26 พ.ย. 2019 เวลา 22:37 • การ์ตูน
ซีรีส์ : ชั้นหนังสือ [เล่มที่ 04]
Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช
มังงะน้ำดีที่หมูแว่นอยากแนะนำ
...
Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช ที่ปัจจุบันออกมาแล้วด้วยกัน 3 เล่ม
เมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้ยินข่าวคดีฆาตกรรมฆ่าหั่นศพจากรายการข่าว, หนังสือพิมพ์ และสื่อทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างน้อยๆ ไม่ต่ำ 5 ครั้งกันเป็นแน่
...
ซึ่งบทความนี้ผมไม่ได้มาเขียนถึงรายละเอียดของคดีหรือการแสดงความคิดเห็นอะไรนะครับ
...
แต่ผมจะมาแนะนำมังงะเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นมังงะที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งที่คนทั่วไปเริ่มหันให้ความสนใจเป็นพิเศษหลังจากข่าวดังกล่าวเริ่มเป็นกระแสขึ้นมา (จริงๆ แล้วผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับประเด็นนี้มานานแล้ว...น่าจะเป็นคดี 'พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่' หายตัวไปล่ะมั้งครับ)
...
นั้นก็คือ 'นิติวิทยาศาสตร์' ครับ
...
เครดิตภาพจากเพจ Drama-addict
ความหมายของนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) สรุปแบบรวบรัดก็คือ ‘การที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน ทั้งจากการตรวจร่างกายและตรวจสอบวัตถุพยานต่างๆ เพื่อช่วยในการค้นหาความจริงหรือเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง’
...
และในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำมังงะเรื่องหนึ่งที่จะถ่ายทอดศาสตร์นิติศาสตร์ได้แบบเข้าใจได้ไม่ยาก (มั้ง???) และการปฏิบัติงานของทีมเจ้าหน้าที่นิติเวช ว่าเขามีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรบ้าง ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐานจากในที่เกิดเหตุหรือภายในห้องห้องแลป
...
การ์ตูนมังงะที่ผมกำลังพูดถึงนี้มีชื่อว่า ‘Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช’
...
ชื่อหนังสือการ์ตูน : Trace สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช
ผู้แต่งและวาดภาพ : เค โคกะ (Kei Koga)
ผู้แปล : คุณศันสนีย์ ศลกิจวาณิชย์กุล
สำนักพิมพ์ : สยามอินเตอร์คอมิกส์
จำนวนเล่ม : 3 เล่ม (ยังไม่จบ)
เรต : เหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป
...
เนื้อเรื่องย่อ : มาโนะ เรจิ เจ้าหน้าที่วิจัยฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ เขาคือคนที่เจ้าหน้าที่ประจำแผนกนิติเวชทุกคนต่างยกให้เป็นเอสของฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ และเขาชอบพกพาฟิกม่าคาเมนไรเดอร์ตนหนึ่งติดตัวไว้ตลอดประหนึ่งเครื่องราง
...
แม้ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์จะเป็นหน่วยงานวิจัยของตำรวจ แต่ก็ไม่ได้มีขึ้นเพื่อองค์กรตำรวจหรือเพื่อเหยื่อผู้เสียหาย ทว่าเป็นองค์กรพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อไขความจริงให้เป็นที่กระจ่าง มาโนะผู้สนแต่วัตถุพยานสำหรับตรวจสอบ ประโยคประจำตัวของเขาคือ "ผู้ที่จะค้นหาเศษเสี้ยวความจริงเจอ มีแต่เจ้าหน้าที่นิติเวชเท่านั้น"
...
Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช เป็นมังงะสืบสวนอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจมากๆ หลังจากที่มังงะแนวสืบสวนเรื่องก่อนหน้าอย่าง เอโดงาวะ โคนัน, คินดะอิจิ, โรงเรียนนักสืบ Q, ผ่าเกลียวปริศนา, Q.E.D. หรือ C.M.B. ได้ปูทางไว้ให้ก่อนหน้านี้แล้ว
...
มังงะแนวสืบสวนชื่อดัง ซึ่งบางเรื่องในที่นี้ยังไม่มีทีท่าจะยอมจบง่ายๆ
แต่ทว่าก็ยังไม่มีมังงะเรื่องใด ที่จะลงลึกเข้าไปในเรื่องของนิติวิทยาศาสตร์แบบจริงๆ จังๆ เลยสักเรื่อง (มังงะแนวสืบสวนที่โด่งดังส่วนใหญ่ ตัวเอกมักเป็นเด็กนักเรียนที่ชื่นชอบการสืบสวน หรือมีความฉลาดแบบสุดๆ)
...
Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช จึงถือเป็นมังงะสืบสวนเรื่องหนึ่งที่ผ่าเหล่าออกมา ด้วยตัวเอกที่เป็นผู้ใหญ่และมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่นิติเวช (ดังนั้นข้อหา ‘ตัวซวย’ จึงไม่สามารถประทับบนหัวของมาโนะ เหมือนกับตัวละครที่มีสโลแกน “แม้ตัวจะเล็กแต่สมองยังคงเดิม” หรือตัวละครเจ้าของวลี “ขอเอาชื่อปู่เป็นเดิมพัน” ได้แน่นอนครับ ฮา!!!)
...
ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างของมังงะเรื่องนี้ (ถ้าพูดให้ถูกต้อง ต้องบอกว่าเป็นจุดขายเลยก็ไม่ผิดนัก) นั้นก็คือตัวผู้วาดอย่าง ‘เค โคกะ (Kei Koga)’ นั้น เขาเป็นอดีตนักนิติเวชประจำฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ตัวจริงเสียงจริง ที่นึกครึ้มหันมาจับปากกาดินสอเขียนการ์ตูน ดังนั้นจึงมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์และกระบวนการทำงานต่างๆ นั้น ล้วนถูกถ่ายทอดมาจากความรู้และประสบการณ์ของมืออาชีพด้านนิติวิทยาศาสตร์แน่นอน
...
เค โคกะ (Kei Koga) อดีตนักนิติเวชประจำฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันหันมาเป็นนักวาดการ์ตูน
Trace : สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช เป็นมังงะประเภทจบในตอน (คล้ายๆ การ์ตูนสืบสวนเรื่องอื่นๆ ที่จบเป็นคดีๆ ไป) แต่ก็มีเส้นเรื่องหลัก (Main Plot) แฝงอยู่เปรียบเสมือนเส้นด้ายที่จะผูกปูเนื้อเรื่องให้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
...
โดยเส้นเรื่องหลักของมังงะเรื่องนี้ก็คือ ‘ปมภูมิหลังของพระเอก’ ครับ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโคนันที่มีปมคือการถูกกลุ่มชายชุดดำทำให้กลายเป็นเด็ก และโคนันต้องทำการสืบและสาวไส้องค์กรนี้ให้ได้ แต่ทว่าปมของมาโนะนั้นกลับมีความดาร์กและชวนสะเทือนอารมณ์ไปมากกว่านั้นมาก
...
รูปแบบคดีของมังงะเรื่องนี้ มีหลากหลายอารมณ์มากๆ ครับ ตั้งแต่สะเทือนขวัญ, หักมุม, ซาบซึ้ง ยันคดีที่เผยความวิปลาสของมนุษย์คนหนึ่งออกมาได้อย่างหมดเปลือก
...
แต่จุดเด่นของมังงะเรื่องนี้คือ ‘ศาสตร์ของนิติวิทยาศาสตร์’ ที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้เข้าใจง่าย (ในบางหัวข้อนะ) ทั้งยังเผยให้เราเห็นถึงกระบวนการทำงานของนักนิติเวชอีกด้วย
...
หนึ่งในคดีที่มีความคล้ายคลึงกับคดีฆ่าหั่นศพที่กำลังดังอยู่ในช่วงเวลานี้ของไทย โดยตอนนี้ในมังงะก็เป็นคดีฆ่าหั่นศพเช่นกัน ซึ่งทีมสืบสวนเชื่อว่าฆาตกรได้ทำการชําแหละศพในห้องน้ำ จึงขอให้ทีมนิติเวชเข้ามาตรวจสอบหาคราบเลือดภายในห้องน้ำ โดยหาคราบเลือดจากการตรวจสอบปฏิกิริยาลูมินอล
การแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการหา DNA ในเส้นผม
แต่ก็ใช่ว่าจะหา DNA จากเส้นผมที่ไม่มีผิวหนังติดมาด้วยไม่ได้นะ นักนิติเวชโชว์เหนือโดยการหา DNA จากไมโตคอนเดรียแทน (ไมโตคอนเดรีย ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ โดย DNA ภายในไมโทคอนเดรียมีลักษณะเป็นวงกลม โดยมียีนที่สร้างโปรตีนได้เพียงไม่กี่ 10 ยีนเท่านั้น)
ท้ายตอนทางผู้เขียนมักจะลงรายละเอียดปลีกย่อยเสริม เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้น
และอีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบคือ การกระทบกระทั่งกันระหว่างนักนิติเวชกับตำรวจสืบสวน เนื่องมาจากว่าฝั่งตำรวจสืบสวนมักเชื่อในพฤติกรรมของคนร้าย คำให้ปากคำของพยานจึงมักอาศัยเหตุผลดังกล่าวในการประเมินว่าใครน่าจะเป็นคนร้าย ส่วนนักนิติเวชก็จะเชื่อในหลักฐานที่มีเท่านั้น
...
