25 พ.ย. 2019 เวลา 12:53 • ความคิดเห็น
รู้ไหมว่าช่วงต้นปีหน้าอ่ะ
จะมีเด็กจบ ป.ตรี ตกงานประมาณ 500,000 คน !!!
คุณคิดว่าเกิดอะไรขึ้น ?
ก. เศรษฐกิจชะลอตัว ข. ระบบการศึกษาห่วย
ค. ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ง. ทัศนะคติการเลือกงาน
จ. ถูกทุกข้อ
1
เคทดูจากดัชนีการว่างงานในไทยแล้ว แนวโน้มยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆนะคะ อยากจะบอกว่า เข้าขั้นวิกฤตแล้วค่ะ
(หรือใครจะมองว่าไม่วิกฤตก็ได้นะคะแล้วแต่มุมมอง)
จริงๆเรื่องปัญหาบัณฑิตตกงานนี้ ไม่ใช่ปัญหาใหม่อะไรนะคะ เพราะ เคทเองก็เคยมีพูดถึงมาตลอด และ
ครั้งนี้เห็นควรว่า ...... " ต้องพูดอีกครั้ง " .......
แนวโน้มการว่างงานที่รุนแรงนี้ อย่างที่เกริ่นไป ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่หากเกิดจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ดิสรัปธุรกิจทั้งภาคการบริการและการผลิตหลายๆอย่างล้มหายตายจากไป
และ....อีกปัจจัยสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือปัญหาการศึกษาและทัศนคติของคนรุ่นใหม่เองด้วย !!
ทีนี้มาพูดถึงแนวทางสิ่งที่ควรแก้ไขเฉพาะหน้ากันค่ะ
ที่เคทมองนะ อันดับแรกเลยเนี่ย คือ ทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานขึ้น (และให้ไว้ที่สุด)
เพราะ ถ้าจำนวนคนว่างงานเยอะ กำลังการจับจ่ายก็จะลดลงตาม ต้องเข้าใจว่า เดิมน้องๆบัณฑิตก่อนที่จะจบมา เขามีรายได้จากที่บ้าน ทำให้มีกำลังการจับจ่าย ทีนี้พอเขาเรียนจบแล้วเนี่ย ส่วนใหญ่ที่บ้านจะลดรายจ่ายตรงนั้นไปเยอะ กำลังการจับจ่ายก็ลดลง เป็นเอฟเฟคโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ แล้วที่ไม่ควรมองข้ามคือ บางคนก็มีหนี้จากการศึกษาพ่วงมาด้วย !!
เห็นไหมคะว่าเริ่มอีรุงตุงนังละ
ดังนั้นต้องทำให้เกิดจ้างงานให้เร็วที่สุด
ทีนี้ปัญหาคือ เศรษฐกิจอย่างนี้ใครจะจ้างเพิ่มหล่ะ
ดังนั้นปัญหานี้ รัฐต้องลงมือทำเองค่ะ !!
ในเมื่อรัฐมีโครงการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว การจ้างงานย่อมดีกว่าเอาเงินแจกฟรีอัดฉีดในระบบแน่นอนจริงไหม
ทีนี้ทำอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด
จากที่เคทเคยศึกษาเศรษฐกิจช่วงหลังต้มยำกุ้งมาบ้าง
มีโครงการนึงที่ดีมาก ซึ่งโครงการนี้อยู่ในแผน
"มิยาซาว่า" (มิยาซาว่า คือโครงการเงินกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกว่า “มิยาซาวาแพลน” ในสมัยรัฐบาลชวน 2 จำนวน 53,000 ล้านบาท หรือประมาณ1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ เป้าหมายเพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างงาน และกระจายรายได้สู่ชุมชน)
1
ตอนนั้นมีการจ้างงานคนตกงาน โดยให้ไปทำการเก็บข้อมูลชาวบ้านตามชุนชนชนบท การเก็บข้อมูลนี้ก็จะเน้นไปที่เรื่องของ วิชาชีพและ ภูมิปัญญาต่างๆ
ซึ่งถ้าเอามาปรับใช้จะเกิดประโยชน์มหาศาลมาก อย่างโครงการ otop ในยุครุ่งเรืองของทักกี้ ก็น่าจะได้รับอิทธิพลแนวคิดนี้มาไม่มากก็น้อยค่ะ
หรือ อย่างไม่นานมานี้ที่จีนก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้เช่นกันนะคะ โดยว่าจ้างบัณฑิตจบใหม่ไปทำวิจัยเก็บข้อมูลคนจนตามชนบท ซึ่งนอกจากจะได้การจ้างงานเกิดเงินหมุนในระบบแล้ว น้องๆบัณฑิตจบใหม่ก็จะได้ประสบการณ์การทำงาน ได้เห็นสาเหตุปัญหาของความยากจน และรัฐก็ได้ Big Data ในการแก้ปัญหาคนจนระยะยาว เห็นไหมคะว่ามันคุ้มค่าการลงทุนมาก
โอเค ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาของบริบทช่วงนั้นๆ ปัจจุบันปัญหาของเรามันมีมิติที่ลึกกว่านั้นค่ะ การจะแก้ปัญหานี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องและทำแบบบูรณาการเลยค่ะ
และล่าสุดเคทไปค้นดูนโยบายของรัฐ ก็มีการนำแนวคิดนี้กลับมาประยุกต์ใช้ใหม่นะคะ ในชื่อโครงการว่า..."โครงการยุวชนสร้างชาติ"
จากที่ดูแผนคร่าวๆก็โอเคนะคะ มีทั้งเรื่องของการจ้างงาน พร้อมกับพัฒนาชุมชมและมีทุนสำหรับบัณฑิตที่ต้องการทำธุรกิจ(start-up) แต่...เคทติดอยู่นิดนึงตรงเรื่องของการจัดสรรงบประมาณตรงนี้น้อยเกินไป ประมาณ 8 พันกว่าล้าน ซึ่งเคทมองว่ามันน้อยไปไม่เพียงพอค่ะ อาจทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่นัก
คิดแบบง่ายๆเงิน 8พันล้าน ถ้าจ้างงานเงินเดือนละ หมื่นบาท จะจ้างได้แค่ปีละ 6 หมื่นกว่าคนเองค่ะ แต่ถ้าจ้างอัตราหมื่นสอง-หมื่นห้า จะจ้างได้เพียงแค่ 5 หมื่นคน 😓 เงินสำหรับ start-up จะน้อยเกินไป จริงๆรัฐน่าจะอุดหนุนงบตรงนี้เพิ่มอีกนะคะ เพราะเป็นแนวทางที่ดี
(ทีอย่างอื่นรัฐก็ทุ่มงบเกิน เห้อ)
เพื่อการแก้ไขอย่างบูรณาการและยั่งยืน สิ่งต่อมาที่รัฐต้องทำในลำดับถัดไป คือ.......
การปฏิรูปการศึกษา
ตรงนี้เคทเคยย้ำมาเสมอนะคะว่า เรามีปัญหาจริงๆและควรมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ด้วย อย่างที่เห็นการศึกษาในปัจจุบันก็ไม่เชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน ถึงผลิตบุคลากรออกมาได้แต่ก็ไม่มีงานรองรับ แต่งานที่ตลาดต้องการกับไม่มีบุคลากรเพียงพอ !!
รากฐานของระบบการศึกษาเรามันมีปัญหามากกว่าระบบเศรษฐกิจมากๆเลย...เพราะเราไม่สามารถผลิตทรัพยากรที่มีคุณภาพได้เพียงพอ และขาดการแนะแนวที่ดีพอ
ต้องยอมรับว่า....ค่านิยมในช่วงยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้หล่อหลอมให้นักศึกษาคิดต่าง แต่...เป็นการคิดต่างที่ขาดการคิดขาดการศึกษาผลกระทบรอบด้าน
ปัญหาตรงนี้ส่วนนึงก็มาจากธุรกิจการศึกษาด้วย
การปลูกฝังแนะแนวแบบผิดๆมันก็กลายเป็นกับดักที่หลอกให้เด็กๆจ่ายเงินลงทุนไปกับการศึกษาที่ไม่มีงานรองรับ...
