26 พ.ย. 2019 เวลา 11:46 • ธุรกิจ
ถอดบทเรียน เถ้าแก่น้อย (ตอนที่ 3)
ช็อกโก้พาย ช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
จากตอนที่แล้ว หลังจากที่เถ้าแก่น้อยประสบปัญหาตัวแทนกระจายสินค้าในจีนรายหนึ่ง มีแผนที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “เถ้าแก่น้อย” ในจีน คือ จะทำสินค้าเลียนแบบแข่งกับบริษัทเถ้าแก่น้อยซะเอง ทำให้เถ้าแก่น้อยต้องยกเลิกสัญญากับตัวแทนกระจายสินค้ารายดังกล่าว และปรับทัพการส่งออกใหม่
โดยทางบริษัทเถ้าแก่น้อย ได้เปิดตัวพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ก็คือ “โอริออน กรุ๊ป” (Orion Group) ผู้นำธุรกิจขนมจากประเทศเกาหลี ซึ่งพอบอกชื่อบริษัทโอริออน หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการขนมอาจจะงงๆ แต่หากบอกว่า สินค้าที่เป็นพระเอกของบริษัทนี้ ก็คือ “ช็อกโก้พาย” (Choco Pie) เพื่อนๆ น่าจะคุ้นกันมากขึ้น
Cr. Orion
โดยโอริออน ติดลำดับท๊อป 15 ของผู้ผลิตขนมระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย เกือบ 6 หมื่นล้านบาท (เทียบ เถ้าแก่น้อยปัจจุบันอยู่ที่ 5 พันล้านบาท)
เราไปดูความเป็นมา และศักยภาพของบริษัทโอริออน กัน
หากพร้อมแล้ว ไปติดตามกันเลย
1) บริษัทโอริออน ก่อตั้งในปี ค.ศ.1956 โดยการซื้อโรงงานผลิตขนมแห่งนี้ ต่อมาในปี ค.ศ.1974 ทางโอริออน ได้ออกผลิตภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ที่ช่วยผลักดันยอดขายของโอริออนมาจนถึงปัจจุบันก็คือ “ช็อกโก้พาย” เป็นขนมพายเคลือบช็อกโกแลต สไตล์อเมริกัน โดยช็อกโกพายมียอดขายในสัดส่วนกว่า 40% ของยอดขายขนมทั้งหมด
2) นอกจากประเทศเกาหลีใต้ ทางโอริออนยังมีโรงงานและสำนักงานกระจายไปอยู่กว่า 10 ประเทศ เช่น จีน เวียดนาม รัสเวีย อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น
Cr. Orion
3) โอริออน มีประสบการณ์ทำตลาดในจีนมาแล้วกว่า 30 ปี โดยมีเครือข่ายการกระขายสินค้าที่แข็งแกร่งในจีน โดยแบ่งเขตพื้นที่การทำตลาดทั่วประเทศจีนออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ เสิ่นหยาง, ปักกิ่ง, ชิงเต่า, เซี่ยงไฮ้, และกวางโจว ครอบคลุกว่า 3,000 เมือง และเอเยนต์กว่า 1,800 ราย
Cr. Orion
4) ทางโอริออน เข้ามาซื้อหุ้นบิ๊กล็อต จากบริษัทเถ้าแก่น้อย ในสัดส่วน 3.5% แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกัน (ระดับหนึ่ง)
5) โอริออน เพิ่งประกาศลงทุน บริษัทร่วมทุนในอินเดีย เพื่อผลิตขนม ซึ่งก็รวมไปถึงขนมยอดนิยมอย่างช็อกโก้พายด้วย โดยมูลค่าตลาดขนมในอินเดีย คาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 84,000 ล้านบาท ใน ปี ค.ศ. 2022
อย่างไรก็ตามบริษัทเกาหลีใต้แห่งนี้ ก็มีความเสี่ยงสำคัญคือ ถูกชาวจีนประท้วงไม่ซื้อสินค้าเกาหลีใต้ ที่มาที่ไปจากเหตุที่เกาหลีใต้ทดลอง การทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2560 ทำให้ยอดขายตกไปกว่า 33% ซึ่งตอนนี้ยอดขายในจีนก็กระเตื้องขึ้นแล้ว การได้สินค้าเถ้าแก่น้อยไปขายเพิ่มเติม ก็เป็นโอกาสอันดี
1
ซึ่งการจับมือกันครั้งนี้ของผู้ผลิตขนมของไทยและเกาหลี ก็ถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่น่าสนใจ บางทีเราอาจเห็นอะไรดีๆ มากกว่าการขยายตลาดในจีนก็เป็นได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากเรื่องการเมืองด้วย โดยดูเหมือนปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศกับการเมืองและความมั่นคง ดูจะแยกออกจากกันยากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ทางบริษัทเถ้าแก่น้อย ให้ข่าวในงานบริษัทพบนักลงทุน (Opportunity Day) ว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน โรงงานในไทยเดินเต็มกำลังการผลิต จนต้องจ่าย OT ซึ่งก็เป็นสัญญานที่ดี ส่วนระยะยาวคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ ช็อกโก้พาย ก็คือ
1) ขนมช็อคโก้พายในเกาหลีใต้ เป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิตธรรมดา” ที่แสนเรียบง่าย ด้วยราคาย่อมเยาชิ้นละ 10-20 บาท โดยชาวเกาหลีใต้ นิยมเอาช็อกโกพายไปเรียงกันเป็นพีระมิด แล้วปักเทียน เป็นเค้กวันเกิด
Cr. Pinterest
2) "ช็อกโก้พาย" เป็นขนมยอดฮิตของ "ทหารเกณฑ์" โดยมีโพลสำรวจทหารเกณฑ์พบว่าสิ่งที่คุณโหยหาสุดๆ ช่วงเข้ากรม ก็คือ "ช็อกโก้พาย" ทำคะแนนมาเป็นที่ 1 ตีคู่มากับ "เกิร์ลกรุ๊ป" เลยทีเดียว
Cr. Koreaboo
3) ในขณะที่เกาหลีใต้คือ ขนมช็อคโก้พาย สัญลักษณ์แห่งความเรียบง่าย แต่ในสายตาคนเกาหลีเหนือมองต่างออกไป โดยช็อคโก้พาย เป็นขนมที่นายจ้างขาวเกาหลีใต้มอบให้ลูกจ้างเกาหลีเหนือเอากลับบ้านไปทาน ทดแทนการให้เงินรางวัลโบนัส ชาวเกาหลีเหนือก็หัวใส เอาไปขายในตลาดมืด ปั่นราคากันขึ้นไปสูงมากๆ ซึ่งสำหรับคนเกาหลีเหนือขนมช็อกโก้พาย ถือเป็นสัญลักษณ์ของ “ความหวังการรวมชาติ” เป็นรสชาติแห่งโลกเสรี
ซึ่งท้ายที่สุด รัฐบาลเกาหลีเหนือ ไม่อยากให้วัฒนธรรมของเกาหลีใต้เข้ามามากเกินไป จึงสั่งแบนขนมช็อกโก้พาย มันซะเลย กลุ่มผู้ประท้องเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่ต้องการการรวมชาติ ก็เลยเอาขนมช๊อกโก้พายใส่บอลลูน และลอยมันข้ามประเทศไปเลย!!!
1
บอลลูนช๊อกโกพาย Cr. Ahn Young-joon/AP
บอลลูนช๊อกโกพาย Cr. Ahn Young-joon/AP
หากบทความเป็นประโยชน์ช่วย กดไลค์ & share ด้วยนะครับ
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่
โฆษณา