25 พ.ย. 2019 เวลา 00:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โครงการ เดลต้าเวิร์ค (โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของประเทศเนเธอร์แลนด์) ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ตอนที่ 1
The Delta Works (The Netherlands Flood Defense Project) – The Seven Wonders of the Modern World Part 1
คำว่า Netherlands ถ้าสะกดตามภาษาดัชคือ Nederland ถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า Low Land หรือ พื้นที่ต่ำ ซึ่งอธิบายสภาพภูมิประเทศเค้าได้เป็นอย่างดี
ในรูปแรกจะเห็นว่ากรณีที่ไม่มีระบบป้องกันน้ำ ประเทศนี้ แทบจะเหลือพื้นที่เพียงไม่เท่าไรเท่านั้นเอง
1
พื้นที่ถึงประมาณ 26 % ของประเทศนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และกรณีที่มีน้ำหนุนสูง พื้นที่ถึงประมาณ 60% มีความเสี่ยงที่จะโดนน้ำท่วม และด้วยสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก โลกร้อนขึ้นและ น้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะมีพื้นที่จมน้ำของประเทศนี้สูงขึ้นจนน่ากลัว
ในรูปที่สองจะเห็นพื้นที่เสี่ยงของเนเธอร์แลนด์ สีฟ้าเข้ม คือ พื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งน้ำท่วมแน่นอนถ้าไม่มีระบบป้องกัน มีจำนวน 26% สีฟ้าอ่อน คือที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแต่ไม่มาก จึงยังเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม มี 29% แค่สองสีนี้รวมกันแล้ว 55% เกินครึ่งประเทศ ดังนั้นจึงเป็นพื้นที่ต้องเค้าต้องป้องกัน ด้วยการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม (Flood Defense) แบบครบวงจร
พื้นที่สีเหลืองและสีม่วง คือพื้นที่ ที่อยู่นอกระบบ Flood Defense มีประมาณ 4% ซึ่งมีทั้งพื้นที่สูง และพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ซึ่งมีรวมๆ กันประมาณสักหนึ่งแสนคน ต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา
ความเสี่ยงน้ำท่วมของประเทศนี้มีอยู่สามสาเหตุหลักๆ คือ จาก Rhine River, Meuse River (ในทีนี้ขอเรียกเป็น Maas River ที่เป็นภาษาดัช) และ จากพายุหนุนจากทะเลเหนือ (Storm Surge from the North Sea) ซึ่งมีทั้งจากน้ำภายในที่เป็นน้ำฝน หรือ น้ำภายนอกที่ทะลักมาจากทะเล โดยพื้นที่เสี่ยงมากส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ
3
ความน่าสนใจอยู่ที่ ผลผลิตของเนเธอร์แลนด์ถึง 2 ใน 3 โดยฉพาะทางการเกษตร (อย่างที่รู้ประเทศนี้เก่งเรื่องการปลูกดอกไม้) นั้นอยู่ในพื้นที่ ที่เสี่ยงน้ำท่วมถึง 55 % ซึ่งถ้าท่วมขึ้นมาจากน้ำหนุนมาจากทะเลเหนือ นั้นจะเป็นน้ำทะเล ไม่ใช่เพียงแค่สร้างความเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สิน แต่มันความเสียหายให้กลับพื้นที่เพาะปลูกอีกด้วย เพราะดินจะเค็ม ทำให้เพาะปลูกไม่ได้
3
คนดัชทุกคน จะถูกสอนให้อยู่กับน้ำมาตั้งแต่เด็ก เพราะเค้าทราบว่าจะพึ่งระบบป้องกันน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถึงจะมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เด็กดัชที่เกิดและเติบโตมากับสังคมและโรงเรียนระบบดัชนั้นจะต้องผ่านคอร์สว่ายน้ำทุกคน เรียกว่า ABC Course (ภาษาดัช อ่านว่า อา เบ เซ คัสซึ) ซึ่งจะสอนตั้งแต่พื้นฐาน การลอยตัว การลืมตาในน้ำ การกระโดด การว่ายน้ำโดยที่มียังสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ รวมไปถึงรองเท้า
4
เพราะเค้ารู้ดีว่า ถ้าน้ำมันมาเมื่อไร ก็ไม่ต้องคิดหนีหรือแจ้งเตือน เพราะจะมาเร็วมาก โดยที่ไม่ทันได้แจ้งเตือน หรืออพยพคนได้ทัน เช่น เมืองร็อตเทอร์ดัม บอกโอกาสอพยพทันมีแค่ 15% (เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 1953 คืนเดียวน้ำจากทะเลเหนือทะลักเข้ามาท่วมหลายจังหวัดทางใต้ คนตายไปถึงมากกว่าสองพันคน)
บ้านโบราณสมัยสักยุค ศตวรรษที่ 15 และ 16 นั้น ปัจจุบันยังมีอยู่ค่อนข้างมาก บ้านบางหลังนั้นอายุมากกว่า 300 ปี แต่ผ่านการบูรณะมาเรื่อยๆ เข้าไปในบ้านอาจจะเห็นคานไม้ขนาดยักษ์ๆ มี Taper ไม้ด้วย ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเลย บ้านโบราณพวกนี้มักจะสร้างในพื้นที่ต่ำ เนื่องจากคนยังไม่มีความรู้มาก เช่น เขต Historic Centrum ของเมือง Dordrecht ทางจังหวัด ฮอลแลนด์ใต้ ที่เป็นเมืองแรกที่ประกาศตั้งประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อหลายร้อยปีก่อน จะยังเห็นอาคารโบราณอายุหลายร้อยปีอยู่จำนวนมากที่ยังสภาพดีอยู่และมีคนอยู่อาศัยปกติ เมืองนี้ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญกับชีวิตผมพอสมควร เพราะอาศัยอยู่ที่นี่ถึง 3 ปี ในบ้านโบราณอายุ 300 กว่าปี และลูกชายคนโตเกิดและเติบโตที่เมืองนี้
1
บ้านที่ก่อสร้างสมัยใหม่คนจะเริ่มมีความรู้มากขึ้นรัฐจะมี App GPS ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าใครอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำเท่าไร บ้านสมัยใหม่จึงมักจะถมสูงขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงลง
อย่างไรก็ดีพอมันผ่านไปหลายชั่วอายุคน ความรู้และความกลัวของคนมันก็ค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ ได้ยินแต่คำบอกเล่าของคนรุ่นปู่รุ่นย่า คนรุ่นใหม่ หลายๆ คนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ยังกลับไปอยู่ในพื้นที่นอกเขตป้องกันภัยซึ่งเสี่ยงน้ำท่วมกันอีก อาจจะด้วยวิวทิวทัศน์สวย ซึ่งแน่นอนมันเสี่ยงน้ำท่วมมันจึงอยู่ใกล้แม่น้ำ ความดึงดูดและความขลังของอาคารโบราณ หรือ อาจจะด้วยราคาที่อาจจะถูกกว่าบริเวณอื่นๆ
1
เนเธอร์แลนด์นั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่จากน้ำทะเลหนุนเนื่องจากพายุ ที่เรียกกันว่า Storm Surge ครั้งใหญ่ๆ อยู่ 4 ครั้ง ในปี 1675, 1682, 1916 และ 1953 และเกิดน้ำท่วมใหญ่จากน้ำในแม่น้ำทะลักเข้าท่วมอีก 4 ครั้งในปี 1820, 1876, 1871 และ 1926 ดังแสดงในรูป
โดยครั้งที่สำคัญอยู่ที่การเกิด Storm Surge เมื่อปี 1916 ทางจังหวัด ฮอลแลนด์เหนือ ที่เป็นที่ตั้งของเมืองอัมสเตอร์ดัมที่คนไทยชอบไปเที่ยวกัน บริเวณนั้นในสมัยก่อนเป็นบริเวณเข้าออกของเรือสินค้า ในยุคทองของชาวดัช ที่ยังไปล่าอาณานิคมบริเวณแถวบ้านเรา ปัจจุบัน จะเป็นพื้นที่ทำประมงกันเยอะ
