15 พ.ย. 2019 เวลา 15:21 • การเกษตร
บ่มผลไม้ให้สุกอย่างไรได้บ้าง? (EP.2)
วันนี้มารู้จักกับเอทิลีนกันให้มากขึ้น
เอทิลีน (ethylene) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ใครไม่ทราบว่ากลิ่นเป็นอย่างไรก็ลองดมกลิ่นผลไม้ในขณะที่สุกดู
เอทิลีนมีสูตรโครงสร้างอย่างง่ายคือ C2H4 อธิบายอย่างง่ายคือ 1 โมเลกุลของเอทิลีน ประกอบด้วยคาร์บอน (C) 2 อะตอม และ ไฮโดรเจน (H) 4 อะตอม คาร์บอน 2 ตัวจับกันด้วยพันธะคู่ (C=C) คาร์บอนแต่ละตัวก็มีแขน 2 แขน แขนแต่ละข้างจับกับไฮโดรเจน 1 ตัว
สูตรโครงสร้างเอทิลีน Cr.wikipedia
อาจจะเพราะตัวเอทิลีนมีสูตรโครงสร้างอย่างง่ายตามที่เห็น น้ำหนักโมเลกุลของเอทิลีนจึงน้อยมาก คือประมาณ 28 มาจาก คาร์บอนมีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 12 ในขณะที่ไฮโดรเจนมีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 1
ที่อธิบายสูตรโครงสร้างของเอทิลีนเอาไว้ เพื่อที่จะได้เล่าให้ฟังในตอนต่อไปว่าเราใช้เอทิลีนบ่มผลไม้ให้สุกเร็วขึ้นได้ เราก็ทำให้ผลไม้สุกช้าลงได้เหมือนกัน
เนื้อเยื่อพืชที่มีชีวิตสามารถสังเคราะห์หรือผลิตเอทิลีนได้ทุกส่วน เอทิลีนมีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิห้อง การเคลื่อนที่ภายในพืชก็จะเป็นลักษณะของการแพร่ (diffusion) ซึมผ่านเข้าออกเหมือนแก๊สอื่น ๆ ทั่วไป ดังนั้น การใช้เอทิลีนในการบ่มผลไม้จึงเป็นการรมแก๊สในห้องปิดหรือภาชนะปิด
การบ่มผลไม้เพื่อการส่งออกด้วยเอทิลีน จะเริ่มตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลไม้ไคลแมคเทอริกมาใน “ระยะแก่ทางการค้า” (commercial maturity) ผลแก่สีเขียวแต่ยังไม่สุก
ผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาในระยะนี้อาจจะบ่มก่อนส่งไปยังประเทศปลายทาง เพื่อให้สุกพอดีที่ปลายทาง หรือส่งไปให้ถึงประเทศปลายทางก่อนที่จะนำไปบ่ม แล้วแต่ความใกล้ไกลของตลาด การขนส่งมักทำโดยทางเรือเดินสมุทรซึ่งมีค่าระวางที่ต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ ซึ่งการขนส่งทางเรือจะใช้เวลานานกว่า หากบ่มไปก่อน ผลไม้ก็จะสุกเกินไปเมื่อถึงปลายทาง
การบ่มผลไม้ด้วยแก๊สเอทิลีนมักทำในห้องบ่มที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะ เพื่อรองรับกล่องบรรจุผลิตผลที่วางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ และชั้นล่างสุดเป็นไม้เพลเล็ท (pellet) เพื่อให้รถยกสามารถยกเอาไปทั้งชั้นไปใส่ในตู้คอนเทนเนอร์และขนส่งต่อไป
กล่องบรรจุผลไม้ก็จะมีการออกแบบ เจาะรู เพื่อที่ให้อุณหภูมิของห้องเก็บรักษาซึ่งมักจะเป็นอุณหภูมิต่ำที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้ การเจาะรูนี้ยังช่วยให้การไหลเวียนของอากาศในห้องบ่ม รวมถึงแก๊สเอทิลีนกระจายให้ผลผลิตได้รับอย่างทั่วถึง จึงเป็นเรื่องของการออกแบบกล่องบรรจุที่ผ่านการศึกษาและวิจัยมาให้เหมาะสมใช้กับผลไม้แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ ซึ่งรวมถึงอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน ที่ผ่านการศึกษาวิจัยด้วยเช่นกัน
ส่วนเอทิลีนที่จะนำมาใช้ในห้องบ่มสุกมาจากไหน แต่ดั้งเดิมจะมีระบบการต่อท่อจากถังของแก๊สแต่ละชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และเอทิลีน ที่มีวาล์วควบคุมอัตราการไหลของแก๊สเพื่อให้ได้ความเข้มข้นตามต้องการ ซึ่งได้จากการคำนวณปริมาณแก๊สต่อปริมาตรห้องบ่ม
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ต้องระมัดระวังเรื่องของการระเบิด เพราะเอทิลีนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ไม่ธรรมดาคือสามารถติดไฟได้ (flammable) ห้องบ่มผลไม้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และถังแก๊สเอทิลีนที่ใช้มีความเข้มข้นสูงถึง 99.99999% จึงค่อนข้างเป็นอันตรายหากเกิดการระเบิดขึ้น
จึงมีนักวิจัยคิดค้นเครื่องผลิตเอทิลีน (ethylene generator) ขึ้นมาใช้เพื่อความปลอดภัยในการบ่มผลไม้ยิ่งขึ้น เครื่องนี้ใช้หลักการทางเคมีคือการต้มเอธานอลให้เดือดแล้วผสมกับกรดซัลฟูริกเข้มข้นลงไปแล้วกลั่นระเหยกลายเป็นแก๊สเอทิลีนออกมา
เครื่อง ethylene generator Cr.Easy-Ripe Ethylene Generator
ดังนั้น หากจะใช้วิธีนี้ จะต้องซื้อเครื่องผลิตเอทิลีนนี้พร้อมกับเอธานอลจากบริษัทที่จำหน่ายเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีข้อแนะนำอยู่ในคู่มือการใช้งาน โดยวิธีใช้ก็ไม่ได้ยุ่งยากมาก เพียงแค่นำเครื่องไปวางไว้ที่กลางห้องบ่ม แล้วเทสารละลายเอธานอลลงในเครื่อง แล้วปล่อยให้เอธานอลทำปฏิกิริยาปล่อยให้เป็นแก๊สเอทิลีนออกมา
ความเข้มข้นของเอทิลีนที่แนะนำให้ใช้ในการบ่มประมาณ 10 ไมโครลิตรต่อลิตร หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือปริมาตรของแก๊สเอทิลีน 10 ส่วน ต่อปริมาตรของห้องบ่ม 1 ล้านส่วน เวลาในการบ่มประมาณ 24 ชั่วโมงหรือ 1 คืน ก็เพียงพอสำหรับการบ่มผลไม้ไคลแมคเทอริคทั่ว ๆ ไปให้สุกได้
จะเห็นว่าความเข้มข้นที่ใช้น้อยมาก ๆ แต่นี่ก็เป็นคุณสมบัติของฮอร์โมนพืชที่ปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่มีผลออกฤทธิ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาพืชได้
ไม่เพียงแต่ผลไม้ไคลแมคเทอริกที่ต้องอาศัยเอทิลีนเร่งสุก ผลไม้นันไคลแมคเทอริก อย่างพืชตระกูลส้มหลายชนิด เช่น ส้ม เลมอน (มะนาวฝรั่ง) องุ่น ก็มีการใช้เอทิลีนด้วยเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ของการใช้ไม่ใช่เพื่อเร่งให้สุกเร็วขึ้น
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ผลไม้นันไคลแมคเทอริกจะเก็บเกี่ยวตอนที่แก่จัด คือมีการสะสมน้ำตาล กรดอินทรีย์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่แล้ว เพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในผลอีกต่อไปหลังเก็บเกี่ยว
แต่เอทิลีนจะช่วยทำให้เปลือกผลของพืชตระกูลส้มเหล่านี้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ที่ศัพท์เฉพาะเรียกว่า degreening ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคได้ดีกว่าผลที่เป็นสีเขียว เป็นการปรับปรุงคุณลักษณะภายนอกของผลิตผลหรือเพิ่มมูลค่าผลผลิตอีกทางหนึ่ง
ในขณะที่องุ่นพันธุ์ที่ผลเป็นสีแดง เอทิลีนก็จะช่วยเร่งการเปลี่ยนสีผลและทำให้สีสม่ำเสมอทั้งพวง
ผลไม้ที่ผ่านการบ่มให้สุกด้วยเอทิลีนโดยตรงวิธีนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลไม้อินทรีย์ จากหลายประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ยังมีวิธีการบ่มผลไม้ให้สุกอื่นอีก และจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป
🙏👩🌾
เว็บไซต์อ้างอิง
โฆษณา