ซึ่งการกระทบกระทั่งกันหรือการถกเถียงกันถือเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน (ตราบเท่าที่ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาเอี่ยว) ซึ่งหลายๆ ครั้งมันก็ไม่มีใครผิดใครถูกเสียทีเดียว เพราะบุคลากรแต่ละด้านแต่ละแผนกย่อมมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เมื่อความเชี่ยวชาญต่างกัน มุมมองก็ย่อมต่างกันด้วย ซึ่งหลายๆ ครั้งการกระทบกระทั่งกันหรือการถกเถียงกันมักจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน
...
และตรงนี้เองจึงทำให้ผมรู้สึกว่ามังงะเรื่องนี้มีความเรียลขึ้นไปอีกขั้น
...
ตอนนี้เนื้อเรื่องเริ่มเผยตัวลาสบอสออกมาในเล่ม 3 แล้ว (หากไม่หักมุมภายหลังนะ) คิดว่าต่อจากนี้เนื้อเรื่องคงเข้มข้นขึ้นไปอีกเป็นแน่แท้ครับ
...
แถมท้ายบทความ : สื่อบันเทิงอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์
...
1. ซีรี่ย์ CSI : คอซีรี่ย์ผมว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักซีรี่ย์ชุด CSI (Crime Scene Investigation) สุดยอดซีรี่ย์สืบสวนโดยอิงนิติวิทยาศาสตร์ชุดนี้ ได้แบ่งออกมาด้วยกัน 3 เมืองได้แก่ CSI : Vegus, CSI : Miami (จบแล้ว) และ CSI : New York (จบแล้ว) โดยส่วนตัวผมชอบเมือง New York ที่สุดเลยครับ
...
ซีรี่ย์ CSI
2. นิยาย : ไม่ว่าจะเป็นนิยายซีรี่ย์ชุด ดร.เดวิด ฮันเตอร์ ของสำนักพิมพ์น้ำพุ ที่ออกมาแล้ว 4 เล่มด้วยกัน
...
นิยายซีรี่ย์ชุด ดร.เดวิด ฮันเตอร์
นิยายซีรี่ย์ชุดลินคอล์น ไรห์ม ที่มีออกมาแล้วทั้งหมด 11 เล่ม โดยสํานักพิมพ์เพิร์ล 8 เล่ม และสำนักพิมพ์น้ำพุอีก 3 เล่มด้วยกัน
...
นิยายซีรี่ย์ชุดลินคอล์น ไรห์ม
โดยซีรี่ย์ชุดลินคอล์น ไรห์ม ตอน ‘The Bone Collector : นักฆ่าล่ากระดูก’ นั้น ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ.1999 ในชื่อ ‘The Bone Collector : พลิกซาก ผ่าคดีนรก’ นำแสดงโดย 2 นักแสดงแถวหน้าอย่าง เดนเซล วอชิงตัน และแองเจลิน่า โจลี่
...
ภาพยนตร์เรื่อง The Bone Collector : พลิกซาก ผ่าคดีนรก (1999)
หรือแม้กระทั่งนิยายชุด CSI ก็มีเช่นกันครับ (ผมซื้อมาเก็บไว้ได้แค่ 2 เล่ม)
...
นิยายชุด CSI
3. หนังสือเชิงวิชาการ (เอ่อ...นี่ใช่สื่อบันเทิงเหรอหมูแว่น? 🤣)
...
จริงๆ แล้วหนังสือชุดนี้จะมีด้วยกัน 4 เล่มครับ แต่ตอนนั้นผมยังเรียนมหาลัยฯ อยู่ เลยไม่ค่อยมีเงินซื้อเท่าไร เลยทำให้ซื้อได้ทีละเล่มต่อเดือน (จนถึงตอนนี้ยังหาซื้อเล่ม 3 กับ 4 ไม่ได้เลยครับ)
ซีรี่ย์ชุด ‘ศพ’ ของทางสำนักพิมพ์ Core Function
หนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักนิติเวชชาวไทย ของทางสำนักพิมพ์ Animate Group
และอาจยังมีสื่อบันเทิงอื่นๆ อีกมากมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์นอกเหนือจากที่ผมได้ยกมาข้างต้น ซึ่งผมอาจยังไม่รู้อยู่อีกก็เป็นได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา