบ ในวินาทีสุดท้าย ... โดยที่เขาไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย
แตกต่าง...อย่างพระเอก
สถานการณ์ก่อนบินไป อิตาลี นั้นชุลมุนมาก อเบเบ โดนเรียกตัวแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ดังนั้นเขาจึงรีบเข้าไปที่ศูนย์ฝึกเพื่อเลือกรองเท้า ปรากฎว่าหนนี้โชคไม่เข้าข้าง
adidas คือแบรนด์ที่สนับสนุนทีมวิ่งของ เอธิโอเปีย เรื่องมันมีอยู่ว่า adidas มอบรองเท้ามาตามลิสต์ที่โค้ช นิสคาเน่น สั่งไว้ ดังนั้น อเบเบ จึงไม่มีรองเท้าไซส์ของตัวเองเลย
เขาลองเดินหาและเลือกเอารองเท้าของ บิราตู ที่ถอนตัวออกไปมาสวมดู ปรากฎว่าเมื่อได้ลองใส่วอร์มแล้่วมันเกิดไม่เข้าแก๊ปขึ้นมา เขาจึงบอกกับโค้ชว่า "ไม่เอารองเท้าได้ไหม?" นั่นทำให้ทุกคนงงไปตามๆ กัน และถามเขาว่าจะวิ่งเท้าเปล่ากับนักแข่งระดับหัวแถวของโลกจริงหรือ? คำตอบคือ "จริง" เขาไม่ได้ล้อเล่น อเบเบ ซ้อมกับเท้าเปล่ามาตลอด ดังนั้นงานนี้เขาเลือกจะทำในสิ่งที่ถนัดที่สุด
เมื่อถึง อิตาลี เขาดูเหมือนหนุ่มซื่อจากแดนไกลไม่มีผิด เขาไม่เคยวิ่งแข่งแบบจริงๆ จังๆ เลย แต่ครั้งแรกของเขากลับเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะซื่อแต่เขาก็มีสติ เมื่อเขาไม่มีประสบการณ์สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการเชื่อคนที่เคยผ่านการแข่งขันระดับสูงมาก่อน ซึ่งนั่นก็คือ โค้ชนิสคาเน่น ... อเบเบ ตั้งใจฟังทุกคำที่โค้ชสอนและตั้งใจว่าจะทำตามแผนที่โค้ชของเขาวางมาให้ทุกระเบียดนิ้ว
1
ก่อนลงแทร็กจริง โค้ชนิสคาเน่น รู้ว่านักกีฬาของเขาต้องการคำแนะนำสุดท้ายที่สั้นๆ และเข้าใจง่ายที่สุด เขาจึงสรุปใจความมาเพื่อส่งต่อให้ อเบเบ ว่า "เอางี้ นายดูไอ้เบอร์ 26 ไว้ดีๆ หายใจรดต้นคอมันไว้อย่าให้หมอนั่นฉีกนายเป็นอันขาด" ... หากมีเสียงบันทึกไว้เชื่อว่า อเบเบ คงจะตอบว่า "ครับ" เป็นแน่แท้ เขารับคำสั่งสุดท้ายมาแล้วตอนนี้ก็เหลือแค่ทำตามเรื่องและปิดจ็อบด้วยฝีเท้าของตัวเองเท่านั้น
1
หมายเลข 26 ที่โค้ช นิสคาเน่น พูดถึงคือนักกีฬาจากโมร็อคโคที่ชื่อว่า ราห์ดี้ เบน อับเดสซาเลม ซึ่งเป็นตัวเต็งในการแข่งชิงเหรียญทองมาราธอนครั้งนี้ ... หาก อเบเบ ตามติด "เบอร์ 26" ได้ตลอด เอธิโอเปีย ก็อาจจะมีปาฏิหาริย์ในการคว้าเหรียญทองนี้
1
กรรมการเรียกนักกีฬาทุกคนเข้าประจำตำแหน่งและส่งสัญญาณผ่านเสียงปืนดัง ปั้ง! อเบเบ นักวิ่งเท้าเปล่าคนเดียวในแทร็กออกสตาร์ทด้วยความเร็วตามที่ซ้อมไว้ จากนั้นเขากำลังมองหานักวิ่งที่ชื่อว่า ราห์ดี้ เบน อับเดสซาเลม ตามที่โค้ชบอก แต่ปัญหาคือหนุ่มซื่อจากเอธิโอเปียจำไม่ได้ว่าหน้าตาของคนที่ให้วิ่งตามเป็นอย่างไร หุ่นของเขาเป็นแบบไหน เพราะเขามัวแต่วุ่นวายกับเรื่องรองเท้าที่หลายคนพยายามจะยัดเยียดให้เขาใส่ลงแข่ง ซึ่งกว่าที่จะถกเถียงกันเสร็จว่าจะวิ่งเท้าเปล่า เขาก็ลืมหน้า ราห์ดี้ ไปเสียแล้ว
แต่ไม่เป็นไร อเบเบ ยังเหลือพื้นที่ความทรงจำให้กับบางข้อมูลที่โค้ชบอก แม้จะลืมหน้าตาแต่เขาจำเบอร์ได้แม่นยำ "หมายเลข 26" แค่เบอร์นี้ก็เพียงพอแล้ว ... เขาวิ่งไปก็มองหาไป แต่แปลกที่มองยังไงก็ไม่เห็นหมายเลข 26 สักที
เบอร์ 26 ล่องหน?
ผ่านมาแล้ว 10 กิโลเมตร, 20 กิโลเมตร และ 30 กิโลเมตร ก็ยังไม่เจอนักวิ่งคนที่ว่า ... เขาชักเริ่มสงสัยแล้วว่าไอ้หมายเลข 26 ที่โค้ชว่ามันล่องหนได้หรืออย่างไร?
ยิ่งหาไม่เจอเขาก็ยิ่งเร่งฝีเท้า แต่ที่ชวนแปลกใจคือทำไมนักวิ่งที่ได้ Bib (เบอร์วิ่ง) หมายเลข 185 ซึ่งไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่โค้ชนิสคาเน่นวางไว้กลับตีคู่กับเขามาตลอด ... ความจริง นักวิ่งหมายเลข 185 ก็คือ ราห์ดี้ เบน อับเดสซาเลม ที่ต้องใช้ Bib ในการแข่งกรีฑาประเภทลู่ แทน Bib สำหรับรายการมาราธอนก่อนเริ่มแข่ง เนื่องจากเขาหา Bib เบอร์ 26 ไม่เจอนั่นเอง
มันเป็นความบังเอิญราวกับภาพยนตร์อีกครั้ง เพราะการมองหาเบอร์ 26 ทำให้เขาแซงทุกคนจนกระทั่งไม่เหลือใครให้แซง และจังหวะสุดท้ายก็เหลือเขากับ ราห์ดี้ ที่บี้กันจนถึงเส้นชัย
แน่นอนว่าในเมื่อบทมันถูกเขียนมาถึงขนาดนี้แล้วผู้ชนะคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจาก อเบเบ พระเอกของเรื่อง เขาระเบิดสปีดครั้งสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย คว้าเหรียญทองให้กับ เอธิโอเปีย ได้สำเร็จจนได้ ... และเมื่อรับเหรียญทองเขาก็เพิ่งได้รู้ว่าเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นกับเขามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน เพราะเขากลายเป็นแอฟริกันผิวดำคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้
2
เรื่องราวของชายเท้าเปล่าผู้พิชิตนักวิ่งจากทั่วโลกกลายเป็นที่สนใจของสื่อขึ้นมา ทุกคนรุมสัมภาษณ์เขา ทว่าหนนี้ไม่มีเรื่องราวความบังเอิญหรือเรื่องแปลกๆ จากปากเขาแล้ว อเบเบ ให้สัมภาษณ์ด้วยเนื้อหาที่ทรงพลังสมเกียรติกับความยิ่งใหญ่ที่เขาได้สร้างไว้ในครั้งนี้
"ผมอยากให้ทั้งโลกรู้จักประเทศของผม เอธิโอเปีย คือดินแดนที่มุ่งมั่นและกล้าหาญเพื่อชัยชนะเสมอ" เขาสัมภาษณ์หลังคว้าเหรียญทอง
อยู่ที่ไหนก็คือตำนาน
หลังจากกลับประเทศในฐานะฮีโร่เหรียญทอง อเบเบ ก็เริ่มลงแข่งในรายการมาราธอนต่างๆ รวมถึงโอลิมปิกปี 1964 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งครั้งนั้นเขาสามารถคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติโลกด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 12 นาที 11 วินาที โดยคราวนี้ เขาใส่รองเท้าวิ่งของ PUMA ต่างจาก 4 ปีก่อน
1
เมื่อมีคนถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับการแข่งครั้งนี้ เขาบอกด้วยประโยคแชมเปี้ยนว่า "สบายๆ จะให้วิ่งอีก 10 กิโลเมตรก็ยังไหว"
นอกจากนี้ เจ้าตัวกลับมาแข่งอีกครั้งในโอลิมปิก 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิดี้ เม็กซิโก แต่หนนี้เขาต้องออกจาการแข่งขั้นในช่วงเข้ากิโลเมตรที่ 17 เนื่องจากมีปัญหาอาการบาดเจ็บไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตามเรื่องราวสุดเหวี่ยงของ อเบเบ ยังไม่จบลงเท่านั้น หลังประสบความสำเร็จถึงขีดสุด เขาก็กลับมาจุดที่โชคร้ายที่สุดเหมือนกัน เพราะเขาประสบปัญหาอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1969 จนตัวเองเป็นอัมพาต
1
แม้จะต้องเจอกับจุดเปลี่ยนชีวิตอันโหดร้าย แต่คนที่เกิดมาเพื่อเป็นพระเอกจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดของอเบเบในการให้สัมภาษณ์ว่า "ในทุกความสำเร็จ บางครั้งโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ผมเชื่อว่ามันเป็นประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ผมชนะโอลิมปิก รวมถึงเจออุบัติเหตุนี้ ซึ่งผมพร้อมน้อมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความยินดี เพราะมันเป็นความจริงที่เกิดกับชีวิต ผมก็แค่ใช้ชีวิตกับมันให้มีความสุขเท่านั้นเอง"
1
เขาเปลี่ยนตัวเองด้วยการฝึกหัดยิงธนูและเทเบิลเทนนิส จนถึงขั้นไปแข่งกีฬาผู้พิการและผู้นั่งวีลแชร์นานาชาติที่ประเทศอังกฤษในปี 1970 รวมถึงการแข่งรถเลื่อนหิมะ ซึ่งเจ้าตัวสามารถคว้าแชมป์ในรายการสำหรับผู้พิการที่ประเทศนอร์เวย์ในปี 1971 อีกด้วย
1
ไม่ว่าชายผู้นี้เดินทางไปที่แห่งหนใด ก็เหมือนราวกับพระเจ้าเขียนบทให้เขาเป็นผู้ชนะไปเสียทุกที อย่างไรก็ตามนี่คือชีวิตจริงไม่ใช่ในหนัง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนสำหรับความยิ่งใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นของเด็กเลี้ยงแกะคนนี้
หลังจากประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนักกีฬาและลูกผู้ชายคนหนึ่ง อเบเบ ก็เสียชีวิตในปี 1973 ด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนั้น
1
นี่ก็ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี แต่ทุกครั้งที่โอลิมปิกวนมาแข่งขันในแต่ละครั้ง แต่เรื่องราวของ อเบเบ มักจะถูกนำมาเล่าในเชิงสารคดีเพื่อเตือนความจำให้กับชนรุ่นหลังเสมอ
1
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
โฆษณา