ในครั้งนั้นเค้าก็ตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว จึงเกิดโครงการชื่อ Zuiderzee Works ที่มีการก่อสร้างที่สำคัญคือสร้างเขื่อนกันน้ำ Afsluitdijk (อ่านว่า อาฟสเราไดคึ) ขนาดยักษ์ทางภาคเหนือ จากเมือง Den Oever ใช้เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างสองเมืองด้วย
เนื่องจากปัญหาเงินทุนรวมกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้โครงการ Zuiderzee Works ก็ล่าช้ามาก ประจวบกับการเกิด Storm Surge อีกครั้งในปี 1953 ซึ่งเกิดในคืนวันเสาร์ที่ 31 ม.ค. 1953 ถึง 1 ก.พ. 1953 เนื่องจากเกิดเวลากลางคืน ทำให้ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชน และยังเป็นการเกิดในช่วงเวลา Spring Tide ที่น้ำขึ้นสูง และมี Storm Surge เข้ามาร่วมด้วย ทำให้บางพื้นที่ของประเทศ มีระดับน้ำสูงถึงกว่า 5.6 ม จากระดับน้ำทะเล ในคืนเดียว โดยน้ำท่วมครั้งนี้กินพื้นที่ปีถึง 4 ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อังกฤษ และ สก๊อตแลนด์ มีคนตายไปถึง 2500 คน และ ประมาณ 1900 คน อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์
ภายหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวดัชตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะรอช้าอีกไม่ได้ จึงมีการศึกษาระบบ Flood Defense ครั้งใหญ่ ทั้งที่มีอยู่เดิมที่ต้องปรับปรุงและที่จะต้องทำการสร้างขึ้นมาใหม่ ทั้งในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ โดยในอังกฤษมีโครงการสร้าง Storm Surge Barriers บริเวณ River Thames และในประเทศเนเธอร์แลนด์เกิดโครงการที่เรียกว่า The Delta Works ขึ้นทางใต้ขึ้นมาจากโครงการ Zuiderzee Works ทางเหนือเพิ่มเติม
1
ในตอนต่อไป ผมจะพาไปรู้จักโครงการ Delta Works ว่ามันมีอะไรบ้าง หลัก คือมีอยู่ 13 โครงการตามรูป เดี๋ยวเราจะเข้าไปรู้จักกันทีละโครงการ ว่าทำไม American Society of Civil Engineer (ASCE) ถึงได้ยกย่องโครงการนี้ว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ตอนหน้าจะพาไปชม
และเค้าก็ไม่ได้พึงแต่ระบบ Flood Defense หลักๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังออกแบบเมืองรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Resilient City หรือ Climate Proof City อีกด้วย ที่คอนเซปคือการอยู่กับน้ำให้ได้ เพราะเค้ารู้ว่าแรงอะไรคนเราสู้ได้หมด จะแรงแผ่นดินไหว แรงลม แต่ถ้าเจอน้ำเมื่อไร ใครสู้น้ำก็ตายอย่างเดียว แล้วเค้าจะอยู่กับน้ำกันอย่างไร เรามาค่อยๆ ศึกษากัน
Ref.
[1] Robert Slomp (2012), “Flood Risk and Water Management in the Netherlands”
1
[6] Today in Dutch History: The Tragic ‘Watersnoodramp’ – the flooding of 1953, https://dutchreview.com/culture/history/today-in-dutch-history-the-tragic-watersnoodramp-the-flooding-of-1953/
[7] M.Kimmelman, The Dutch Have Solutions to Rising Seas. The World Is Watching, The New York Time
[9] Delta Works, การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาค 1, https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=malateetravelstory&month=11-2015&date=15&group=4&gblog=2
โฆษณา