อย่างเรื่อง การแนะแนว ก็เช่นกัน ยังไม่ต้องไปพูดถึงศาสตร์วิชาเฉพาะ อาจารย์ที่จะสอนแนะแนวหรือคนที่จะสามารถทำตรงนี้ได้ จริงๆต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมากๆ และต้องทันต่อโลก
ต้องมองเทรนด์ออก การแนะแนวแบบเดิมๆมันผิดหมด แล้วคุณหันไปดูอาจารย์แนะแนวคุณสิ....คาบแนะแนวคุณเรียนรู้อะไรบ้าง ?
1
ตอนนี้ระบบการศึกษามัน เน้นธุรกิจ มันคือธุรกิจการศึกษาค่ะ ออกแบบวิชาชีพ แบบเรียนอาชีพที่ เกินความจำเป็น หรือไม่จำเป็น หรือ ไม่ตอบโจทย์ตลาด ( ตลาดในที่นี้คือตลาดแรงงาน ) และสาขาอาชีพที่เคยมีมาก็แทบจะไม่มีการพัฒนาหลักสูตร มันออกแบบมาตอบสนองนี๊ดของเด็กๆ โดยสร้างวาทกรรมมาเพื่อให้เกิดนี๊ดตรงนั้น
เรื่องที่ควรปลูกฝังพื้นฐานก็ไม่ได้ทำ เช่น พื้นฐานง่ายๆอย่างเรื่อง การเงินเนี่ย เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดในชีวิต บางคนจบ ป. เอกมายังไม่รู้เรื่องพวกนี้เลยค่ะ อย่าบอกว่ามันไม่จำเป็นนะคะ เพราะนี่คือเรื่องที่จำเป็นที่สุดแล้ว อย่าว่าแต่จบ ป.เอกเลย บางคนจะเกษียณอยู่ละยังไม่รู้เรื่องเลย
ภาษีเรื่องที่ทุกคนต้องจ่าย คนส่วนมากยังไม่รู้เรื่องเลยค่ะ ว่าขั้นตอนวิธีการลดหย่อน การจ่ายการหักเป็นยังไง แล้วทุกคนก็มักจะมาวางแผนการเงินตอนแก่ๆ ใกล้เกษียรณ คือเรื่องการเงินอ่ะ มันจะทำให้คุณเอาชีวิตรอดได้เลยนะ แต่การศึกษาเราเอามันไว้หลังสุดเลย จริงๆเอาไว้ในตำราพื้นฐานก็ได้ การเงินขั้นพื้นฐานอ่ะ เด็กๆก็เรียนได้ การเก็บการออม การวางแผนเบื้องต้น
การให้การศึกษาด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ระบอบการศึกษากลับละเลย มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่สังคมเป็นๆกันอยู่
อีกเรื่องที่ต้องปรับควบคู่กัน คือ ทัศนคติ (Attitude)
และความเข้าใจผิดๆของนักศึกษา และการฝึกงาน (Apprentices ,Internship)
นักศึกษาปี 3 (หรือชั้นปีอื่นๆ) ที่กำลังฝึกงาน หลายๆคนจะมีความรู้สึก ผิดหวัง ท้อแท้ กับการฝึกงานในขณะนี้ เพราะความคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ทฤษฎีหรือแนวทางปฏิบัติต่างๆตามที่มุ่งหวัง
เพราะสถานที่ที่ฝึกงานที่หลายคนเจอไม่ได้เป็นแบบที่ฝันไว้ ไม่ได้สวยหรู ไม่ได้มีอะไรที่ว้าวว (แม้จะเป็นบริษัทชั้นนำ ) นักศึกษากว่า 90% จะเจอการฝึกงานที่ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการพัฒนาทักษะที่เรียนมา ซ้ำร้ายบางคนก็จะได้แค่เป็นคนจัดเรียงเอกสาร ส่งอีเมลล์ ซื้อกาแฟ ชงกาแฟ ฯลฯ
ความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังและความเข้าใจผิด รวมถึงการมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องนัก
สิ่งที่เคทอยากจะบอกคือ จริงๆสถานที่ฝึกงานไม่ใช่แหล่งให้ความรู้อะไรกับคุณมากมายนอกเหนือจากห้องเรียนหรือมหาลัยหรอก เพราะบางทีคุณเองก็เก่งกว่า ฉลาดกว่าคนที่ฝึกงานคุณ ( คุณก็คิดแบบนั้นใช่ไหม )
1
มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเวลาสั้นๆเพียงแค่ 12 สัปดาห์ (คงมีเพียงคนแค่3-5% ที่โชคดีได้ฝึกงานแบบนั้น )
แต่สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้จริงๆจากการฝึกงาน คือ
" การเตรียมความพร้อมในการที่จะต้องร่วมงานกับผู้คนที่แตกต่าง " ......
นั่นแหละคือสิ่งที่ถูกต้องของการฝึกงานระหว่างเรียน !!
คุณจงใช้โอกาสสั้นๆนี้สร้างความสัมพันธ์ ( Relation ) สร้าง connection สร้าง contact ให้ได้เยอะที่สุด พัฒนาสกิลการติดต่อการเข้าหาผู้คน เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่างานใดๆที่คุณทำ คุณไม่สามารถหลีกหนีสิ่งเหล่านี้ได้ และผู้คนเหล่านั้นที่คุณสร้างสัมพันธ์ไว้นั่นแหละจะเป็นคนเปิดโอกาสให้คุณ
คุณเคยสังเกตุไหมและเคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมเพื่อนคนนั้นที่อ่อนด้อยกว่าคุณสมัยเรียน ทำไมเขาถึงไปได้ไกลกว่าในการทำงาน ?
จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะเขาเก่งกว่า แต่เขาเรียนรู้ที่จะเข้าหาผู้คน เรียนรู้ที่จะร่วมงานกับผู้คน เขาสร้างสัมพันธ์ เขามีในสิ่งที่คุณไม่มี ถ้าคุณมีบางสิ่งที่มากกว่าเขาอยู่แล้ว แค่พัฒนาสิ่งนี้...คุณเองก็ย่อมไปได้มากกว่า ไกลกว่าเขา แต่ที่เคทพบเจอมาส่วนใหญ่จะติดกับดักของ Ego นี่คือ ทัศนคติที่คุณต้องปรับ
ในสถานที่ฝึกงาน คุณจงใช้เวลาอันน้อยนิดของคุณให้คุ้มค่า ผู้คนจะจดจำคุณได้จากความสัมพันธ์และจะจดจำคุณเป็นพิเศษ เพ่งเล็งคุณเป็นพิเศษหากคุณมีความพยายามในการทำงาน มีสิ่งที่แตกต่างจากคนทั่วๆไป .....คุณจะได้สปอต์ไลท์พิเศษที่ส่องมาหาคุณ
แม้คุณจะมองว่าการที่ต้องไปดื่ม ไปสังสรรค์หลังเลิกงานกับพวกพี่ๆที่ทำงานเป็นเรื่องไร้สาระ รวมถึงการทำงานห่วยๆ งานที่คุณได้รับมอบหมายกระจอกๆ แต่เชื่อเหอะหากคุณยืดอกพร้อมที่จะรับเรื่องเหล่านี้ไว้และสนุกกับมันโอกาสจะเปิดทางให้คุณเอง
เพราะโลกนี้เป็นโลกของความสัมพันธ์ เป็นโลกของสังคมและผู้คน คุณจงแตกต่างอย่างกลมกลืน อย่าแตกต่างด้วยความแปลกแยก
มิ้วๆนะ
ป.ล. ถ้าคุณไม่ต้องการที่จะเรียนรู้ก็ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือคุณได้ แต่หากคุณมุ่งหวังที่จะเรียนรู้ก็ไม่มีใครที่จะห้ามคุณได้เช่นกัน
โฆษณา